เรื่องเล่าด่านรันตู ประจำวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564

เรื่องเล่าด่านรันตู ประจำวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564

วันที่นำเข้าข้อมูล 16 ก.พ. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 21 พ.ย. 2565

| 377 view

เช้านี้ มีผู้ลงทะเบียนกลับไทยวันที่ ๑๐ ก.พ. ๖๔ จำนวน ๑๓ คน
วันที่ ๙ ก.พ. มียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ ๒,๗๖๔ คน โดยอยู่ในรัฐกลันตัน ๖๒ คน รัฐตรังกานู ๓๔ คน มีผู้ติดเชื้อสะสม ๒๔๘,๓๑๖ คน และผู้เสียชีวิตสะสม ๙๐๙ คน (เพิ่มขึ้น ๑๓ คน) (สถิติข้อมูลการระบาดโควิด รูป ๑)
เป็นปริศนาที่คาใจคนทั่วโลกมานานว่า เชื้อไวรัสโคโรน่ามาจากไหน มีหลายทฤษฎีว่ามาจากสัตว์เช่นค้างคาว
หรือมนุษย์สร้างขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องรู้แหล่งที่มา เพื่อจะเป็นประโยชน์ในการเยียวยารักษาและป้องกันโควิดด้วย
คณะนักวิทยาศาสตร์ที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากชาติต่างๆ นำโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เข้าไปในเมืองอู่ฮั่นของจีน ซึ่งมีรายงานพบการระบาดของไวรัสโควิด-๑๙ เป็นครั้งแรก เพื่อหาต้นตอการแพร่ระบาดของไวรัสดังกล่าว โดยได้เข้าตรวจทั้งในโรงพยาบาล ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ และตลาดสด
เรื่องเล่าด่านรันตูวันนี้ ขอเสนอเรื่อง “ทีมผู้เชี่ยวชาญ WHO เผยไม่พบหลักฐานว่า จีนเป็นแหล่งที่มาของเชื้อไวรัสโคโรนา ในภารกิจเยือนจีน” ตามรายงานข่าวของ นสพ. New Straits Times ฉบับวันที่ ๙ ก.พ. ๒๐๒๐
จากภารกิจของ WHO ที่ประเทศจีนในการค้นหาแหล่งกำเนิดของไวรัสโคโรนา โดยผู้เชี่ยวชาญของ WHO ใช้เวลา ๑ เดือนใน ปท. จีนรวมทั้ง ๒ สัปดาห์ในการกักตัว ปรากฎว่า ผู้เชี่ยวชาญไม่สามารถยืนยันแหล่งที่มาของการแพร่ระบาดไปยังทั่วโลก และทีมงานได้ปฏิเสธทฤษฎีการรั่วไหลจากห้องปฏิบัติการอู่ฮั่น ซึ่งอดีต ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ได้มีการโฆษณาชวนเชื่อ (ทีมผู้เชี่ยวชาญ WHO รูป ๒)
คณะผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบที่มาที่ไปของโควิด-๑๙ ระบุว่า ค้างคาวยังคงเป็นแหล่งต้นตอที่มีความเป็นไปได้ และมีความเป็นไปได้ที่ไวรัสแพร่กระจายเชื้อผ่านอาหารแช่แข็ง โดยผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า โรคนี้มีต้นกำเนิดมาจากค้างคาวและอาจมีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นเป็นพาหะถ่ายทอดจากค้างคาวต่อมายังมนุษย์ ซึ่งล่าสุดทำให้มีผู้ติดเชื้อสะสม ๑๐๖ ล้านคน และคร่าชีวิตผู้คนไปแล้วมากกว่า ๒.๓ ล้านคนทั่วโลก (Huanan Seafood Market รูป ๓)
Peter Ben Embarek ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศขององค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวในระหว่างการแถลงข่าว สรุปผลการเยือนของทีมผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศจากองค์การอนามัยโลก ในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ยของจีนว่า การค้นหาเส้นทางของสัตว์ (animal pathway) ยังคงเป็น "งานที่ต้องดำเนินการต่อ" แต่การไม่มีค้างคาวในพื้นที่อู่ฮั่น ทำให้โอกาสในการแพร่เชื้อโดยตรงก็ลดลงด้วย
ด้วยสมมติฐานดังกล่าว จึงยังคงต้องศึกษาและวิจัยเพิ่มเติม ขณะนี้ผู้เชี่ยวชาญยังไม่สามารถชี้ชัดถึงสัตว์ที่เป็นพาหะดังกล่าวได้ เขากล่าวว่า "เป็นไปได้มากสุด" ที่จะผ่านพาหะอื่นที่ใกล้ชิด (intermediary species)
ผลการสืบสวนของทีมผู้เชี่ยวชาญไม่พบหลักฐานที่แสดงถึงการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของไวรัสโควิด-๑๙ ในเมืองอู่ฮั่นหรือในที่ใดๆ ก่อนเดือน ธ.ค. ๖๒ โดยสนับสนุนจุดยืนของจีนว่า ไม่มีหลักฐาน "การระบาดใหญ่ในอู่ฮั่น (large outbreaks)" ก่อนเดือน ธ.ค. ที่มีการพบเคสผู้ติดเชื้อครั้งแรกอย่างเป็นทางการ (การแถลงข่าว รูป ๔)
