เรื่องเล่าด่านรันตู ประจำวันที่ 09 มีนาคม 2564

เรื่องเล่าด่านรันตู ประจำวันที่ 09 มีนาคม 2564

วันที่นำเข้าข้อมูล 10 มี.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 235 view

เช้านี้ ไม่มีผู้ลงทะเบียนกลับไทยวันที่ ๙ มี.ค. ๖๔
วันที่ ๘ มี.ค. มียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ ๑,๕๒๙ คน โดยอยู่ในรัฐกลันตัน ๒๘ คน รัฐตรังกานู ๑๓ คน มีผู้ติดเชื้อสะสม ๓๑๔,๙๘๙ คน และผู้เสียชีวิตสะสม ๑,๑๗๗ คน (เพิ่มขึ้น ๘ คน) (สถิติข้อมูลการระบาดโควิด รูป ๑)
เหม่อมองกระดานดัชนีราคาน้ำมันปาล์มดิบที่ดีวันดีคืน แต่ผู้ส่งออกน้ำมันปาล์ม มซ. ก็ได้แต่มองตาปริบๆ เนื่องจาก ขาด รง. ตัดปาล์ม
เรื่องเล่าด่านรันตูวันนี้ ขอเสนอเรื่อง “ชาวสวนปาล์มเรียกร้อง รบ. แก้ปัญหาด่วน” ตามรายงานของ นสพ. The Star ฉบับวันที่ ๙ มี.ค. ๒๐๒๑ โดยเฉพาะเรื่องการขาดแคลน รง. อย่างรุนแรง (น้ำมันปาล์มขวด รูป ๒)
สมาคมปาล์มน้ำมันทั่วประเทศของ มซ. ได้ยื่นคำร้องต่อ รบ. เพื่อแก้ไขปัญหาที่กำลังประสบอย่างเร่งด่วน เช่นการขาดแคลน รง. อย่างรุนแรงในปัจจุบัน ภาระการจ่ายภาษีส่วนท้องถิ่นและการจัดเก็บภาษี รวมถึงการเข้าถึงตลาดที่ลดความสามารถในการแข่งขันของ อก. ปาล์มน้ำมัน
คำร้องนี้เป็นแถลงการณ์ร่วมของ ๑๒ สมาคม ได้แก่ สมาคมน้ำมันปาล์มแห่ง มซ. สมาคมเจ้าของนิคมสวนปาล์มของ มซ. สมาคมผู้ปลูกรายย่อยแห่งชาติ สมาคมเจ้าของสวนปาล์มน้ำมันซาราวัก สมาคมผู้สกัดน้ำมันปาล์ม สมาคมผู้กลั่นน้ำมันปาล์มแห่ง มซ. สมาคมผู้ผลิต Oleochemical ของ มซ. สมาคมผู้ผลิตน้ำมันบริโภค มซ. สมาคมผู้ปลูกพืช สมาคมผู้ผลิตการเกษตร มซ. สมาคมที่ปรึกษานายจ้างซาบาห์ และสมาคมการเกษตรเขต Tawau (รง. ในสวนปาล์ม รูป ๓)
ข้อเรียกร้องต่อ รบ. ในลำดับต้นๆ คือ การแก้ไขปัญหาการขาด รง. โดยเฉพาะ รง. ตัดปาล์มในนิคมปาล์มน้ำมัน โดยเรียกร้อง รบ. ให้พิจารณาอนุญาตให้ รง. ต่างด้าว ซึ่งปัจจุบันกลับ ปท. ของตน ได้กลับไปทำงานใน มซ. ได้ การระงับการนำเข้า รง. ต่างด้าวในปัจจุบันสืบเนื่องจากการระบาดของโควิด-๑๙ โดยไม่มี รง. ทดแทน (replacement) ทำให้ภาคการเพาะปลูกในพื้นที่อยู่ในภาวะคับขัน
“หากไม่มีการจัดหา รง. ทดแทน (replenish) อย่างเพียงพอ ในฤดูกาลเก็บเกี่ยวที่สูงสุดภายในกลางปีนี้ ผลที่ตามมาจะเป็นการสูญเสียการผลิตครั้งใหญ่ โดยผลผลิตของประเทศโดยรวมจะต่ำกว่าศักยภาพ”
