วันที่นำเข้าข้อมูล 14 มิ.ย. 2555
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
ข้อมูลพื้นฐานรัฐตรังกานู
1. ประวัติย่อรัฐตรังกานู
ด้วยที่ตั้งของรัฐตรังกานูที่ติดกับทะเลจีนใต้ทำให้ตรังกานูกลายเป็นเส้นทางการค้าขายตั้งแต่อดีตกาลเดิม ตรังกานูได้รับวัฒนธรรมและความเชื่อมาจากศาสนาฮินดูเป็นหลายร้อยปีก่อนที่จะ ได้รับอิทธิพลจากศาสนาอิสลามซึ่งถือเป็นรัฐแรกในมาเลเซียที่ได้รับอิทธิพล ดังกล่าว
เมื่อปี ค.ศ. 1724 (พ.ศ. 2267) ตรังกานูได้อยู่ภายใต้การปกครองของระบบสุลต่าน โดยมีสุลต่านองค์แรก คือ Sultan Zanial Abidin ต่อมาในช่วงศตวรรษที่ 19 ตรังกานูตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของไทย จนกระทั่งเมื่อปี 1909 ตรังกานูได้ตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษหลังจากมีการลงนาม Anglo-Siamese Treaty of 1909
ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นได้ยึดคาบสมุทรมลายูเป็นผลสำเร็จ ตรังกานู กลันตัน เคดาห์ และเปอร์ลิส ถูกโอนกลับคืนสู่ไทย หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เสร็จสิ้นลง ตรังกานูได้กลับคืนสู่การปกครองของอังกฤษ
ในปี ค.ศ. 1948 (พ.ศ. 2491) ตรังกานูได้รวมเข้าอยู่ในสหพันธ์มาลายา ซึ่งได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี ค.ศ. 1957 (พ.ศ. 2500)
2. ที่ตั้ง
ตรังกานูตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของคาบสมุทรมลายู มีพื้นที่ทั้งหมด 12,955 ตารางกิโลเมตร ทิศเหนือจรดรัฐกลันตัน ทิศใต้จรดรัฐปาหัง ทิศตะวันออกจรดทะเลจีนใต้ และหมู่เกาะเปร์เฮินเตียน (Perhentian Islands) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรัฐนี้ด้วย
3. ประมุขของรัฐ
ก่อนปี 2550 ประมุขของรัฐตรังกานูคือ สุลต่าน Duli Yang Maha Mulia Al Wathiqu Billah, Al-Sultan Mizan Zanial Abidin Ibni Almarhum Al-Sultan Mahmud Al-Muktafi Billah Shah Al-Haj พระองค์ประสูติเมื่อวันที่ 22 มกราคม ค.ศ. 1962 ที่พระราชวัง Istana Al-Muktafi เมืองกัวลาตรังกานู
หลังสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมต้นจาก Sultan Sulaiman ในเมืองกัวลาตรังกานู พระองค์ได้ทรงเสด็จไปรับการศึกษาต่อยัง Geelong Grammar School ประ เทศออสเตเรีย และทรงสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจาก Allinat International University ประเทศอังกฤษ และได้รับการสถาปนาเป็นสุลต่านสืบแทนพระราชบิดาซึ่งเสด็จสวรรคตในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระราชาธิบดีในวันที่ 15 พฤษภาคม ค.ศ. 1998 ซึ่งถือได้ว่าพระองค์ทรงเป็นสุลต่านมีพระชนม์มายุน้อยที่สุดในระบบสุลต่านมาเลเซีย พระองค์ทรงอภิเษกสมรสกับ Sultanah Nur Zahirah เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ค.ศ. 1996 ปัจจุบันทรงมีพระโอรส 2 พระองค์ และพระธิดา 2 พระองค์ คือ Tengku Nadhirah Zaharah, Tengku Muhammad Ismail, Tengku Muhammad Mu’Az และ Tengku Fatimatuz Zahra
สุลต่าน Al Wathiqu Billah Tuanku Mizan Zanial Abidin Ibni Almarhum Sultan Mahmud Al-Muktafi Billah Billah Shah ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระราชาธิบดี องค์ที่ 13 ของมาเลเซีย เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2549 ดังนั้น ในระหว่างที่พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งดังกล่าว จึงต้องมีการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการขึ้นแทน ซึ่งได้แก่เจ้าชาย Muhammad Ismail ซึ่งเป็นพระโอรสองค์โต แต่เนื่องจากพระองค์มีพระชันยาเพียง 8 ปี จึงมีคณะที่ปรึกษาของผู้สำเร็จราชการ (Regency Advisory Council – Majilis Penasihat Pemangku Raja) ซึ่งมี Raja Tengku Baderulzaman พระอนุชาของสมเด็จพระราชาธิบดี เป็นหัวหน้าคณะ
4. ประชากร
จากการสำรวจมโนประชากรในปี ค.ศ. 2005 (พ.ศ. 2548) รัฐตรังกานูมีประชากรทั้งสิ้น 1,055,943 คน
โดยแยกเป็นเชื้อชาติต่างๆ ดังนี้
มาเลย์ 1,001,034 คน (94.8%)
จีน 27,455 คน (2.6%)
อินเดีย 2,112 คน (0.2%)
อื่นๆ 25,342 คน (2.4 %)
5. สภาพเศรษฐกิจ
ตรังกานูเดิมเคยจัดอยู่ในกลุ่มรัฐที่ยากจนที่สุดในบรรดารัฐต่างๆ ของมาเลเซีย การค้นพบน้ำมันและก๊าซในชายฝั่งเมื่อปี 1974 (2517) ทำให้อุตสาหกรรมปิโตรเลียมและก๊าซกลายเป็นอุตสาหกรรมหลักในตรังกานู มีศูนย์รวมปิโตรเคมีตั้งอยู่ใกล้เมืองปากา (Paka) และเกอร์เตะห์ (Kerteh) โดยมีบริษัทน้ำมันแห่งชาติของมาเลเซีย Petronas และบริษัทข้ามชาติเป็น joint ventures อุตสาหกรรมที่สำคัญรองลงมา ได้แก่ การท่องเที่ยว การทำประมงตลอดแนวชายฝั่ง 225 กิโลเมตร รวมถึงการเกษตรโดยผลไม้เศรษฐกิจที่ปลูกทั่วไปในตรังกานู ได้แก่ กล้วย ลองกอง ทุเรียน แมงโต และผลไม้และผักตามฤดูกาลอื่นๆ เป็นต้น นอกจากนี้ ตรังกานูยังมีชื่อเสียงในเรื่องของการต่อเรือไม้แกะสลักแบบท้องถิ่นที่เรียก ว่า บาเงา (Bangau) ซึ่งชาวบ้านใช้เป็นเรือในการทำประมงก่อนที่จะเปลี่ยนมาใช้เรือติดเครื่องยนต์อย่างเช่นในปัจจุบัน
6. เขตการปกครอง
ตรังกานูมีกัวลาตรังกานูเป็นเมืองหลวง และแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 7 เขต คือ
1. อำเภอบือสุต (Besut)
2. อำเภอดูงุน (Dungun)
3. อำเภอฮูลูตรังกานู (Hulu Terengganu)
4. อำเภอกิมามัน (Kemaman)
5. อำเภอกัวตรังกานู (Kuala Terengganu)
6. อำเภอมารัง (Marang)
7. อำเภอเสติยู (Setiu)