เรื่องเล่าด่านรันตู ประจำวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564

เรื่องเล่าด่านรันตู ประจำวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564

วันที่นำเข้าข้อมูล 16 ก.พ. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 27 พ.ย. 2565

| 257 view

เช้านี้ ไม่มีผู้ลงทะเบียนกลับไทยวันที่ ๑๓ ก.พ. ๖๔
วันที่ ๑๒ ก.พ. มียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ ๓,๓๑๘ คน โดยอยู่ในรัฐกลันตัน ๗๙ คน รัฐตรังกานู ๗๒ คน มีผู้ติดเชื้อสะสม ๒๕๘,๓๐๖ คน และผู้เสียชีวิตสะสม ๙๕๓ คน (เพิ่มขึ้น ๑๗ คน) (สถิติข้อมูลการระบาดโควิด รูป ๑)
ปัญหาความล่าช้าของวัคซีนเป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจของคนทั่วโลก ทำไมสหภาพยุโรป (อียู) จึงได้ประกาศควบคุมการส่งออกวัคซีน จนทำให้เกิดภาวะ “ช็อตวัคซีน”
เมื่อวันที่ ๑๒ ก.พ. ปธน. โจ ไบเดนของสหรัฐฯ ประกาศว่า ได้บรรลุข้อตกลงในการสั่งซื้อวัคซีนต้านโควิด-๑๙ จากไฟเซอร์ (Pfizer) และโมเดอร์นา (Moderna) บ. ละ ๑๐๐ ล้านโดส และหากการจัดส่งวัคซีนเป็นไปตามกำหนด จะส่งผลให้สหรัฐฯ มีวัคซีนถึง ๖๐๐ ล้านโดสภายในเดือน ก.ค. ดูเหมือนจะยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์ “แย่งวัคซีน” ให้รุนแรงยิ่งขึ้น
เรื่องเล่าด่านรันตูวันนี้ ขอเสนอเรื่อง “ควบคุมการส่งออก 'วัคซีนโควิด' กับผลที่จะตามมา” ตามรายงานข่าว นสพ. กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ ๑๓ ก.พ. ๖๔ (ข่าว นสพ. รูป ๒)
จับตาสงครามวัคซีนที่เกิดขึ้นจากข้อพิพาทในการแย่ง "วัคซีนโควิด" โดยเฉพาะอียูกับสหราชอาณาจักร เนื่องจากมีกำลังการผลิตไม่ทันกับความต้องการของทั่วโลก แล้วการที่อียูควบคุมการส่งออกวัคซีนโควิด ขัดหลักการ WTO หรือไม่ และส่งผลต่อ ปท. อย่างไรบ้าง
การระบาดของไวรัสโควิด-๑๙ ตั้งแต่ต้นปี ๖๓ ได้แพร่ไปทั่วโลก ณ ต้นเดือน ก.พ. ๖๔ มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกทะลุร้อยล้านคนแล้ว มีผู้เสียชีวิตกว่าสองล้านคน หลาย ปท. ใช้มาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมการระบาด เช่น การปิดเมือง ปิด ปท. ล็อคดาวน์ แต่ก็ยังไม่สามารถควบคุมการระบาดได้เด็ดขาด ตอนนี้ ปท. ต่างๆ จึงฝากความหวังไว้กับ “วัคซีน” ที่จะช่วยยับยั้งการระบาดได้ (Covid-19 vaccine updates รูป ๓)
