การสัมมนาเรื่องแนวทางการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้

การสัมมนาเรื่องแนวทางการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้

วันที่นำเข้าข้อมูล 20 พ.ค. 2556

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 5,640 view

 

วันที่ 17-18 พฤษภาคม 2556 ที่ โรงแรมพาวีเลี่ยน จังหวัดสงขลา - นายจักรกฤษณ์ กาญจนศูนย์ กงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู เป็นประธานเปิดการสัมมนา เรื่อง "แนวทางการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้" โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ผู้นำศาสนา และนักศึกษา จากสถาบันการศึกษาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) และจังหวัดสงขลา จำนวนกว่า 100 คนเข้าร่วม การสัมมนา โดยถือเป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งของสถานกงสุลใหญ่ภายใต้งบประมาณประจำปี 2556 กิจกรรมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการระดมความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมสัมมนาส่งให้ภาครัฐนำไปใช้ประโยชน์ และเสริมสร้างเครือข่ายระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนที่อยู่ในพื้นที่ให้สามารถประสานร่วมมือกันพัฒนาพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ได้อย่างใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น กิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย การสรุปผลการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่าง เรื่องปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้(มิติด้านเศรษฐกิจและสังคม) ที่ดำเนินการโดยสถานกงสุลใหญ่ ระหว่างวันที่ 29-30 มีนาคม 2556 การบรรยายพิเศษเรื่อง "นโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2555-2557 โดยนายปกรณ์ ปรีชาวุฒิเดช ประธานคณะกรรมการการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ ศอ.บต. และการบรรยายพิเศษเรื่อง "มุมมองของประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ : ความหวังในสถานการณ์ความรุนแรงอันยืดเยื้อ ภายใต้ร่มเงาของสันติภาพ" โดย ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี พร้อมกันนั้น ได้มีการระดมสมองและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมสัมมนาอีกด้วย ผลลัพท์จากการสัมมนาสรุป ดังนี้


                        1. นายจักรกฤษณ์ กาญจนศูนย์ กงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู เปิดเผยว่า สถานกงสุลใหญ่ได้ทำการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่าง เรื่องปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (มิติด้านเศรษฐกิจและสังคม) ระหว่างวันที่ 29-30 มีนาคม 2556 พบว่า ประชาชนในพื้นที่มองว่า การแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลบางโครงการยังลงไปไม่ถึงผู้ประกอบการรายย่อยได้ทั่วถึง แต่เกิดประโยชน์ต่อผู้ประกอบการรายใหญ่ ๆ มากกว่า ประชาชนจึงอยากให้รัฐบาลพิจารณาให้ละเอียดถึงจุดอ่อนจุดแข็งในแต่ละพื้นที่ว่ามีสิ่งใดที่สามารถนำมาเป็นต้นทุนการผลิตได้อย่างแท้จริง และเมื่อดำเนินการใด ๆ แล้วก็ต้องติดตามประเมินผลอย่างใกล้ชิดด้วยว่าเกิดประโยชน์ต่อประชาชนมากน้อยเพียงใด นอกจากนั้น ประชาชนยังมองว่า การขาดการลงทุนในพื้นที่ทั้งจากภาครัฐและเอกชนเนื่องมาจากนักลงทุนไม่มั่นใจในความปลอดภัย จึงเสนอให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยให้ภาครัฐเข้ามาลงทุนในพื้นที่เสียเองให้มากขึ้น เพื่อเป็นตัวอย่างและสร้างความมั่นใจให้กับภาคส่วนอื่น ๆ โดยเห็นว่า สิ่งที่สามารถทำได้ มีอาทิ การจัดให้มี “โครงการ 1 อำเภอ 1 โรงงาน” เพื่อสร้างอาชีพให้กับคนในพื้นที่ สำหรับประเด็นด้านการศึกษาเห็นว่า เยาวชนในพื้นที่ยังมีโอกาสน้อยที่จะได้รับการศึกษาในระดับสูง จึงขอให้เพิ่มการศึกษาทั้งสายสามัญและสายอาชีพ พร้อมสนับสนุนให้เด็กเก่ง ๆ ในพื้นที่ให้มีโอกาสทางการศึกษาที่ดีขึ้น และให้เด็กเหล่านั้นได้กลับไปพัฒนาพื้นที่ของตนเองต่อไป รวมทั้ง ควรสร้างตำแหน่งงานให้กับนักเรียนในพื้นที่ได้ทำงานที่มีอนาคตก้าวหน้าเพื่อเป็นแรงผลักดันให้เยาวชนหันมาสนใจเรียนสายสามัญและสายอาชีพมากขึ้น ในส่วนของปัญหายาเสพติดก็จะต้องร่วมมือแก้ไขอย่างจริงจังทุกภาคส่วน ทั้งครอบครัว โรงเรียน และเจ้าหน้าที่รัฐ และประการสุดท้ายที่เป็นปัญหาสำคัญ คือ การขาดความร่วมมือระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะประชาชนยังมองเจ้าหน้าที่ในแง่ลบ เนื่องจากเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนยังขาดความเข้าใจในอัตลักษณ์ของประชาชนในพื้นที่ ส่วนประชาชนในพื้นที่บางส่วนก็ยังขาดความเข้าใจในภาษาและวิธีการดำเนินงานของภาครัฐ

