3,179 view

ประวัติความเป็นมาและบทบาทของสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู

 

1.  การสถาปนาสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู
             ในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ คาบสมุทรมลายูซึ่งประกอบด้วยรัฐ 10 รัฐ ตกอยู่ภายใต้อำนาจของไทยถึง 6 รัฐ คือ รัฐปาหัง เปรัค เคดาห์ (ไทรบุรี)  กลันตัน ตรังกานู และเปอร์ลิส นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2369 ไทยได้ทยอยเสียอำนาจปกครองให้แก่อังกฤษเรื่อยมา ครั้งสุดท้ายในปี 2452 ด้วยผลของสนธิสัญญาระหว่างสยามกับบริเทนใหญ่ ลงนามเมื่อวันที่ 10 มีนาคม ค.ศ. 1909  รัฐบาล สยามได้โอนสิทธิบรรดามีเหนือรัฐกลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี และเปอร์ลิสให้รัฐบาลอังกฤษปกครอง ภายใต้สนธิสัญญาฉบับนี้ บุคคลในบังคับสยามในรัฐดังกล่าว หากมีความประสงค์จะมีสัญชาติไทยต่อไปต้องย้ายภูมิลำเนาไปอยู่ในดินแดนสยาม ภายใน 6 เดือน เป็นเหตุให้คนไทยที่พูดภาษาไทย ยาวี และมีขนบธรรมเนียมประเพณีแบบไทย  แต่ไม่สามารถละทิ้งถิ่นที่อยู่ดั้งเดิมต้องตกค้างอยู่ในรัฐดังกล่าว กลายเป็นคนในบังคับของอังกฤษเป็นจำนวนมาก หลังจากนั้น ในวันที่ 31 สิงหาคม 2500  อังกฤษก็ได้ให้เอกราชสมบูรณ์แก่มาเลเซีย
            สถานกงสุล ณ เมืองโกตาบารู ได้รับการสถาปนาขึ้นเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม  2509  โดยมีเขตอาณาเฉพาะรัฐกลันตัน  ต่อมาในปี 2512  ได้ขยายเขตอาณาไปถึงรัฐตรังกานู และได้ยกฐานะเป็น “สถานกงสุลใหญ่  ณ  เมืองโกตาบารู” เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2520 บทบาทของสถานกงสุลฯ ในระยะแรกๆ มุ่งเน้นในการแก้ไขปัญหาชายแดน  ปัญหาโจรจีนคอมมิวนิสต์  ปัญหา ลักลอบการนำเข้าสินค้าเถื่อน และการอำนวยความสะดวกด้านการติดต่อระหว่างส่วนราชการและประชาชนของทั้งสอง ประเทศ รวมทั้งการดูแลคนเชื้อชาติไทยในรัฐกลันตันให้ได้รับความเป็นธรรมตามสมควร

 

