วัดไทยในกลันตัน: การปรับเปลี่ยนมิติทางสังคมและเศรษฐกิจของชุมชนชาวพุทธในรัฐมุสลิม สรุปและเรียบเรียงจากการบรรยาย ของ อ.ไพลดา ชัยศร ในการประชุมเวที สกว. (TRF Forum)

วัดไทยในกลันตัน: การปรับเปลี่ยนมิติทางสังคมและเศรษฐกิจของชุมชนชาวพุทธในรัฐมุสลิม สรุปและเรียบเรียงจากการบรรยาย ของ อ.ไพลดา ชัยศร ในการประชุมเวที สกว. (TRF Forum)

วันที่นำเข้าข้อมูล 13 ต.ค. 2554

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 3,696 view

วัดไทยในกลันตันมีประวัติความเป็นมาอย่างยาวนาน และมีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของชาวพุทธในรัฐกลันตันเป็นอย่างมาก วัดหลายแห่งเป็นไม่ได้เป็นเฉพาะสถานที่ประกอบกิจทางศาสนา แต่ยังเป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมด้านอื่นๆ ในแทบทุกชุมชนจะมีวัดเป็นแกนหลักของชุมชน วัดในกลันตันมีทั้งหมด 20 วัด และมีสำนักสงฆ์อีก 10 แห่ง วัดที่ทำการศึกษาประกอบไปด้วย

1. วัดพิกุลทอง ซึ่งในปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสมาคมคนไทยในรัฐกลันตัน และเจ้าอาวาสวันพิกุลทองปัจจุบันก็เป็นเจ้าคณะรัฐกลันตันด้วย 2. วัดมฌิมาราม ซึ่งเป็นวัดที่โดดเด่นมากในแง่ของการผสมผสานศิลปวัฒนธรรมจีน และเป็นวัดที่เป็นที่ตั้งของพระพุทธรูปที่ใหญ่ที่สุดในมาเลเซียด้วย 3. วัดโพธิ์วิหาร ซึ่งเป็นวัดที่เก่าแก่ มีความเป็นมายาวนาน และเป็นวัดแรกในกลันตันที่สร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ขึ้นมา นอกจากนั้น ในปัจจุบัน เจ้าอาวาสวัดโพธิ์วิหารยังเป็นคนมาเลเซียเชื้อสายจีนอีกด้วย 4. วัดประชาจินาราม เป็นวัดที่มีที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงกับวัดมฌิมาราม และมีความสำคัญต่อชุมชนไทย จีน และมาลายูบริเวณใกล้เคียง

บุคคลที่สัมภาษณ์มีประกอบไปด้วย พระสงฆ์ คนไทย/จีน/มลายูในชุมชนใกล้เคียง ประธานสมาคมคนไทยในมลายู เจ้าหน้าที่สถานกงสุลใหญ่ในเมืองโกตาบารู รัฐกลันตัน

ประเด็นหลักที่จะกล่าวถึงในที่นี้คือ สังคมไทยพุทธดำรงอยู่ได้อย่างไรในสังคมมุสลิม โดยเฉพาะในรัฐกลันตันซึ่งประชาชนกว่า 90 % เป็นชาวมุสลิม และมีวัฒนธรรมอิสลามที่ค่อนข้างเข้มข้น นอกจากนั้นจะอภิปรายเกี่ยวกับความสำคัญของวัดต่อชุมชนชาวไทยในรัฐกลันตันในแง่มุมต่างๆ พร้อมทั้งจะแสดงให้เห็นภาพความสัมพันธ์ของชาวไทยพุทธกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆในรัฐกลันตัน ซึ่งประเด็นต่างๆเหล่านี้สามารถโยงเข้ากับประเด็นเรื่องความมั่นคงได้ว่าทำไมการมีอัตลักษณ์ที่แตกต่างของชุมชนไทยพุทธในรัฐกลันตัน จึงไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหาความมั่นคงเหมือนอย่างที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดภาคใต้ของไทย 

ชุมชนชาวไทยในรัฐกลันตัน จากฐานข้อมูลประชากรของรัฐกลันตันในปี 2550 มีคนไทยอาศัยอยู่ในรัฐกลันตันประมาณ 14,000 คน ในจำนวนนี้ ประชากรส่วนใหญ่ประมาณ 6,500 คน อาศัยอยู่ในเขตตุมปัด ซึ่งเป็นเขตที่มีวัดไทยมากที่สุดถึง 12 วัด ส่วนคนไทยที่เหลือจะตั้งถิ่นฐานกระจัดกระจายอยู่ในเขตอื่นๆ 

ข้อมูลจากการสัมภาษณ์และจากงานวิจัยต่างๆที่ผ่านมาไม่มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า คนไทยเข้าไปตั้งถิ่นฐานในรัฐกลันตันตั้งแต่เมื่อไหร่ และด้วยเหตุผลอะไร อย่างไรก็ตาม ทั้งจากการสำรวจงานวิจัยที่ผ่านมา และจากการสัมภาษณ์พบข้อมูลที่ตรงกันอย่างหนึ่งคือ คนไทยในรัฐกลันตันอยู่ที่นี่มาก่อนการขีดแบ่งเส้นพรมแดนไทย-มาเลเซียจากผลของสนธิสัญญาระหว่างอังกฤษกับสยาม ในปี ค.ศ. 1909 ด้วยเหตุนี้ สถานะของคนไทยจึงมีสถานะเป็นคนพื้นเมืองดั้งเดิมของรัฐกลันตัน ถึงแม้จะไม่ถูกพิจารณาว่าเป็น “ภูมิบุตรา” แต่ก็มีสิทธิมีเสียงเหนือกว่าคนจีนและคนอินเดียซึ่งถือว่าเป็นผู้อพยพเข้ามาในภายหลัง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากชาวไทยมักจะอาศัยอยู่ในชนบทและทำการเกษตรกรรม จึงมีสถานะทางเศรษฐกิจด้อยกว่าคนจีนและคนอินเดีย ด้วยสถานะเช่นนี้ จึงทำให้ชาวไทยมีโอกาสในการเข้าถึงบริการสาธารณะต่างๆน้อยกว่ากลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ (ด้อยกว่าชาวมลายู ซึ่งเป็นภูมิบุตรา และด้อยกว่าชาวจีนและอินเดียในทางเศรษฐกิจ)

สิ่งที่น่าสนใจสำหรับชุมชนชาวไทยในรัฐกลันตันซึ่งเป็นกลุ่มเล็กๆ ก็คือ การที่พวกเขายังสามารถรักษาอัตลักษณ์ความเป็นไทยไว้ได้อย่างเหนี่ยวแน่น เช่น การใช้ภาษาไทยเป็นภาษาหลักในการสื่อสาร มีการแต่งกายแบบไทย วิถีชีวิตแบบชาวไทย มีการนับถือกษัตริย์และราชวงศ์ไทย ฟังเพลงไทย ดูหนังไทย เป็นต้น แต่ถึงแม้จะมีการรักษาอัตลักษณ์ความเป็นไทยไว้อยู่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนไทยในกลันตัน ไม่ได้จงรักภักดีต่อรัฐบาลมาเลเซียแต่อย่างใด สำหรับคนไทยในกลันตันแล้ว อัตลักษณ์ความเป็นไทยดำรงอยู่ควบคู่กับความรู้สึกจงรักภักดีต่อรัฐมาเลเซียและความสำนึกในความเป็นพลเมืองมาเลเซีย

รายละเอียด/ข้อมูลเพิ่มเติม:  http://prp.trf.or.th/ContentView.aspx?id=17&page=1