เรื่องเล่าด่านรันตู ประจำวันที่ 30 ธันวาคม 2563

เรื่องเล่าด่านรันตู ประจำวันที่ 30 ธันวาคม 2563

วันที่นำเข้าข้อมูล 30 ธ.ค. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 27 พ.ย. 2565

| 433 view

เช้านี้ มีผู้ลงทะเบียนกลับไทยวันที่ ๓๐ ธ.ค. ๖๓ จำนวน ๒๐ คน
การแพร่ระบาดโควิดใน มซ. วันที่ ๒๙ ธ.ค. มีสถิติสูงกว่าเมื่อวาน โดยมียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ ๑,๙๒๕ คน อยู่ในรัฐกลันตัน ๓๑ คน รัฐตรังกานู ๒ คน และมีผู้ติดเชื้อสะสม ๑๐๘,๖๑๕ คน ผู้เสียชีวิตสะสม ๔๕๗ คน (เพิ่มขึ้น ๒ คน) (สถิติข้อมูลการระบาดโควิด รูป ๑)
ตอนนี้ ทั่วโลกกำลังคลำหา “ทางออก” จากวิกฤตโควิด เพื่อให้ผ่านพ้น “โควิดานุภาพ” ที่ทำให้โลกสะท้าน ไทยสะเทือน ซึ่งการส่งออกเป็นหนทางหนึ่ง และดูเหมือน มซ. กำลังมุ่งสู่ “หลักไมล์” แห่งการฟื้นฟู ศก. นั้น
เรื่องเล่าด่านรันตู วันนี้ขอเสนอเรื่อง “ส่งออกของ มซ. เติบโตติดต่อ ๓ เดือน” ตามที่ นสพ. The Star ฉบับวันที่ ๒๙ ธ.ค. ๒๐๒๐ รายงานข่าว “การค้าฟื้นตัวในปี ๒๐๒๑” (ข่าว นสพ. รูป ๒)
มซ. มีการส่งออกที่เพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ ๓ ติดต่อกัน ซึ่งคาดว่า การค้าระหว่างประเทศของ มซ. จะฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในปี ๒๐๒๑ พร้อมกับความคาดหวังของการฟื้นตัวของการค้าโลกที่จะได้รับแรงหนุนจากการกลับสู่สภาวะปกติในห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก
ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ BIMB (Bank Islam Malaysia Berhad) กล่าวว่า ปัจจัยหนุนมาจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ทั่วโลกสำหรับการผลิตและสินค้าโภคภัณฑ์ โดยคาดหวังจากการฟื้นตัวทาง ศก. หลังการมีวัคซีน และเสริมว่า กำลังการผลิตสำรองและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สามารถแข่งขันได้จะเป็นแรงผลักดันที่จะสนับสนุนการฟื้นตัวของ อก. ที่มุ่งเน้นการส่งออก ความต้องการทั้ง ๒ ภาคส่วนจะได้รับแรงหนุนจากมาตรการทางการเงินและการคลัง เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภค (Robust Recovery รูป ๓)
“เมื่อพ้นจากอาการช็อคและผลกระทบของโควิด-๑๙ เชื่อว่า ปท. ต่างๆ จะกลับมาดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่จะส่งผลให้เกิดการค้ามากขึ้นในปีหน้า”