2. บทบาทและอำนาจหน้าที่
             ปัจจุบันสถานกงสุลใหญ่ฯ มีอำนาจหน้าที่ตามอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางกงสุล พ.ศ. 2506 และบทบาทหน้าที่อื่นๆ  ตามที่ได้รับมอบหมาย  สรุปได้ดังนี้
            - มีส่วนร่วมในการเยียวยาและแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติที่สำคัญและเร่งด่วนของรัฐบาล
            - คุ้มครองดูแลผลประโยชน์ของประเทศไทย และคนไทยที่พำนักหรือทำงานใน รัฐกลันตันและรัฐตรังกานู ภายใต้กรอบของกฎหมาย อาทิ การช่วยเหลือแรงงาน ลูกเรือประมง ผู้ต้องโทษ รวมทั้งช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากชาวไทยให้กลับภูมิลำเนาเดิม
            - ส่งเสริมและพัฒนาความสัมพันธ์ทางการค้า เศรษฐกิจ วัฒนธรรมและวิชาการระหว่างประเทศไทยกับมาเลเซีย ภายใต้กรอบ คณะกรรมการว่าด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมสำหรับพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย (JDS หรือ Thailand-Malaysia Committee on Joint Development Strategy for border areas) อาทิ ส่งเสริมการศึกษาหาความรู้เพื่อพัฒนาความเชี่ยวชาญด้านอาชีพของชาวไทยในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผลักดันการเปิดเที่ยวบินตรงจากโกตาบารูไปประเทศไทย
            - ติดตาม ความเคลื่อนไหวทางด้านการค้า เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และวิชาการของมาเลเซีย โดยเฉพาะในรัฐกลันตันและตรังกานู เพื่อรายงานให้หน่วยราชการและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องของไทยทราบ
            - รับคำร้องขอมีหนังสือเดินทางจากคนไทยที่อยู่ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และดำเนินการต่ออายุหนังสือเดินทางให้แก่คนไทยที่มีถิ่นที่อยู่ในรัฐกลันตันและตรังกานู 
            - รับคำร้องขอรับการตรวจลงตรา (Visa) ให้แก่ชาวต่างประเทศที่ประสงค์จะเดินทางเข้าประเทศไทย
            - รับคำร้องขอนิติการณ์ เช่น ขอรับรองเอกสารทางราชการของไทยเพื่อนำไปใช้ในมาเลเซีย และคำรับคำร้องงานทะเบียนออนไลน์ เช่น คำร้องขอจดทะเบียนคนเกิด ทะเบียนคนตายในต่างประเทศ 
            - ให้คำปรึกษาและอำนวยความสะดวกแก่หน่วยราชการและภาคเอกชนของไทยและมาเลเซีย  ติดต่อประสานงาน  จัดกิจกรรมร่วมและแก้ปัญหาในระดับชาติและท้องถิ่นกับฝ่ายมาเลเซีย อาทิ ร่วมประชุมคณะกรรมาธิการร่วมไทย-มาเลเซีย (Joint Committee: JC) คณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย-มาเลเซีย General Border Committee: GBC) กรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค (Regional Border Committee: RBC) และกรรมการที่ปรึกษาสภาธุรกิจชายแดนภาคใต้ภายใต้โครงการสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ (Indonesia Malaysia Thailand Growth Triangle: IMT-GT) คณะกรรมการที่ปรึกษาศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)  นอกจากนี้ ยังมีหน้าที่เป็นคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตสำหรับการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร

 

รายนามกงสุลและกงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู

1

นายวิเชษฐ์ สุทธยาคม     

พ.ศ. 2509 – 2511 (กงสุล)

2

นายสุเมศ ศิริมงคล     

พ.ศ. 2511 – 2514 (กงสุลใหญ่)

3

นายสมาน ศักดิ์สงวน

พ.ศ. 2514 – 2519 (กงสุลใหญ่)

4

นายประพจน์ นรินทรางกูร ณ อยุธยา  

พ.ศ. 2521 – 2522  (กงสุลใหญ่)

5

นายมงคล มีจุล 

พ.ศ. 2522 – 2524  (กงสุลใหญ่)

6

นายพินัย วงศาโรจน์

พ.ศ. 2524 – 2527  (กงสุลใหญ่)

7

นายสัญญา คุปตารมย์

พ.ศ. 2528 – 2531 (กงสุลใหญ่)

8

นายแถม ทองขุนนา

พ.ศ. 2532 – 2533  (กงสุลใหญ่)

9

นายการุณย์ ฤชุโยธิน 

พ.ศ. 2533 – 2534  (กงสุลใหญ่)

10

นายดุสิต จันตะเสน

พ.ศ. 2535 – 2540  (กงสุลใหญ่)

11

นายสนิทพันธ์ รมยาสนนท์

พ.ศ. 2540 – 2541 (รักษาราชการแทนกงสุลใหญ่)

12

นายตวง มุกดาสิริ

พ.ศ. 2541 – 2544 (กงสุลใหญ่)

13

นายยะวาสน์ ฉัตรทอง

พ.ศ. 2544 – 2545 (รักษาราชการแทนกงสุลใหญ่)

14

นายสุโข ภิรมย์นาม    

พ.ศ. 2546 – 2550 (กงสุลใหญ่)

15

นายสุรพล เพชรวรา

พ.ศ. 2550 – 2555 (กงสุลใหญ่)

16

นายจักรกฤษณ์ กาญจนศูนย์

 พ.ศ. 2555 – 2558 (กงสุลใหญ่)

17

นายไพฑูรย์ สงค์แก้ว

 พ.ศ. 2559 – 2560 (กงสุลใหญ่)

18

นางสาวจันทรรัตน์ งามชนะ

พ.ศ. 2560 –  2562 (รองกงสุลใหญ่ รักษาราชการแทนกงสุลใหญ่)

19

นายมงคล สินสมบูรณ์

พ.ศ. 2562 – 2564 (กงสุลใหญ่) 

20

นางมาริสา อินทรมงคล

พ.ศ. 2564 - 2566 (รองกงสุลใหญ่ รักษาราชการแทนกงสุลใหญ่)

21

นายภาษิต จูฑะพุทธิ

พ.ศ. 2566 - ปัจจุบัน (กงสุลใหญ่)