เรื่องเล่าด่านรันตู ประจำวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2564

เรื่องเล่าด่านรันตู ประจำวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2564

วันที่นำเข้าข้อมูล 8 ก.พ. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 243 view

เช้านี้ ไม่มีผู้ลงทะเบียนกลับไทยวันที่ ๖ ก.พ. ๖๔
วันที่ ๕ ก.พ. มียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ ๓,๓๙๑ คน โดยอยู่ในรัฐกลันตัน ๕๘ คน รัฐตรังกานู ๘๔ คน มีผู้ติดเชื้อสะสม ๒๓๔,๘๗๔ คน และผู้เสียชีวิตสะสม ๘๔๕ คน (เพิ่มขึ้น ๑๙ คน) (สถิติข้อมูลการระบาดโควิด รูป ๑)
การบังคับใช้ SOP ในช่วงเทศกาลตรุษจีนถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในหมู่ชาว มซ. เชื้อสายจีน (เกี่ยวกับการอนุญาตให้เฉพาะคนในครอบครัวเดียวกันที่อยู่ในบ้านเดียวกันเท่านั้น ที่จะสามารถทำกิจกรรมไหว้เจ้าและจัดงานเลี้ยง "รวมญาติ" ได้ ) รมต. อาวุโสด้านความมั่นคง มซ. ได้ออกมาชี้แจงว่า รบ.มซ. ได้มีการหารือกับสมาคมศาสนาและวัฒนธรรมจีนจำนวน ๒๑ แห่งใน มซ. ก่อนที่จะออกประกาศ SOP ดังกล่าว อย่างไรก็ดี รบ. รับทราบถึงความไม่สบายใจของ ปชช. จำนวนหนึ่ง และขอให้กระทรวงเอกภาพแห่งชาติ มซ. รวบรวมข้อคิดเห็นและยื่นข้อเสนอปรับปรุง SOP มายัง สมช. มซ. เพื่อพิจารณาต่อไป
เรื่องเล่าด่านรันตูวันนี้ ขอเสนอเรื่อง “การกระชับ คสพ. ‘รวมกันเราอยู่’ ของ ๒ มิตร ปท. เพื่อนบ้าน” ตามรายงานของ นสพ. the New Straits Times ฉบับวันที่ ๕ ก.พ. ๒๐๒๑ (นรม. มซ. เยือน อซ. รูป ๒)
แม้ว่าการเยือน อซ. อย่างเป็นทางการจะใช้เวลาไม่ถึง ๒๔ ชม. แต่ นรม. มูห์ยิดดิน ได้แถลงว่า การเยือนครั้งนี้ประสบความสำเร็จ เป็นประโยชน์แก่ทั้ง ๒ ปท. อย่างมาก นรม. มซ. เดินทางเยือน อซ. ในเวลาอันสั้นครั้งนี้โดยคำนึงถึงการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ และได้ปฏิบัติตาม SOP อย่างเคร่งครัด (พิธีต้อนรับ รูป ๓-๔)
ในการหารือกับ ปธน. โจโก วิโดโด (Jokowi) มีการพูดคุยประเด็นต่างๆ เป็นเวลา ๑ ชม. ซึ่งได้บรรลุข้อตกลงร่วมกันด้วยดี โดย นรม. มซ. กล่าวว่า “หากเป็นการประชุมเสมือนจริง (virtual) ก็คงเป็นเรื่องยากที่จะบรรลุได้ แต่ด้วยการประชุมแบบซึ่งหน้า (face-to-face) จึงทำให้ประสบผลสำเร็จ แม้ว่าจะไม่ได้จับมือกันก็ตาม แต่ตนรู้สึกได้ถึงความอบอุ่นของการต้อนรับผ่านการแสดงออกทางกาย (body language) ที่เปี่ยมมิตร ขณะเดินสนทนา โดย ปธน. อซ. ได้บอกว่า ‘ถ้ามีอะไร ก็โทรหาตนได้ทุกวัน’..” (การประชุมผู้นำ รูป ๕-๖)
การพูดคุยระหว่างผู้นำทั้งสอง เกี่ยวข้องกับประเด็นในระดับทวิภาคี ภูมิภาคและนานาชาติ ซึ่งรวมถึงการค้าการลงทุน รง. สิ่งแวดล้อม การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ตลอดจนสถานะความเป็นอยู่ของเกษตรกรรายย่อยและชาวประมง
ในการแถลงข่าวร่วมกับ ปธน. โจโกวี นรม. มซ. ได้เรียกร้องให้ยกระดับ คสพ. ของ ๒ ปท. ขึ้นไปสู่ คสพ. เชิงยุทธศาสตร์และครอบคลุม (strategic and comprehensive) โดย คสพ. ทวิภาคีที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นจะช่วยให้ทั้ง ๒ ปท. ฟื้นฟู (revitalise) ความร่วมมือด้าน ศก. การค้าการลงทุน ในช่วงโควิด (การแถลงข่าวร่วม รูป ๗-๘)
