วันที่นำเข้าข้อมูล 5 ม.ค. 2564
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 24 พ.ย. 2565
เช้านี้ มีผู้ลงทะเบียนกลับไทยวันที่ ๔ ม.ค. ๖๔ จำนวน ๘ คน
ขอรายงานการแพร่ระบาดโควิดใน มซ. ช่วงหยุดเทศกาลปีใหม่ ดังนี้
วันที่ ๓๑ ธ.ค. ๖๓ มีสถิติยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ ๒,๕๒๕ คน อยู่ในรัฐกลันตัน ๓๗ คน รัฐตรังกานู ๑๗ คน และมีผู้ติดเชื้อสะสม ๑๑๓,๐๑๐ คน ผู้เสียชีวิตสะสม ๔๗๑ คน (เพิ่มขึ้น ๘ คน)
วันที่ ๑ ม.ค. ๖๔ มีสถิติยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ ๒,๐๖๘ คน อยู่ในรัฐกลันตัน ๕๓ คน รัฐตรังกานู ๑๔ คน และมีผู้ติดเชื้อสะสม ๑๑๕,๐๗๘ คน ผู้เสียชีวิตสะสม ๔๗๔ คน (เพิ่มขึ้น ๓ คน)
วันที่ ๒ ม.ค. มีสถิติยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ ๒,๒๙๕ คน อยู่ในรัฐกลันตัน ๒๖ คน รัฐตรังกานู ๑๖ คน และมีผู้ติดเชื้อสะสม ๑๑๗,๓๗๓ คน ผู้เสียชีวิตสะสม ๔๘๓ คน (เพิ่มขึ้น ๙ คน)
วันที่ ๓ ม.ค. มีสถิติน้อยกว่าเมื่อวาน โดยมียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ ๑,๗๐๔ คน อยู่ในรัฐกลันตัน ๔๗ คน รัฐตรังกานู ๔ คน และมีผู้ติดเชื้อสะสม ๑๑๙,๐๗๗ คน ผู้เสียชีวิตสะสม ๔๙๔ คน (เพิ่มขึ้น ๑๑ คน) (สถิติข้อมูลการระบาดโควิด รูป ๑)
สวัสดีปีใหม่ ๒๕๖๔ ครับ ในโอกาสขึ้นปีฉลูนี้ ผมขออวยพรให้ผู้อ่านทางบ้านทุกท่านปลอดภัยจากโควิด หวังสิ่งใด ขอให้สมดังปรารถนาทุกประการตลอดปี ๒๕๖๔ และขออนุญาต “รีสตาร์ท” คอลัมน์ หลังเทศกาลปีใหม่ ๒๕๖๔ อีกครั้ง
เรื่องเล่าด่านรันตู วันนี้ขอเสนอข่าวแรกของปีด้วยเรื่อง “รถไฟความเร็วสูงกัวลาลัมเปอร์ – สป. ไปไม่ถึงฝัน” โดยช่วงต้นปี ข่าวที่สะเทือนคาบสมุทรมลายูและสะท้อนถึงการ “พ่นพิษ” ของโควิด ก็คือ การยกเลิกโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม มซ.-สป. หรือ Kuala Lumpur-Singapore high-speed rail (HSR) (รายงานข่าว รูป ๒)
ล่าสุด สป. ระบุว่า มซ. เป็นหนี้ชดเชยให้กับ สป. สำหรับการยกเลิกโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมระหว่างกัวลาลัมเปอร์ – สป. โดยก่อนนี้ทาง มซ. ระบุว่า โครงการรถไฟความเร็วสูง (HSR) เส้นทางดังกล่าวไม่สามารถดำเนินการได้อีกต่อไป เนื่องจากสถานการณ์ทาง ศก. สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงนั้น เดิมมีเป้าหมายที่จะเปิดใช้ภายในปี ๒๕๖๙ และคาดว่าจะลดเวลาเดินทางระหว่างกัวลาลัมเปอร์กับ สป. เหลือเพียง ๙๐ นาที เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันครับ (มซ.แจงพิษ ศก. รูป ๓)
นสพ. The Star รายงานว่า เมื่อ ๑ ม.ค. ๖๔ รมต. สนร. (ศก.) มุสตาปา (ต็อกปา) แถลงว่า ข้อตกลงทวิภาคีปี ๕๙ ระหว่าง มซ. และ สป. เกี่ยวกับโครงการรถไฟความเร็วสูง ที่จะเชื่อมกัวลาลัมเปอร์และ สป. ไม่สามารถดำเนินการได้อีกต่อไป เนื่องจากสถานการณ์ทาง ศก. จึงนำไปสู่การยุติในที่สุด (รมต. มุสตาปา รูป ๔)
พร้อมระบุว่า สถานการณ์ ศก. ในปัจจุบันส่งผลเสียต่อฐานะการคลังของ มซ. ตั้งแต่ปลายปี ๖๑ รบ. ได้สำรวจทางเลือกต่างๆ เพื่อลดต้นทุนของโครงการ และเป็นเรื่องเร่งด่วนมากขึ้น เมื่อเริ่มมีการระบาดของโควิด-๑๙ (KL-SG HSR Gallery รูป ๕)