                       2. นายปกรณ์ ปรีชาวุฒิเดช ประธานคณะกรรมการการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ ศอ.บต.บรรยายพิเศษสรุปว่า การจัดทำนโยบายการบริหารและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2553 สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติได้ให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในและนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยคำนึงถึงพื้นฐานของปัญหาที่ซับซ้อนและเชื่อมโยงกัน 4 ส่วนหลัก ๆ  ได้แก่ 1) การใช้อำนาจการปกครองและการบริหารที่ไม่ให้ความสำคัญกับความละเอียดอ่อนของอัตลักษณ์ของคนในพื้นที่ 2) มีการใช้ความรุนแรงจากกลุ่มที่มีความคิด ความเชื่อ และอุดมการณ์ต่างจากรัฐ  3) มีความขัดแย้งในเรื่องของผลประโยชน์ของกลุ่มอิทธิพล และธุรกิจผิดกฎหมาย และ 4) มีการใช้ความรุนแรงจากเรื่องส่วนตัว

ทั้งนี้ สภาความมั่นคงแห่งชาติได้วางกรอบนโยบายให้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง ให้ปรับเปลี่ยนแนวทางการต่อสู้ด้วยความรุนแรงมาเป็นแนวทางการต่อสู้ด้วยสันติวิธี สร้างการกระจายอำนาจ ให้ความเคารพสิทธิมนุษยชน การยึดมั่นในหลักนิติธรรม รวมทั้ง สร้างความเข้าใจและมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาร่วมกันของทุกภาคส่วน ทั้งนี้ ปัจจัยที่จะนำไปสู่ความสำเร็จจะต้องให้หน่วยงานของรัฐและข้าราชการที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการแก้ไขปัญหามีความเข้าใจที่ตรงกันในปรัชญา ความคิด ทิศทางการแก้ไขปัญหาตามนโยบายนี้ ข้าราชการต้องมีจิตสำนึก และความตระหนักในการปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ และการแก้ไขปัญหาต้องมีความจริงจัง ชัดเจน และต่อเนื่อง รวมทั้ง ต้องแก้ไขไปควบคู่กันระหว่างการก่อความไม่สงบและการปราบปรามขบวนการผิดกฏหมายอื่นๆ

                           ปัจจุบันโครงสร้างด้านแรงงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากมีเยาวชนจบระดับปริญญาตรีเพิ่มขึ้นแต่มีผู้จบสายอาชีพลดลง และเยาวชนที่จบปริญญาตรีมีค่านิยมเบี่ยงเบนมาทำงานในหน่วยงานของรัฐมากขึ้น จึงทำให้จังหวัดชายแดนภาคใต้ขาดแคลนแรงงานฝีมือซึ่งเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญในพื้นที่ ในทางตรงกันข้ามเยาวชนที่จบปริญญาตรีเหล่านี้ล้วนกู้เงินเพื่อการศึกษา ดังนั้นเมื่อจบการศึกษาแล้วต้องหาเงินมาใช้หนี้ แต่เศรษฐกิจภาคใต้ที่ขึ้นอยู่กับราคายางพาราเป็นหลัก ในช่วงที่ราคายางพาราตกต่ำแต่หนี้ภาคเอกชนไม่ได้ลดลงได้ส่งผลกระทบต่อสภาวะความเป็นอยู่ของคนในสังคม สำหรับการแก้ไขปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยรวมนั้น ได้มีการหารือ ประชุมและวิเคราะห์สถานการณ์กันแล้ว เพียงแต่ยังขาดกลไกที่คอยขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติอย่างแท้จร้ง