Embarek ยังปฏิเสธทฤษฎีที่ว่า “การรั่วไหลจากห้องปฏิบัติการไวรัสวิทยาในอู่ฮั่น อาจทำให้เกิดการแพร่ระบาด” โดยเขากล่าวว่า “สมมติฐานที่ว่าอุบัติเหตุจากห้องปฏิบัติการ ไม่น่าเป็นไปได้อย่างยิ่ง" และเสริมว่าไม่จำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมในอนาคต
ภารกิจนี้มีนัยยะทางการทูต ด้วยเกรงว่า เป็นการดำเนินการเพื่อล้างมลทิน (whitewash) ของจีน โดยสหรัฐฯ ได้เรียกร้องให้มีการตรวจสอบอย่าง "เข้มงวด" ขณะที่จีนได้ออกโรงเตือนไม่ให้นำการตรวจสอบนี้มาเป็นประเด็น "การเมือง" (politicize)
Liang Wannian หน. ทีมภารกิจร่วมของจีน กล่าวว่า การติดต่อผ่านสัตว์ก็มีแนวโน้มเป็นไปได้ แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุโฮสต์กักตุน (reservoir host คือ สัตว์ที่เป็นแหล่งกักตุนเชื้อโรคตามธรรมชาติ และสามารถแพร่เชื้อโรคไปยังสัตว์อื่นๆ และคนได้) การศึกษาแสดงให้เห็นว่าไวรัสสามารถ "ติดกับตัวสินค้าที่มีการควบคุมความเย็น ไปได้ในระยะทางไกล" ซึ่งดูจะเป็นหนทางของการนำเข้าเชื้อไวรัสที่เป็นไปได้ และเป็นทฤษฎีที่กล่าวถึงกันมากในจีนในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา (นาย Peter Ben Embarek รูป ๕)
อย่างไรก็ตาม จีนก็ไม่สามารถจะ “ลบล้าง” คำวิจารณ์เกี่ยวกับการจัดการการระบาดในช่วงแรกที่วุ่นวาย โดยมุ่งไปที่การดูแลเพื่อจัดการและฟื้นฟูเรื่องภายในประเทศ และอ้างทฤษฎีความเป็นไปได้ว่า ไวรัสโคโรนาอาจแพร่เชื้อจาก ปท. อื่น เข้าสู่จีนโดยผ่านอาหารแช่แข็ง
ผู้สื่อข่าวท้องถิ่นส่วนใหญ่ถูกควบคุมให้อยู่ในระยะห่างจากผู้เชี่ยวชาญ ระหว่างการออกตรวจเพื่อติดตามตรวจสอบอย่างใกล้ชิด โดยตัวอย่างของการค้นพบของพวกเขาถูกเผยแพร่ผ่านทางสื่อทวิตเตอร์และการสัมภาษณ์
เวลาผ่านไปกว่าหนึ่งปีหลังจากที่ไวรัสเกิดขึ้น บางสิ่งก็มีความสัมพันธ์ชวนน่าสงสัยเกี่ยวกับเป้าหมายที่ระบุไว้ในการค้นหาแหล่งที่มาของไวรัส ซึ่งรวมถึงการเยี่ยมชมนิทรรศการโฆษณาชวนเชื่อเพื่อเฉลิมฉลองการที่จีนฟื้นตัวจากการระบาด (Wuhan Institute of Virology รูป ๖)
ทีมผู้เชี่ยวชาญนี้ใช้เวลาเพียง ๑ ชม. ในตลาดอาหารทะเลซึ่งมีรายงานการติดเชื้อไวรัสกลุ่มแรกจำนวนมากที่เกิดขึ้นในช่วง ๑ ปีผ่านมา แต่พวกเขาใช้เวลาเกือบ ๔ ชม. ในการวิจัยเชิงลึกที่สถาบันไวรัสวิทยาอู่ฮั่น ซึ่งทีมผู้เชี่ยวชาญ WHO ได้พบกับนักวิทยาศาสตร์ชาวจีนที่นั่นรวมถึง Shi Zhengli หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญชั้นนำของจีนเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาในค้างคาวและรอง ผอ. ห้องปฏิบัติการอู่ฮั่น (นักวิจัยไวรัสวิทยา รูป ๗)
ผู้เชี่ยวชาญจาก WHO ล้วนตัดทฤษฎีที่ถกเถียงกันอยู่ว่า “โควิด-๑๙ มาจากห้องปฏิบัติการในเมืองอู่ฮั่นของจีน” ที่ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ในห้องปฏิบัติการทำการวิจัยเกี่ยวกับโรคที่อันตรายที่สุดในโลก รวมถึงไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ค้างคาวที่คล้ายกับโควิด-๑๙ ถึงแม้ว่าอดีต ปธน. โดนัลด์ทรัมป์ของสหรัฐฯ มักพูดถึงทฤษฎีที่ถกเถียงกันอยู่นี้บ่อยครั้งว่า การรั่วไหลของห้องปฏิบัติการอาจเป็นที่มาของการแพร่ระบาด
ข่าวนี้ช่วย “ล้างมลทิน” ให้กับจีน หลังจากตกเป็น “จำเลย” ในโซเชียลมีเดียนานนับปี เพราะเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ ไม่ได้หลุดออกมาจากห้องปฏิบัติการวิจัยในเมืองอู่ฮั่น ตามที่ถูกปรักปรำโดยอดีต ปธน. โดนัลด์ทรัมป์ของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ก็ยังคงต้องมีการศึกษาและวิจัยเพิ่มเติมเพื่อค้นหาว่า “เธอมาจากไหน” กันต่อไป

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