เมื่อโควิด-๑๙ เริ่มระบาด ผู้ผลิตเวชภัณฑ์ในหลาย ปท. ก็เร่งค้นคว้าทดลองวัคซีนเพื่อต่อต้านไวรัสโควิด-๑๙ และเริ่มทดลองในคน จนบัดนี้มีวัคซีนต่อต้านโควิด-๑๙ ที่ได้รับการรับรองแล้วหลายราย แต่เนื่องจากมีกำลังการผลิตไม่ทันกับความต้องการของทั่วโลก จึงเกิดการแย่งวัคซีนขึ้นแล้ว ถึงขั้นเรียกกันว่า “สงครามวัคซีน” คล้ายกับช่วงที่โควิด-๑๙ เริ่มระบาดเมื่อต้นปี ๖๓ เกิดปัญหาขาดแคลนหน้ากากอนามัยและอุปกรณ์ช่วยหายใจ ที่ ปท. ผู้ผลิตบาง ปท. ควบคุมการส่งออก (สหรัฐฯ กว้านซื้อวัคซีน รูป ๔)
คู่สงครามวัคซีนที่ชัดเจนคือ อียูและสหราชอาณาจักร เริ่มต้นมาจากช่วงต้นเดือน ม.ค. ๖๔ อียูประสบปัญหาเรื่องความล่าช้าในกระบวนการฉีดวัคซีนให้ประชากรในชาติสมาชิกทั้ง ๒๗ ปท.
ประเด็นของข้อพิพาทแย่งวัคซีนจนเป็นสงครามวัคซีนระหว่างอียูกับสหราชอาณาจักรคือ วัคซีนที่ผลิตโดย บ. แอสตร้าเซเนก้า ผู้ผลิตเวชภัณฑ์รายใหญ่ระดับโลกจากสหราชอาณาจักร แจ้งต่ออียูเมื่อปลายเดือน ม.ค. ๖๔ ว่าจากเดิมที่แอสตร้าเซเนก้าและอียูตกลงเรื่อง การจัดส่งวัคซีนป้องกันโรคโควิด-๑๙ จำนวน ๘๐ ล้านโดส ภายในสิ้นเดือน มี.ค.นี้ อาจลดลงเหลือเพียง ๓๑ ล้านโดสเท่านั้น (Phase 1A vaccine allocation รูป ๕)
ทำให้มีการกล่าวหาจากฝ่ายอียูว่า แอสตร้าเซเนก้านำวัคซีนที่จะต้องส่งมอบให้อียู ไปส่งมอบให้สหราชอาณาจักรแทน นรม. ของ ปท. สมาชิกอียู ปท. หนึ่ง ถึงกับกล่าวหาว่าสหราชอาณาจักร “ไฮแจ็ควัคซีน” ในเวลาต่อมาอียูได้ออกมาตรการควบคุมการส่งออกวัคซีนที่ผลิตในอียูไปยัง ปท .ที่ไม่ใช่สมาชิก
เมื่อพิจารณาจากหลักการขององค์การการค้าโลก (WTO) ในเรื่องการค้าเสรี คือ ปท. สมาชิกจะต้องไม่จำกัดการส่งออกและนำเข้า ยกเว้นมีความจำเป็นในบางกรณี จึงมีคำถามตามมาว่า การที่อียูกำหนดมาตรการควบคุมการส่งออกวัคซีนโควิด-๑๙ ขัดหลักการดังกล่าวหรือไม่ (ขนส่งวัคซีนทางอากาศ รูป ๖)
จากข้อมูลการเกิดข้อพิพาทที่มีการจำกัดการส่งออกและนำเข้าที่ผ่านมา ปรากฏว่า ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นส่วนมากเกิดจากการจำกัดการนำเข้า แต่ข้อพิพาทจากการจำกัดการส่งออกของ ปท. ผู้ส่งออกก็มีเกิดขึ้นบ้าง ที่เป็นข่าวดังนี้คือ
๑. กรณีจีนขึ้นภาษีส่งออกและกำหนดโควตาการส่งออกวัตถุดิบที่เป็นแร่ธาตุสำคัญ ๑๒ ชนิด อียูเห็นว่าการที่จีนใช้มาตรการจำกัดการส่งออกวัตถุดิบแร่ธาตุดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตที่จำเป็นต้องใช้แร่ธาตุดังกล่าวเป็นวัตถุดิบในการผลิต ทั้งในอียูและ ปท. อื่นทั่วโลก ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักการการค้าเสรีและความตกลงภายใต้ WTO จึงดำเนินการตามกระบวนการกลไกระงับข้อพิพาทของ WTO โดยยื่นขอปรึกษาหารือกับปท.จีนในเรื่องดังกล่าว เมื่อเดือน ก.ค.๕๙ แต่การปรึกษาหารือไม่เป็นผล อียูจึงเสนอเรื่องขอให้องค์กรระงับข้อพิพาทจัดตั้งคณะผู้เจรจาพิจารณาเรื่องนี้ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการดำเนินการของคณะผู้เจรจา
๒. การห้ามส่งออกไม้ของยูเครนในปี ๕๘ ปท. ยูเครนออกมาตรการห้ามส่งออกไม้ที่ยังไม่ได้ผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูป ๑๐ ชนิด อียูได้รับความเดือดร้อนจากมาตรการดังกล่าว จึงได้ยื่นเรื่องขอปรึกษาหารือกับ รบ.ยูเครน แต่การปรึกษาหารือก็ไม่เป็นผล อียูจึงเสนอเรื่องให้จัดตั้งอนุญาโตตุลาการพิจารณาวินิจฉัย เนื่องจากมีการระบาดของไวรัสโควิด-๑๙ การพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการจึงใช้วิธีดำเนินการด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
ในวันที่ ๑๑ ธ.ค.๖๓ คณะอนุญาโตตุลาการได้ตัดสินว่า การห้ามส่งออกไม้ของยูเครนไม่สอดคล้องกับความตกลงทวิภาคีระหว่างอียูกับยูเครน ที่กำหนดมิให้ใช้มาตรการในการห้ามการส่งออกสินค้า ขั้นตอนต่อไปยูเครนจะต้องดำเนินการตามขั้นตอน เพื่อปฏิบัติตามคำตัดสินของคณะอนุญาโตตุลาการ (วัคซีนที่ส่งถึงกรุงจาการ์ตา รูป ๗)
๓. อซ. กำหนดมาตรการควบคุมการส่งออกแร่นิกเกิลที่จำเป็นต้องใช้ในการผลิตเหล็กไร้สนิม อียูเห็นว่าไม่สอดคล้องกับความตกลงแกตต์ ๑๙๙๔ ภายใต้ WTO จึงดำเนินการตามขั้นตอนของกลไกระงับข้อพิพาทของ WTO โดยยื่นเรื่องขอปรึกษาหารือกับ อซ. เมื่อวันที่ ๒๒ พ.ย. ๖๒ แต่การปรึกษาหารือไม่เป็นผล ในวันที่ ๑๔ ม.ค.๖๔ อียูจึงดำเนินการในขั้นต่อไป โดยยื่นเรื่องให้องค์กรระงับข้อพิพาทของ WTO จัดตั้งคณะเจรจาเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาแต่งตั้งคณะผู้เจรจาเพื่อดำเนินการในขั้นต่อไป
๔. ข้อสรุปจากการที่อียูออกมาตรการควบคุมการส่งออกวัคซีนดังกล่าว องค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ออกมาตำหนิว่า จะกระทบต่อการร่วมกันยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙
จากกรณีข้อพิพาทการใช้มาตรการจำกัดการส่งออกสินค้าของ ปท. ต่างๆ ที่อียูได้รับผลกระทบ จนต้องเป็นผู้ร้องให้ดำเนินการตามขั้นตอนของกลไกระงับข้อพิพาทดังกล่าว
หากอียูยังคงใช้มาตรการควบคุมการส่งออกวัคซีนตามที่ได้ประกาศไว้ ก็จะต้องถูก ปท. ต่างๆ ดำเนินการร้องเรียนตามขั้นตอนกลไกระงับข้อพิพาทของ WTO เช่นกัน ดังที่อียูดำเนินการกับ ปท. ที่กำหนดมาตรการจำกัดการส่งออก ตามที่กล่าวมาข้างต้นอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง
ตอนนี้ท่านผู้อ่านคงเข้าใจมูลเหตุของการขาดวัคซีนโควิด ซึ่ง WHO ได้เรียกร้องให้ดำเนินการตามขั้นตอนของกลไกระงับข้อพิพาทของ WTO คงต้องติดตามว่า จะแก้ไขสถานการณ์ “ช็อตวัคซีน” ได้หรือไม่

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