                       3. ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีบรรยายพิเศษ สรุปว่า “ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้” มอ.ปัตตานี ได้สุ่มตัวอย่างจากประชาชนในทุกตำบลของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของสงขลา ระหว่างวันที่ 21-25 มี.ค. 2556 สรุปผล ดังนี้

                           3.1 อะไรคือปัญหาสำคัญที่สุดของชุมชน ? ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 70 ระบุว่า ปัญหา

ที่สำคัญที่สุดของชุมชนได้แก่ ปัญหายาเสพติด ร้อยละ 49 ระบุว่าปัญหาการว่างงาน ร้อยละ 30 ระบุว่าเป็นเหตุการณ์ความไม่สงบ ร้อยละ 26 ปัญหาความยากจน และร้อยละ 17 เป็นปัญหาไม่มีที่ดินทำกินตามลำดับ และเมื่อถามถึงความเร่งด่วนที่ต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐ ปรากฏว่า มีความต้องการเรียงตามลำดับ ได้แก่ ต้องการการจ้างงาน การแก้ปัญหายาเสพติด การเพิ่มรายได้ของครัวเรือน และการพัฒนาการเกษตร

                           3.2   เหตุการณ์ความไม่สงบกระทบต่อเศรษฐกิจเพียงใด ? ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 78.2 เชื่อว่าเหตุการณ์ความไม่สงบมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ แต่เมื่อถามว่าการที่ รบ.ได้ทุ่มเทงบประมาณจำนวนมากถึงกว่า 2 แสนล้านบาทในรอบ 9 ปีที่ผ่านมาเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้ตอบแบบสอบถาม ร้อยละ 50.7 พึงพอใจต่อการแก้ไขปัญหา และร้อยละ 49 มีความพึงพอใจน้อย ซึ่งเท่ากับผลของความพึงพอใจอยู่ในระดับที่ก้ำกึ่งกัน

                           3.3   ทรรศนะต่อการพูดคุยกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ เกี่ยวกับกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพกับกลุ่ม BRN ปรากฎว่า กลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 67.17 มีความเชื่อมั่นต่อการดำเนินการดังกล่าวมีเพียงร้อยละ 32.83 ให้คะแนนไม่ผ่าน ซึ่งวิทยากรให้เหตุผลว่า อาจเป็นเพราะกระบวนการเพิ่งเริ่มต้น และประชาชนยังเห็นว่ากระบวนการยังคงมีความเสี่ยงหรือยังขาดความชัดเจน  อย่างไรก็ดี ชาวไทยมุสลิมกลับมีความเชื่อมั่นมากกว่าชาวไทยพุทธต่อกระบวนการสันติภาพ ผลการวิจัยยังพบอีกว่า กลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบให้คะแนนความเชื่อมั่นต่อกระบวนการสันติภาพมากกว่ากลุ่มผู้ไม่เคยได้รับผลกระทบ

                           3.4   ประเด็นใดที่ต้องการให้มีการพูดคุย ? ประเด็นสำคัญที่ประชาชนต้องการให้มีการพูดคุยกับฝ่ายตรงข้ามเรียงตามลำดับ ได้แก่ ขอให้ทุกฝ่ายหยุดยิงและยุติความรุนแรงโดยทันที ให้มีการถอนทหารออกจากพื้นที่ และให้มีการพัฒนา

                           3.5   ความเชื่อมั่นไว้วางใจต่อกลุ่มคนหรือองค์กรต่างๆ  ใน พท. ประเด็นความเชื่อมั่นและให้ความไว้วางใจต่อกลุ่มคน หรือองค์กรในพื้นที่ ปรากฏว่า กลุ่มตัวอย่างให้ความไว้วางใจจากมากไปถึงน้อยที่สุดเรียงตามลำดับ ได้แก่ 1) กลุ่มหมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เจ้าหน้าที่อนามัย 2) คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดและผู้นำศาสนา 3) ครูโรงเรียนรัฐบาล  4) ศอ.บต.  5) ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอ แล 6) กองกำลัง อส.และทหารพราน