สมมติว่า ราคาน้ำมันปาล์มดิบ (crude palm oil : CPO) และน้ำมันเมล็ดในปาล์มดิบ (crude palm kernel oil : CPKO) มีราคา ๓,๐๐๐ ริงกิตและ ๑,๘๐๐ ริงกิต/ตันตามลำดับ สมาคมกล่าวว่า จะมีโอกาสสูญเสียรายได้ประมาณ ๑๑.๘๓ พันล้านริงกิตและกำไร ๔.๓๗ พันล้านริงกิต เป็นประจำทุกปี
รบ. จะสูญเสียรายได้จากภาษีเงินได้ประมาณ ๘๙๖ ล้านริงกิต/ปี โดยมีอัตราภาษีนิติบุคคลเฉลี่ยประมาณ ๒๐.๕% เนื่องจากครึ่งหนึ่งของกำไรเป็นรายได้จาก SMEs ซึ่งจ่ายอัตราภาษี ๑๗% สำหรับผลกำไร ๖๐๐,๐๐๐ ริงกิตแรก (ชาวสวนปาล์ม รูป ๔)
ขณะเดียวกัน ภาษีส่วนท้องถิ่น (cess) ของคณะกรรมการน้ำมันปาล์มแห่ง มซ. (Malaysian Palm Oil Board : MPOB) และภาษีอื่นๆ ก็เป็นภาระกับชาวสวนปาล์มเช่นกัน สมาคมได้เรียกร้องให้มีการทบทวนโครงสร้างการจัดเก็บภาษีในปัจจุบัน ซึ่งครอบคลุมถึงการจัดเก็บภาษีจากผลกำไร (windfall profit levy : WPL) ภาษี MPOB ตลอดจนภาษีสินค้าของรัฐ (state sales taxes : SST) ในรัฐซาบาห์และซาราวัก
“เราขอให้ยกเลิกการจัดเก็บภาษีจากผลกำไร (WPL) อย่างไรก็ตาม หากไม่สามารถยกเลิกได้ เราขอให้ รบ. พิจารณาทบทวนขั้นต่ำสุด (threshold level) จากภาษีตั้งต้น เพิ่มเป็น ๓,๕๐๐ และ ๔,๐๐๐ ริงกิตตามลำดับ ซึ่งจะมีลักษณะใกล้เคียงกับแนวคิดเรื่องเก็บภาษีจากผลกำไร โดยภาษี WPL ขั้นต่ำสุดในปัจจุบันคือ ๒,๕๐๐ ริงกิต/ตัน สำหรับ CPO ในคาบสมุทรมลายูและ ๓,๐๐๐ ริงกิตในรัฐซาบาห์และซาราวัก ตามลำดับ (การตัดปาล์ม รูป ๕-๖)
ในการคิดภาษี MPOB สมาคมได้เรียกร้องว่า พวกเขาไม่ควรต้องรับภาระเพิ่ม จากเดิมที่คิดภาษี MPOB ๑๓ ริงกิต/ตัน และเพิ่มขึ้นเป็น ๑๔ ริงกิต/ตันของ CPO และ CPKO ในเดือน ม.ค. ๒๐๒๐ ต่อมาได้เพิ่มเป็น ๑๖ ริงกิต ตามประกาศ MPOB Cess (ฉบับแก้ไข) ปี ๒๐๒๐ เมื่อเร็วๆ นี้
ต้องบอกว่า ชาวสวนปาล์มยินดีที่จะจ่ายภาษีเพิ่มอีก ๓๐ ล้านริงกิต สำหรับภาษี cess ที่เพิ่ม ๒ ริงกิต/ตัน ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ ๑ มี.ค. ปีนี้ เพื่อรองรับการใช้เครื่องจักรกลและระบบอัตโนมัติสำหรับ อก. ปาล์มน้ำมัน
ทำนองเดียวกัน สมาคมต่างๆ ได้ยื่นอุทธรณ์ให้มีการทบทวนหรือยกเลิกระบบภาษีสินค้าและบริการ (Sales & Service Tax : SST) ในรัฐซาบาห์และซาราวัก