BIMB คาดการณ์ว่า การเติบโตของการส่งออกและการนำเข้าของ มซ. จะดีดตัวขึ้นเป็น ๗.๒% เมื่อเทียบปีต่อปี (y-o-y) และ ๘% ตามลำดับในปี ๒๐๒๑ การเกินดุลการค้าคาดว่าจะยังคงฟื้นตัวได้ดีโดยได้รับผลจากการฟื้นตัวของการส่งออก แม้ว่าสิ่งนี้จะถูกระงับด้วยการฟื้นตัวของการนำเข้าเงินทุน ส่วนความต้องการในการลงทุนคาดว่าจะฟื้นตัวโดยเฉพาะอย่างยิ่งในครึ่งปีหลังท่ามกลางการเติบโตของโลกที่อาจเร่งตัวขึ้นตามด้วย
ก. การค้าและอก. ระหว่างประเทศ (MITI ) มซ. เผยสถิติการค้าต่างประเทศเดือน พ.ย. เพิ่ม ๔.๓% เทียบเป็นรายปี มูลค่า ๘๔.๔๓ พันล้านริงกิต จากการส่งออกไปสหรัฐ สป. จีนและฮ่องกงเพิ่มขึ้น เป็นเดือนที่ ๓ ติดต่อกันที่ มซ. ส่งออกเพิ่มขึ้น แม้ว่าหากเปรียบเทียบเดือนต่อเดือนกับเดือน ต.ค. จะลดลงจริง ๗.๒๗% ขณะที่การนำเข้าในเดือน พ.ย. ๖๗.๖๑ พันล้านริงกิต ลดลง ๙% มีมูลค่าการค้ารวม ๑๕๒.๐๔ พันล้านริงกิต หลังจากหดตัว ๒% (Manufacturing on growth path รูป ๔)
การเกินดุลเพิ่มขึ้น ๑๕๑.๖% (ปีต่อปี) มูลค่า ๑๖.๘๒ พันล้านริงกิต มูลค่าเกินดุลเดือน พ.ย.นับเป็นยอดสูงสุดโดยในช่วง ๑๑ เดือนแรกของปี ๒๐๒๐ การเกินดุลการค้าเพิ่มขึ้นเป็น ๒๓.๑% มูลค่า ๑๖๓.๘๖ พันล้านริงกิต เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี ๒๐๑๙ (ตลาดส่งออกของ มซ. รูป ๕)
การค้ารวมมีมูลค่า ๑.๖๑ ล้านล้านริงกิต ลดลง ๔.๖% การส่งออกมีมูลค่า ๘๘๕.๐๒ พันล้านริงกิต โดยหดตัว ๒.๖% ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า ๗๒๑.๑๖ พันล้านริงกิต ลดลง ๗%”
การส่งออกภาคการผลิตเพิ่มขึ้น ๘.๑% (ปีต่อปี) มูลค่า ๗๔.๓๔ พันล้านริงกิต คิดเป็น ๘๘.๑% ของการส่งออกทั้งหมด เป็นผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (E&E) และผลิตภัณฑ์ยางที่เพิ่มขึ้น คิดเป็น ๔๐.๔% และ ๖.๑% ของการส่งออกทั้งหมดตามลำดับ โดยการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางมีผลประกอบการที่ยืดหยุ่นเติบโตติดต่อกัน ๑๓ เดือน (การส่งออกน้ำมันปาล์มและยาง รูป ๖)
สินค้า อก. อื่นๆ ได้แก่ solid state storage devices ผลิตภัณฑ์ไม้ อุปกรณ์ออปติคอลและวิทยาศาสตร์ ขณะที่การส่งออกสินค้า กษ. (สัดส่วน ๖.๗% ของการส่งออก) ส่งออกเพิ่มขึ้น ๖% มูลค่า ๕.๖๕ พันล้านริงกิต โดยส่งออกน้ำมันปาล์มและผลิตภัณฑ์ กษ. ที่ใช้น้ำมันปาล์มได้เพิ่มมากขึ้น
การส่งออกแร่ลดลง ๓๔.๖% (ปีต่อปี) มูลค่า ๔.๑๕ พันล้านริงกิต ตามการส่งออกที่ลดลงของก๊าซเหลว (LNG) ปิโตรเลียมดิบ petroleum condensates และน้ำมันปิโตรเลียมอื่น ๆ (สัดส่วน ๔.๙% ของการส่งออกเดือน พ.ย.)
