วันที่นำเข้าข้อมูล 16 ก.พ. 2564
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 23 พ.ย. 2565
เช้านี้ มีผู้ลงทะเบียนกลับไทยวันที่ ๘ ก.พ. ๖๔ จำนวน ๒๖ คน
วันที่ ๗ ก.พ. มียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ ๓,๗๓๑ คน โดยอยู่ในรัฐกลันตัน ๓๒ คน รัฐตรังกานู ๒๙ คน มีผู้ติดเชื้อสะสม ๒๔๒,๔๕๒ คน และผู้เสียชีวิตสะสม ๘๗๒ คน (เพิ่มขึ้น ๑๕ คน) (สถิติข้อมูลการระบาดโควิด รูป ๑)
หลายคนอาจไม่รู้ว่า ไทยเป็นหนึ่งในฐานการผลิตรถยนต์ที่สำคัญของโลก โดยในปี ๖๒ ไทยเป็นผู้ผลิตรถยนต์ที่ใหญ่อันดับ ๑๑ ของโลกและอันดับที่ ๕ ของเอเชีย รองจากจีน ญป. อินเดีย และ กลต. ฉายา “Detroit of Asia”
เรื่องเล่าด่านรันตูวันนี้ ขอเสนอเรื่อง “การผลักดัน อก. ยานยนต์ไฟฟ้า” ตามที่ นสพ. ผู้จัดการออนไลน์ ฉบับวันที่ ๒๘ ม.ค. ๖๔ ได้รายงานเรื่อง “ยานยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกบูม ไทยมีโอกาสตักตวงผลประโยชน์ ดึงดูดลงทุน-เพิ่มโอกาสส่งออก”
ปัจจุบันกระแสความต้องการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าในตลาดโลกมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นตามการตื่นตัวด้านสุขภาพและการปกป้องสิ่งแวดล้อม ปท. ต่างๆ มีนโยบายสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า บาง ปท. มีเป้าหมายยกเลิกการใช้ยานยนต์ที่ใช้น้ำมัน ขณะที่ อก. ยานยนต์ในหลาย ปท. ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ออกมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ความต้องการยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น จึงเป็น อก.ใหม่ที่กำลังเติบโตในอนาคต
ทั้งนี้ ในส่วนของ รบ. ไทย ได้กำหนดให้ อก. ยานยนต์สมัยใหม่เป็นหนึ่งใน อก. เป้าหมาย (S-Curve) ที่จะช่วยขับเคลื่อน ศก. และสร้างรายได้เข้า ปท. ในอนาคต โดยได้มีนโยบายในการดึงดูดและส่งเสริมการลงทุนเพื่อเอื้อต่อการลงทุนที่หลากหลาย เพราะไม่ใช่แค่การลงทุนในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า แต่ยังมีธุรกิจเกี่ยวเนื่องอื่นๆ อีก เช่น สถานีชาร์จ ธุรกิจซ่อมบำรุง และธุรกิจซอฟต์แวร์และแอพพลิเคชั่นอำนวยความสะดวกต่างๆ (ผอ. สนค. รูป ๒)
สนง. นโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) พณ. ได้วิเคราะห์ความต้องการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าในตลาด โลก พบว่า มีแนวโน้มเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ตามสถิติรายงาน สนง. พลังงานสากลในปี ๖๒ สรุปว่า ทั้งโลกมียอดจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์ขนาดเล็ก (Light duty vehicle) ใช้ทั้งน้ำมันและแบตเตอรี่แบบเสียบปลั๊กอัดประจุไฟฟ้า (Plug-in Hybrid Electric Vehicle : PHEV) และแบบใช้แบตเตอรี่อย่างเดียว (Battery Electric Vehicle : BEV) รวม ๒.๑ ล้านคัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ๖% และมียอดจดทะเบียนทั้งโลกรวม ๗.๑๗ ล้านคัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ๔๐% (ไลน์ขึ้นรูปตัวถัง รูป ๓)
ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าในปี ๒๕๗๓ ยอดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า PHEV และ BEV ทั่วโลก (รวมรถยนต์ขนส่งบุคคล รถขนส่งเชิงพาณิชย์ รถประจำทาง และรถบรรทุก) จะสูงถึง ๒๕ ล้านคัน และมียอดสะสมประมาณ ๑๔๐ ล้านคัน โดยคาดว่ารถยนต์นั่งขนาดเล็กจะมียอดจำหน่ายและจำนวนสะสมสูงสุด ส่วนตลาดที่ขยายตัวชัดเจนคือ จีน ยุโรป สหรัฐฯ และอินเดีย