หมายเหตุ : มซ. ได้ใช้ระบบภาษีสินค้าและบริการ (SST: Sale Tax and Service Tax) ตั้งแต่วันที่ ๑ ก.ย. ๒๐๑๘ แทนระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (ซึ่ง มซ. เรียกว่า GST: Goods and Service Tax)
ในรัฐซาบาห์มีการเรียกเก็บภาษีสินค้า ๗.๕% จากการขายน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) เมื่อราคา CPO เกิน ๑,๐๐๐ ริงกิต/ตัน ขณะที่รัฐซาราวักจะเก็บภาษีการขาย CPO และ CPKO ที่ ๕% เมื่อราคา CPO สูงกว่า ๑,๕๐๐ ริงกิต/ตัน (โรงงานน้ำมันปาล์ม รูป ๗)
“ในการคำนวณ ที่ดินแปลงที่ใหญ่กว่าในรัฐซาบาห์และซาราวักจ่ายภาษีต่างๆ รวมเป็น ๔๕.๙% และ ๔๓.๒% โดยคิดจากผลกำไรทางธุรกิจของพวกเขา ซึ่งส่วนใหญ่มาจากภาษีสินค้าเหล่านี้” สมาคมกล่าวเสริม
มีการคาดการณ์ว่า ชาวสวนปาล์มท้องถิ่นมีส่วนชำระภาษี (tax) ค่าธรรมเนียม (levy) และภาษีส่วนท้องถิ่น (cess) ให้แก่ รบ. ในปี ๒๐๒๐ เป็นเงินถึง ๕.๒๘ พันล้านริงกิต โดยไม่รวมภาษีการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบ (export duties)
ด้วยราคา CPO ที่สูงขึ้นในปีนี้ สมาคมกล่าวว่า “คาดว่า ภาษีจากผลกำไร (WPL) ภาษีสินค้า (SST) ในรัฐซาบาห์และซาราวักและภาษีเงินได้ จะเพิ่มขึ้นอย่างมาก ตามสมมติฐานของเรา การจัดเก็บภาษีทั้งหมดของ อก. ในปี ๒๐๒๑ ที่คำนวณจากภาษีเงินได้ ค่าธรรมเนียม ภาษีส่วนท้องถิ่น และ SST ซึ่งไม่รวมภาษีการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบ จะอยู่ที่ประมาณ ๗,๐๐๐ ล้านริงกิตขึ้นไป ถึงกว่า ๑๒,๐๐๐ ล้านริงกิต”
ในการเข้าถึงตลาด สมาคมได้เรียกร้องให้ รบ. เร่งและลงทุนด้านทรัพยากรมากขึ้นและให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกรรมแบบรัฐต่อรัฐ (G-2-G) มากขึ้น
G-2-G ควรมุ่งเน้นไปที่ประเด็นต่างๆ เช่น การรณรงค์ต่อต้านน้ำมันปาล์มที่เพิ่มขึ้นและอย่างยั่งยืนขององค์กร NGO ด้านสิ่งแวดล้อมของตะวันตก มาตรการกีดกันทางการค้าของ รบ. ต่างชาติ ตลอดจนความคาดหวังและข้อกำหนดในการปฏิบัติตามที่เป็นจริงไม่ได้ รวมถึงเป้าหมายและแนวปฏิบัติด้านความยั่งยืนที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา (ever-changing)
วันนี้เป็นเรื่องร้องเรียนของสมาคมปาล์มน้ำมันของ มซ.ที่ขอให้ รบ. แก้ไขปัญหา ขาด รง. อย่างรุนแรง การปรับลดภาษี เพื่อให้ มซ. ยังคงความสามารถในการแข่งขันการส่งออกน้ำมันปาล์มได้ต่อไป

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