“การเสริมสร้างความร่วมมือ สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของผู้นำทั้งสองที่จะทำงานร่วมกัน เพื่อความรุ่งเรืองร่วมกันของเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดทั้งสอง โดยได้มอบหมายให้ รมต. กต. ของทั้ง ๒ ปท. ไปหารือกัน เพื่อกำหนดสาขายุทธศาสตร์ตามการจัดลำดับความสำคัญ”
นรม. มซ. กล่าวแสดงความพึงพอใจต่อ คสพ. ทวิภาคีที่มีพัฒนาการดีขึ้นในทุกระดับ นอกจากนี้ จะเพิ่มความพยายามให้มากขึ้นในการฟื้นฟูการค้าและการลงทุนระหว่างกัน ในช่วงการระบาดของโควิด-๑๙ อีกด้วย
และได้มีการหารือเบื้องต้นในระดับคณะทำงาน โดยหวังว่า ทั้ง ๒ ฝ่ายจะมีการเจรจาร่วมกัน เพื่อจัดทำขั้นตอนการปฏิบัติตามมาตรฐาน (SOP) ในการดำเนินโครงการ “ช่องเขียวต่างตอบแทน Reciprocal Green Lane (RGL)”
ส่วนการรณรงค์ต่อต้านน้ำมันปาล์มจากทั่วโลก โดยเฉพาะในยุโรป ออสเตรเลียและกลุ่มโอเชียเนีย ทั้ง อซ. และ มซ. ในฐานะผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุด ๒ ปท. จะร่วมมือกันในการต่อสู้กับการที่น้ำมันปาล์มถูกเลือกปฏิบัติ เพื่อปกป้อง อก. น้ำมันปาล์ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรรายย่อยหลายล้านคนของทั้ง ๒ ปท. ซึ่งมีวิถีชีวิตพึ่งพา อก. นี้เพียงอย่างเดียว
ในประเด็นเมียนมา นรม. มซ. กล่าวว่า “มซ. และ อซ. มีความกังวลอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ทางการเมืองในเมียนมาขณะนี้ เนื่องจากถือเป็นความถดถอย (setback) ของกระบวนการประชาธิปไตยของ ปท. และเกรงว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเมียนมาจะส่งผลกระทบต่อสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคนี้ พร้อมเห็นด้วยกับข้อเสนอแนะให้ รมต. กต. ทั้ง ๒ ปท. ร่วมมือกันทำความเข้าใจในการจัดให้มีการประชุมอาเซียนวาระพิเศษ เพื่อหารือเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างละเอียดต่อไป”
การประชุมยังได้โยงถึงความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและหมอกควันข้ามแดนที่ส่งผลกระทบต่อทั้ง ๒ ปท. ด้วยความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่องนี้ของทั้ง ๒ ปท. สามารถแบ่งปันแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด ในการจัดการเรื่องฟาร์มพืชไร่และดินพรุ (peat soil) ด้วย
นอกจากนี้ กระทรวงที่เกี่ยวข้องทั้ง ๒ ปท. จะจัดตั้งจุดประสานงาน (focal point) เพื่ออำนวยความสะดวกในการสื่อสารเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมถึงหมอกควันข้ามแดนด้วย (ผู้นำแถลงข่าวร่วม รูป ๗-๘)
ในการประชุมยังได้หารือเกี่ยวกับการจัดหา รง. อซ. และแม่บ้าน ตลอดจนความคิดริเริ่มในการปกป้องสวัสดิการและความเป็นอยู่ของชาวประมง มซ. และ อซ. ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ที่มีข้อขัดแย้งทางทะเลด้วย
การเยือนครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของผู้นำ ๒ ปท. ที่จะทำงานร่วมกันเพื่อความเจริญร่วมกัน ซึ่งจะสะท้อนข้อเท็จจริงของการ “พึ่งพากัน” สูงมาก ตามด้วยเสียงเพรียก “รวมกันเราอยู่” การยกระดับเป็น คสพ. เชิงยุทธศาสตร์จะช่วยให้ ๒ ปท. “ฝ่าคลื่นลมแรง” มรสุมโควิดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นหรือไม่ น่าติดตามครับ

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