เรื่องเล่าด่านรันตู ประจำวันที่ 31 ธันวาคม 2563

เรื่องเล่าด่านรันตู ประจำวันที่ 31 ธันวาคม 2563

วันที่นำเข้าข้อมูล 5 ม.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 24 พ.ย. 2565

| 329 view

เช้านี้ ไม่มีผู้ลงทะเบียนกลับไทยวันที่ ๓๑ ธ.ค. ๖๓
การแพร่ระบาดโควิดใน มซ. วันที่ ๓๐ ธ.ค. มีสถิติน้อยกว่าเมื่อวานเล็กน้อย โดยมียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ ๑,๘๗๐ คน อยู่ในรัฐกลันตัน ๕๖ คน รัฐตรังกานู ๒ คน และมีผู้ติดเชื้อสะสม ๑๑๐,๔๘๔ คน ผู้เสียชีวิตสะสม ๔๖๓ คน (เพิ่มขึ้น ๖ คน) (สถิติข้อมูลการระบาดโควิด รูป ๑)
วันนี้เป็นวันสุดท้ายของปีนี้ ผมขอร่วมอวยพร “ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ ๒๕๖๔” ให้ผู้อ่านทางบ้านทุกท่านประสบแต่ความสุขความเจริญตลอดปี ๒๕๖๔ และขออนุญาตพักคอลัมน์ ในช่วงวันหยุดปีใหม่มา ณ ที่นี้
เมื่อวานนี้ ได้พูดถึงการส่งออกของ มซ. แล้ว หลายท่านสงสัยว่า การส่งออกของไทยปีหน้าเป็นอย่างไรบ้าง
เรื่องเล่าด่านรันตู วันนี้ขอเสนอเรื่อง “ทิศทางการส่งออกของไทยปี ๖๔” ตามที่ นสพ. กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ ๓๐ ธ.ค. ๖๓ เสนอข่าวเรื่อง “พาณิชย์มั่นใจ ปี ๖๔ ส่งออกโต ๔%” (ข่าว นสพ. รูป ๒)
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ประเมินส่งออกไทยปี ๖๔ ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป คาดโต ๔% หลังสัญญาณ ศก. การค้าโลกดีขึ้น ได้แรงหนุนจากวัคซีน การกระตุ้น ศก. ของหลาย ปท. นโยบาย สรอ. RCEP แต่ให้จับตาล็อกดาวน์ บาทแข็ง ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาด (อธ. กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ แถลง รูป ๓)
นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธ. กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ พณ. เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ประเมินทิศทางการส่งออกของไทยในปี ๖๔ ว่าจะกลับมาขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป คาดว่าจะมีอัตราขยายตัว ๔% ซึ่งสอดคล้องกับหลายหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน มีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของ ศก. โลก โดย IMF คาดว่าปี ๖๔ ศก. โลกจะมีอัตราขยายตัว ๕.๒% จาก -๔.๔% ในปี ๖๓ โดย ปท. กำลังพัฒนากลุ่ม Emerging Markets ในเอเชีย ทั้งจีน อินเดีย และอาเซียน ๕ ปท. จะฟื้นตัวเร็วที่สุดเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ และ WTO คาดว่าการค้าโลกในปี ๖๔ จะสามารถกลับมาขยายตัวที่ ๗.๒% ซึ่งล้วนแต่เป็นปัจจัยที่จะสนับสนุนการส่งออกของไทยให้ฟื้นตัวขึ้นได้
ปัจจัยอื่นๆ ที่ช่วยสนับสนุนการส่งออก ได้แก่ การคิดค้นและริเริ่มการฉีดวัคซีนโควิด ทำให้เกิดความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์แพร่ระบาดและสภาพ ศก. ส่งผลให้ภาคอุปสงค์มีแนวโน้มขยายตัว มาตรการกระตุ้น ศก. ในหลาย ปท. ทำให้ ศก. โลกในภาพรวมปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป รวมถึงเริ่มมีคำสั่งซื้อจาก ปท. คู่ค้าเพิ่มมากขึ้น
ขณะเดียวกัน การส่งออกยังได้รับผลดีจากทิศทางนโยบายของ สรอ. ซึ่งเป็นคู่ค้าอันดับ ๑ ของไทย โดย ปธน. ไบเดน มีนโยบายเน้นการยึดถือกฎเกณฑ์การค้าระหว่าง ปท. ภายใต้กรอบ WTO มากขึ้น และความสำเร็จของการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทาง ศก. ระดับภูมิภาค (RCEP) จะส่งผลดีต่อการขยายตัวของการค้าในภูมิภาคอาเซียน และนอกภูมิภาคอาเซียน อีก ๕ ปท. ประกอบด้วยจีน ญป. กลต. ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งจะช่วยให้ ศก. อาเซียนและไทยฟื้นตัวได้เร็วขึ้นในปีหน้า
โดยชี้ว่า สินค้าส่งออกที่เกี่ยวข้องกับโควิด-๑๙ โดยเฉพาะสินค้าอาหาร สินค้าสุขอนามัย และสินค้าเพื่อความบันเทิงในที่พักและการทำงานที่บ้าน (work from home) ยังคงมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง เนื่องจากมีการกลับมาระบาดระลอกใหม่ของโควิดในหลาย ปท. รวมถึงบริการดิจิทัลคอนเทนต์และบริการสุขภาพ ขณะที่ระบบโลจิติกส์ ไม่มีการหยุดชะงัก และคู่ค้ามีความมั่นใจในสินค้าไทยที่ปลอดเชื้อจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดได้ดี