ตั้งแต่กลางปีที่แล้ว พวกเขาได้เสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงโครงการ ที่รวมถึงโครงสร้างโครงการ การจัดตำแหน่ง และการออกแบบสถานี โดยโครงสร้างโครงการใหม่คาดว่าจะช่วยให้ รบ. มีความยืดหยุ่นในการจัดหาทางเลือกทางการเงิน เช่น การชำระเงิน ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน และความเป็นไปได้ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในอัตราที่ดี (สถานีชุมทาง HSR รูป ๖)
ต่อมาวันเดียวกันนี้ ก. คมนาคม สป. ได้แถลงการณ์ระบุว่า การปล่อยให้ข้อตกลงทวิภาคี โครงการรถไฟความเร็วสูงที่จะเชื่อมกัวลาลัมเปอร์และ สป. สิ้นสุดลง มซ. ต้องชดใช้ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นให้กับ สป. ในการปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว แต่ยังไม่มีการเปิดเผยตัวเลข
อดีต นรม. นาจิบ ที่เป็นสักขีพยานในข้อตกลงทวิภาคีกับ สป. ในโครงการดังกล่าวเมื่อ ธ.ค. ๕๙ ระบุว่า ตัวเลขของการชดเชยจะมีมูลค่าอย่างน้อย ๓๑๐ ล้านริงกิต หรือประมาณ ๒,๓๐๐ ล้านบาท
ก่อนหน้านี้ การก่อสร้างโครงการ HSR ถูกระงับตั้งแต่เดือน ก.ย. ๒๕๖๑ ถึง ๓๑ ธ.ค. ๒๕๖๓ โดย มซ. ได้ชดเชยให้ สป. ๑๕ ล้านเหรียญสิงคโปร์ หรือราว ๓๓๓ ล้านบาท สำหรับการระงับโครงการฯ เป็นเวลาประมาณ ๒ ปี จนถึง ๓๑ พ.ค. ๖๓ ในเดือน พ.ค. รบ. ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะขยายการเลื่อนเวลาไปจนถึงวันที่ ๓๑ ธ.ค.ในปีเดียวกัน ก่อนจะประกาศยกเลิกเมื่อ ๑ ม.ค. ๖๔ (เส้นทาง HSR รูป ๗)
สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางนี้ เดิมนั้นมีเป้าหมายที่จะเปิดใช้ภายในปี ๒๕๖๙ และคาดว่าจะลดเวลาเดินทางระหว่างกัวลาลัมเปอร์และสิงคโปร์เหลือเพียง ๙๐ นาที โดยเส้นทางมีความยาว ๓๕๐ กม. อยู่ใน มซ. ๓๓๕ กม. และ ใน สป. ๑๕ กม. โครงการนี้มีมูลค่าประมาณ ๓๗๑,๐๕๐ ล้านบาท
ขณะที่มีรายงานเช่นกันว่า รบ. มซ. จะศึกษาความเป็นไปได้ที่จะผันโครงการ HRS มาเป็นการทำเองภายใน ปท. แต่เปลี่ยนปลายทางจากสถานีจูรง อีสต์ สิงคโปร์ มาเป็นที่รัฐยะโฮร์-บารู
อย่างไรก็ตาม นาย YS Chan ทปษ. ด้านคมนาคมขนส่ง กล่าวว่า หาก มซ. จะเดินหน้าทำโครงการเครือข่ายรางไฮสปีดต่อไปลำพัง ภายใน ปท. จะไม่มีทางคุ้มทุน และจะลงเอยโดยไม่ใช้ประโยชน์
การยกเลิกโครงการ ส่งผลกระทบต่อทั้ง ๒ ชาติ โดยเฉพาะต่อความเชื่อมั่นการลงทุนใน มซ. และ คสพ. ระหว่าง มซ. กับ สป. หลังจากนี้ต้องดูว่าจะนำไปสู่ข้อขัดแย้งอื่นๆ ที่ตามมาหรือไม่
รวมทั้งโครงการนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของแผน “One Belt One Road (๑ แถบ ๑ เส้นทาง) ของจีนด้วย ดังนั้นต้องดูท่าทีของจีนในเรื่องนี้เช่นกัน
การสะดุดล้มพับของโครงการรถไฟความเร็วสูงกัวลาลัมเปอร์ –สป. ถือเป็นการ “ออกอาการ” เซ่นโควิด ซึ่งนอกจากสร้างความสะเทือนบนคาบสมุทรมลายูแล้ว ยังส่งแรงกระเพื่อมต่อการสร้างความ “เชื่อมโยง” (connectivity) ศก. การเมืองและ คสพ. ทั้งระดับทวิภาคีและภูมิภาคด้วย
รูปภาพประกอบ