นอกจากนั้น ยังพบว่าธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับรถยนต์ไฟฟ้ามีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้น เนื่องจากเทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ที่ทำให้ยานยนต์สามารถตอบสนองความต้องการผู้ใช้ได้หลากหลายใกล้เคียงกับโทรศัพท์สมาร์ทโฟน อาจทำให้ห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) อก. ยานยนต์เปลี่ยนไปเป็นแบบวงล้อ (Hub and Spoke) ที่ผู้ประกอบการจาก อก. อื่นๆ จะเข้ามามีบทบาทในห่วงโซ่คุณค่ามากขึ้น เช่น ผู้ผลิตอุปกรณ์สำหรับยานยนต์สมัยใหม่ (ระบบเซ็นเซอร์รอบคันสำหรับการขับขี่อัตโนมัติ อุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์สื่อสารไร้สายอื่นๆ) ผู้ให้บริการโทรคมนาคม แพลตฟอร์มออนไลน์ ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ เป็นต้น
ไทยผู้เล่นรายใหม่ตลาดยานยนต์ไฟฟ้า (นโยบายส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าของ ปท. ต่างๆ รูป ๔)
สำหรับไทย ในปี ๖๒ ส่งออกยานยนต์ไฟฟ้า (HEV, PHEV และ BEV) ๑๒๘.๕ ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง ๖๙% แต่กลับมาขยายตัวถึง ๑๕๕% ในช่วง ๙ เดือนของปี ๖๓ (ม.ค.-ก.ย.) ๓๐๙.๓ ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเกือบทั้งหมดเป็นการส่งออกรถ HEV ไปตลาดส่งออกสำคัญ ๓ อันดับแรก คือ ญป. อซ. และ สป.
ส่วนชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า ไทยส่งออก ๖,๘๘๗ ล้านเหรียญสหรัฐในปี ๖๒ และ ๔,๑๔๕ ล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วง ๙ เดือนของปี ๖๓ (ลดลง ๖% และ ๒๒% ตามลำดับ) โดยตลาดส่งออกสำคัญ คือ สหรัฐฯ ญป. และจีน
ทั้งนี้ สนค. ได้ทำการรวบรวมยานยนต์ไฟฟ้าที่จะมีการเติบโตเพิ่มขึ้นในอนาคต ได้แก่ ยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก อย่างสกูตเตอร์ไฟฟ้า จักรยานไฟฟ้า และจักรยานยนต์เบา โดยเฉพาะในจีน สหภาพยุโรป และสหรัฐฯ, ยานยนต์ไฟฟ้าสองล้อและสามล้อ จีนเป็นตลาดใหญ่ที่สุด รองลงมาคือ อินเดีย, ยานยนต์ไฟฟ้าความเร็วต่ำได้รับความนิยมอย่างมากในจีน รถบรรทุกไฟฟ้าขนาดเล็ก จีนมีส่วนแบ่งมากที่สุด รองลงมาคือ ยุโรป โดยฝรั่งเศสและเยอรมนีใช้งานมากที่สุด ส่วนรถโดยสารประจำทางไฟฟ้ายอดจดทะเบียนสูงสุดอยู่ที่จีน ขณะที่รถบรรทุกไฟฟ้าขนาดกลางและขนาดใหญ่เกือบทั้งหมดจำหน่ายในตลาดจีน เรือไฟฟ้าส่วนใหญ่อยู่ในยุโรป บางส่วนอยู่ในสหรัฐฯ และจีน เครื่องบินไฟฟ้าเริ่มมีการนำมาใช้แล้ว เช่น ที่แคนาดา
นางพิมพ์ชนก ฟิตต์ฟีลด์ ผอ. สนง. นโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า ท่ามกลางสถานการณ์การแข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ทั้งจากกลุ่ม ปท. ผู้ผลิตหลัก และกลุ่ม ปท. อาเซียน เช่น มซ. สป. อซ. ฟป. วน. ที่ต้องการผันตัวเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเช่นเดียวกับไทย ไทยจึงต้องเร่งพัฒนาสภาพแวดล้อมธุรกิจและระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อรักษาความสามารถในการดึงดูดการลงทุน และทำให้เป็นได้ทั้งฐานการผลิตและตลาดที่มีศักยภาพ โดยแสวงหาพันธมิตรผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้ารายสำคัญของโลก เช่น ญป. เยอรมนี สหรัฐฯ กลต. และจีน เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน และเพิ่มโอกาสในการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานยานยนต์ไฟฟ้าโลก ก็จะส่งผลให้ไทยได้รับความสนใจจากผู้ผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนชั้นนำ และเข้ามาลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่มากขึ้น (ไลน์ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า รูป ๕-๖)