ปัจจัยเสี่ยงที่จะต้องระวัง คือ การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งสินค้า ซึ่ง รอง นรม./ รมว.พณ. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ได้มีการประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้แล้ว รวมถึงค่าเงินบาทแข็งค่า ที่จะกระทบต่อการแข่งขัน ความไม่แน่นอนของโควิดที่จะทำให้มีการล็อกดาวน์ในบาง ปท. และการกีดกันทางการค้าที่จะมีมากขึ้น เช่น มาตรฐานแรงงานและสิ่งแวดล้อม (การขนส่งสินค้า รูป ๔)
ทั้งนี้ สนง. นโยบายและยุทธศาสตร์การค้า พณ. ได้สรุปการส่งออกสินค้าปี ๖๓ และมองไปข้างหน้าปี ๖๔ ดังนี้
การส่งออกสินค้าของไทย ๑๑ เดือนแรกของปี ๖๓ หดตัว ๖.๙๒% สืบจากปัจจัยต่างๆ ได้แก่ ๑) ศก. โลกที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-๑๙ ๒) ราคาน้ำมันอยู่ในระดับต่ำ และความต้องการใช้น้ำมันที่ลดลง ๓) การขนส่งสินค้าที่มีอุปสรรคเนื่องจากมาตรการคุมเข้มการแพร่ระบาด ๔) สินค้าเกษตรสำคัญได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง ๕) ค่าเงินบาทไทยที่แข็งค่ามากกว่าคู่แข่ง
การส่งออกปี ๖๔ มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากปัจจัยสนับสนุน คือ (๑) การฟื้นตัวของ ศก. และการค้าโลกที่มีแนวโน้มดีขึ้น (๒) นโยบายของ ปธน. ไบเดน มีแนวโน้มจะผ่อนคลายความตึงเครียดของสงครามการค้าและฟื้นฟู คสพ. สรอ.-จีน และ สรอ.-ยุโรป ช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของ ศก. (๓) การฟื้นตัวของราคาน้ำมันดิบ (๔) การดูแลเสถียรภาพค่าเงินบาทของ ธปท. (การเติบโตของ GDP ไทยรายไตรมาส รูป ๕)
มีปัจจัยเสี่ยง อาทิ การแพร่ระบาดระลอก ๒ ของโควิด-๑๙ นโยบายของ ปธน. ไบเดน อาจกระทบการส่งออกสินค้าไทยบางรายการ อาทิ เรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงาน สิ่งแวดล้อม และการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา
สิ่งท้าทายของการส่งออกไทยยุคหลังโควิด มีปัญหาเชิงโครงสร้างและการดึงดูดการลงทุน เนื่องจาก
๑) โครงสร้างสินค้าส่งออกของไทยกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มสินค้าที่ฟื้นตัวช้า เช่น รถยนต์ (สัดส่วน ๙% ของการส่งออกรวมของไทย และแนวโน้มความต้องการเครื่องยนต์สันดาปลดลง กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ (ข้าว ยางพารา และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง) ที่มีสัดส่วน ๔% ของการส่งออกรวมของไทย ซึ่งไทยมีความสามารถในการแข่งขันด้านราคาลดลงเทียบกับคู่แข่ง
๒) การมีส่วนร่วมในห่วงโซ่การผลิตโลก/ภูมิภาคไม่เพิ่มขึ้นเท่าที่คาด เห็นได้จากสัดส่วนเงินลงทุนทางตรงระหว่างประเทศต่อ GDP ของไทยลดลง ขณะที่ วน. มซ. และ อซ. ได้ประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตในภูมิภาคอาจส่งผลกระทบต่อการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของไทยในอนาคต
๓) การพัฒนาสินค้าที่ตอบโจทย์สภาพแวดล้อมใหม่ทางการค้าไม่รวดเร็ว และขาดสิทธิประโยชน์ทางภาษี ทำให้แข่งขันได้ยากในด้านราคา จากการไม่มี FTA กับ ปท. คู่ค้าสำคัญ และสิทธิประโยชน์ GSP ที่ลดลงไปเรื่อยๆ ทำให้การแข่งขันด้านราคาของไทยลดลงเมื่อเทียบกับคู่แข่ง
๔) ผู้ประกอบการไทยต้องเร่งพัฒนาหารูปแบบการทำธุรกิจใหม่ (new business models) และการใช้เทคโนโลยีมาช่วยสนับสนุนช่องทางขายให้มากขึ้นกว่าปัจจุบัน เพื่อตอบโจทย์วิถีการค้าแบบ new normal
นี่คือ รายงานสรุปการส่งออกปี ๖๓ และทิศทางการส่งออกปี ๖๔ โดยสิ่งท้าทายที่ไทยต้องเร่งพัฒนา ได้แก่ความสามารถในการแข่งขัน ยกระดับสินค้าส่งออก ปรับรูปแบบสินค้า เพิ่มมูลค่า เน้นเทคโนโลยี และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ
สุดท้ายนี้ สุขสันต์วันปีใหม่อย่าง new normal ด้วยการ “สวมหน้ากากอนามัย ไม่ไปที่แออัด หมั่นล้างมือบ่อยนัก รักษาระยะห่าง” แล้วเราจะก้าวข้ามโควิดไปด้วยกันอย่างปลอดภัยนะครับ

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