                           3.6  ผู้ใดให้ความมั่นคงปลอดภัยและสร้างสันติภาพมากที่สุด ? ปรากฏว่า มีความเชื่อมั่นตามลำดับ ได้แก่ 1) คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด 2) ครูโรงเรียนรัฐบาล 3) หมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เจ้าหน้าที่อนามัย  4) ศอ.บต. 5) กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน และ 6) ทหาร/ทหารพราน

                           3.7  ทรรศนะต่อการกระจายอำนาจการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษ เพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 17.2 เห็นด้วยอย่างยิ่ง ร้อยละ 37.9 เห็นด้วย ร้อยละ 30.4 เห็นด้วยกลาง ๆ ส่วนที่ไม่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งมีเพียงร้อยละ 14 เท่านั้น ซึ่งถ้ารวมผู้ที่เห็นด้วยกับเห็นด้วยอย่างยิ่งจะมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 55

                            กล่าวโดยสรุป วิทยากรกล่าวสนับสนุนกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ แต่จะต้องดึงให้ทุกฝ่าย รวมทั้งระดับรากหญ้าเข้ามาสนับสนุนกระบวนการสันติภาพ และจะต้องศึกษาและนำบทเรียนจากประเทศอื่นๆ มาเป็นแนวปฎิบัติ ซึ่งเชื่อว่า กระบวนการนี้จะสามารถเปลี่ยนจากความขัดแย้งที่ใช้ความรุนแรงมาสู่ความขัดแย้งที่ไม่ใช้ความรุนแรงได้ต่อไป

                       4)  ประเด็นที่ได้รับจากผู้เข้าร่วมสัมมนา

                             4.1  เห็นด้วยว่า ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะต้องแก้ไขที่ระบบการศึกษาเป็นหลัก โดยต้องปรับเปลี่ยนจากการสร้างคนเพื่อเข้ารับราชการมาเป็นสร้างแรงงานสายอาชีพ และให้ผู้จบการศึกษาเป็นกลไกในการพัฒนาสังคมในท้องถิ่น

                             4.2  ให้กรรมการอิสลามประจำจังหวัดมีบทบาทในการให้การศึกษาหลักศาสนาที่ถูกต้องแก่เยาวชนด้วยวิธีการต่าง ๆ อาทิ การจัดทำเอกสารเผยแพร่ไปยังมัสยิดต่าง ๆ

                             4.3  สาเหตุประการหนึ่งที่ทำให้การแข่งขันทางธุรกิจของภาคเอกชนรายย่อยยังมีน้อยเนื่องจากหน่วยงานราชการบางแห่งมีการรับเงินใต้โต๊ะจากการยื่นเรื่องขอประกอบธุรกิจ ทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยไม่สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหญ่ได้

                             4.4  เหตุการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งหมดไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดจากกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ แต่บ่อยครั้งที่มีความพยายามโยงให้เป็นเหตุการณ์ก่อความไม่สงบเพื่อให้ได้รับเงินเยียวยา

                             4.5  การแก้ไขปัญหาความไม่สงบต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการปราบปรามการกระบวนการที่ผิดกฏหมายอื่น ๆ เช่น การค้าของเถื่อนเนื่องจากปัญหาการก่อความไม่สงบหลายเหตุการณ์มีความเกี่ยวโยงกับกระบวนการนอกกฏหมาย                         

                             4.6  ศอ.บต.กำลังดำเนินการจ่ายเงินชดเชยค่าที่ดินที่ใช้ก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมฮาลาล ที่อำเภอปานาเระ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งคาดว่า ใช้เวลาอีกไม่นานจะสามารถเปิดดำเนินการได้เต็มรูปแบบซึ่งจะสามารถช่วยพัฒนาและจ้างงานในพื้นที่ได้

                             4.7  ผู้ร่วมสัมมนาบางส่วนแสดงความเห็นด้วยกับการเปลี่ยนรูปแบบการกระจายอำนาจการปกครองแบบพิเศษโดยยกตัวอย่างความสำเร็จของประเทศจีนที่สามารถปกครองชนหลายเชื้อชาติและศาสนาได้ แต่บางส่วนยังแสดงความไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนรูปแบบการกระจายอำนาจการปกครองท้องถิ่นโดยเห็นว่า ปัจจุบันได้มีการกระจายอำนาจการปกครองท้องถิ่นให้แล้วตามกฏหมายบริหารราชการส่วนท้องถิ่น เช่น การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่น

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