ตามไปดูนโยบายของคู่แข่งในอาเซียน
ผอ. สนค.กล่าวว่า ในอาเซียนไทยมีคู่แข่งใน อก. ยานยนต์ไฟฟ้าหลาย ปท. มาก อย่าง มซ. มีนโยบายสร้างระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจรเพื่อเป็นฐานการผลิตของภูมิภาค มีแผนตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้ามากกว่า ๓,๐๐๐ สถานีทั่ว ปท.และตั้งเป้าเป็นฐานการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียม-ไอออนของอาเซียน ฟป. ตั้งเป้าเป็นศูนย์การผลิตยานยนต์อันดับ ๓ ของอาเซียน อซ. กำหนดเป้าหมายผลิตรถยนต์ไฟฟ้า BEV ๒,๐๐๐ คัน รถไฟฟ้าแบบผสม ๗๑๑,๐๐๐ คัน และจักรยานไฟฟ้าแบบ ๒ ล้อ ๒ ล้านคันในปี ๖๘ วน. แก้ไขภาษีนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า และ สป. ตั้งเป้าลดการใช้ยานยนต์สันดาปภายใน ปท. ทั้งหมดภายในปี ๒๕๘๓ และมีแผนติดตั้งสถานีประจุไฟฟ้า ๒๘,๐๐๐ สถานีภายในปี ๒๕๗๓
พณ. สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการค้าและการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าของไทยผ่านการดำเนินงานของหน่วยงานในสังกัด โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จะเข้าไปช่วยในการเชื่อมโยงภาคเอกชนจาก ปท. ผู้ผลิตหลัก (ญป. เยอรมนี สหรัฐฯ กลต. และจีน) กับผู้ประกอบการไทย เพื่อส่งเสริมการจับคู่ธุรกิจเพื่อผลิตสินค้า ถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่จำเป็นต่อการพัฒนาขีดความสามารถของไทยใน อก.ยานยนต์ไฟฟ้า
นอกจากนี้ สามารถที่จะส่งเสริมการส่งออกยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน อุปกรณ์ ซอฟต์แวร์และแอพพลิเคชั่นอัจฉริยะ และบริการที่เกี่ยวเนื่อง ไปยังคู่ค้าสำคัญและตลาดอื่นๆ ที่มีแนวโน้มต้องการยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น และประเทศที่มีห่วงโซ่การผลิตเชื่อมโยงกับตลาดศักยภาพต่างๆ เช่น เอเชียตะวันออก (ญป. จีน กลต.) เอเชียใต้ (อินเดีย) ออสเตรเลีย อาเซียน (มซ. สป. อซ. ฟป. วน.) และสหรัฐฯ ควบคู่กับการส่งเสริมการส่งออกยานยนต์ไฟฟ้าประเภทอื่นๆ ที่ไทยสามารถผลิตได้ เช่น จักรยานยนต์ (จีน อินเดีย) รถโดยสารประจำทาง (จีน อินเดีย ยุโรป)
ตลอดจนส่งเสริมการส่งออกภาคบริการที่เกี่ยวข้อง เช่น ธุรกิจด้านแบตตารี่ การซ่อมบำรุงยานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น
ขณะที่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จะทำหน้าที่ผลักดันการเจรจาความตกลงการค้าเสรีทั้งในระดับทวิภาคี ภูมิภาค และพหุภาคี กับ ปท. ผู้ผลิตหรือตลาดสำคัญ เพื่อเปิดโอกาสให้ไทยสามารถส่งออกหรือเข้าไปลงทุนยัง ปท. ศักยภาพได้มากขึ้น เช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป เพื่อเข้าถึงตลาด ตลอดจนส่งเสริมการใช้สิทธิพิเศษทางภาษีภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีที่มีอยู่ในปัจจุบัน
วันนี้เป็นการชี้ให้เห็นโอกาสการพัฒนา อก. ยานยนต์ไฟฟ้า จากความได้เปรียบจากการเป็น “Detroit of Asia” ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้ารายสำคัญของ ญป. หนึ่งในผู้ผลิตและส่งออกยานยนต์ไฟฟ้ารายสำคัญของโลก จึงเป็นโอกาสที่ไทยจะเข้าไปมีส่วนร่วมในห่วงโซ่อุปทานยานยนต์ไฟฟ้าทั้งในตลาดศักยภาพและผู้ส่งออกหลักมากขึ้น
รูปภาพประกอบ