หน. สำนักสถิติ Dr. Uzir Mahidin กล่าวว่า การเติบโตของการส่งออกได้รับแรงหนุนจากการส่งออกต่อ (re-export) โดยเพิ่มขึ้น ๑๘.๑% เป็น ๑๕.๔ พันล้านริงกิต (สัดส่วน ๑๘.๒% ของการส่งออกทั้งหมด) ขณะเดียวกันมูลค่าการส่งออกใน ปท. ๖๙.๑ พันล้านริงกิต เพิ่มขึ้น ๑.๗% เมื่อเทียบกับ พ.ย. ๒๐๑๙
การนำเข้ามีมูลค่า ๖๗.๖ พันล้านริงกิต ลดลง ๙% เป็นเดือนที่ ๙ ติดต่อกันนับตั้งแต่เดือน มี.ค. ปีนี้ การนำเข้าที่ลดลงอย่างมากส่งผลให้การค้า มซ. เกินดุล ๑๖.๘ พันล้านริงกิต ซึ่งเพิ่มขึ้น ๑๕๑.๖% ปีต่อปี
Dr.Uzir ชี้แจงว่า ยอดการค้ารวมของ มซ. ที่ลดลง ๒% เดือน พ.ย. มูลค่า ๑๕๒ พันล้านริงกิต นั้น จากผลกระ ทบจากวิกฤตโควิด
ด้านการค้าของ มซ. กับจีนและสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่ง มูลค่า ๓๐.๐๖ และ ๑๕.๔๒ พันล้านริงกิต ตามลำดับ
มซ. ส่งออกไปจีนเพิ่ม ๑๓.๒% มูลค่า ๑๔.๒๓ พันล้านริงกิต โดยส่งออกผลิตภัณฑ์ E&E เพิ่มขึ้น ขณะที่นำเข้าจากจีนลดลง ๔.๕% มูลค่า ๑๕.๘๓ พันล้านริงกิต โดยการค้ากับจีนมีสัดส่วน ๑๙.๘% ของการค้าทั้งหมดของ มซ.
ขณะที่ มซ. ส่งออกสหรัฐเพิ่ม ๒๔.๖% มูลค่า ๙.๗๖ พันล้านริงกิตในเดือนพ. ย. ซึ่งเติบโตติดต่อเป็นเดือนที่ ๖ โดยส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์ E&E และผลิตภัณฑ์ไม้ การนำเข้าจากสหรัฐฯ ลด ๑๑.๑% มูลค่า ๕.๖๖ พันล้านริงกิต
BIMB กล่าวว่า ศก. จีนที่กลับมาแข็งแกร่งช่วยเพิ่มความคาดหวังกับ มซ. เนื่องจากจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของ มซ. นอกจากนี้ เป็นที่คาดหวังว่า การรวมตัวกันในระดับภูมิภาคจะส่งเสริมการค้าการลงทุนให้เพิ่มขึ้นด้วย โดยเฉพาะความตกลงหุ้นส่วนทาง ศก. ระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ที่เพิ่งลงนามโดย มซ. กับอีก ๑๔ ปท. (FDI seen reviving gradually รูป ๗)
MIDF Research กล่าวว่า การส่งออกกำลังฟื้นตัว หลังจากธุรกิจได้กลับมาดำเนินตามปกติทั่วโลก โดยเฉพาะการฟื้นตัว ศก. ในจีน ขณะที่การนำเข้าซึ่งติดลบอย่างต่อเนื่อง ยังฟื้นตัวอย่างซบเซา เนื่องจากผลประกอบการของ อก. ผลิตสินค้าและเงินทุนยังอ่อนแอ ซึ่งบ่งชี้ว่า ผู้ผลิตใน ปท. ส่วนใหญ่ยังไม่ไว้ใจในการฟื้นตัวของ ศก. มากนัก
ทั้งนี้คาดการณ์ว่า ทั้งการส่งออกและการนำเข้าจะฟื้นตัวขึ้นเป็น ๕.๓% และ ๖% ปีต่อปี ตามลำดับจากการฟื้นตัวของ ศก. โลกและการค้าระหว่างประเทศ
นี่คือสภาวะการส่งออกของ มซ. ที่เพิ่มต่อเนื่อง ๓ เดือนโดยส่งออกสินค้าที่หลากหลายทั้ง อก. และ กษ. รวมถึงกลยุทธ์การส่งออกต่อ (re-export) ที่ทำให้การส่งออกปรับตัวดีขึ้น ตามการฟื้นตัวของ ศก. โลก โดยเฉพาะ ศก. จีน

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