คนไทยในต่างประเทศ
คนไทยในต่างประเทศ
ข้อมูลพื้นฐานของรัฐตรังกานู
1. ประวัติย่อรัฐตรังกานู
ด้วยที่ตั้งของรัฐตรังกานูที่ติดกับทะเลจีนใต้ทำให้ตรังกานูกลายเป็นเส้นทางการค้าขายตั้งแต่อดีตกาล ตรังกานูได้รับวัฒนธรรมและความเชื่อจากศาสนาฮินดูเป็นเวลาหลายร้อยปี ก่อนที่จะได้รับอิทธิพลจากศาสนาอิสลาม ซึ่งถือเป็นรัฐแรกในมาเลเซียที่ได้รับอิทธิพลดังกล่าว เมื่อปี ค.ศ. 1724 (พ.ศ. 2267) ตรังกานูอยู่ภายใต้การปกครองของระบบสุลต่าน โดยมีสุลต่านองค์แรก คือ Sultan Zainal Abidin ต่อมาในช่วงศตวรรษที่ 19 ตรังกานูอยู่ภายใต้อิทธิพลของไทย จนกระทั่งเมื่อปี ค.ศ. 1909 ตรังกานูได้เป็นเมืองขึ้นของอังกฤษหลังจากการลงนาม Anglo-Siamese Treaty of 1909 อย่างไรก็ดี ในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นได้ยึดคาบสมุทรมลายูเป็นผลสำเร็จ ตรังกานู กลันตัน เคดาห์ และเปอร์ลิส ถูกโอนกลับคืนสู่ไทย แต่หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เสร็จสิ้นลง ตรังกานูได้กลับคืนสู่การปกครองของอังกฤษ เมื่อปี ค.ศ. 1948 (พ.ศ. 2491) ตรังกานูได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธ์มาลายา ซึ่งได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี ค.ศ. 1957 (พ.ศ. 2500)
2. ที่ตั้ง
ตรังกานูตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของคาบสมุทรมลายู มีพื้นที่ทั้งหมด 1,295,638.3 ไร่ (207,302.128 เฮกตาร์) ทิศเหนือจรดรัฐกลันตัน ทิศใต้จรดรัฐปาหัง ทิศตะวันออกจรดทะเลจีนใต้ และหมู่เกาะเปร์เฮินเตียน (Perhentian Islands) ซึ่งมีชื่อเสียงและเป็นส่วนหนึ่งของรัฐนี้ด้วย
3. ประมุขของรัฐ
ประมุขของรัฐตรังกานูองค์ปัจจุบันคือ สุลต่าน Al Wathiqu Billah Tuanku Mizan Zainal Abidin Ibni Almarhum Sultan Mahmud Al-Muktafi Billah Shah ประสูติเมื่อวันที่ 22 มกราคม ค.ศ. 1962 ที่พระราชวัง Istana Al-Muktafi เมืองกัวลาตรังกานู หลังสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมต้นที่ Sekolah Sultan Sulaiman เมืองกัวลาตรังกานู ทรงศึกษาต่อที่ Geelong Grammar School ประเทศออสเตรเลีย และทรงสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ U.S. International University-Europe ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยนานาชาติแอลเลียนต์ (Alliant International University) ที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร พระองค์ได้รับการสถาปนาเป็นสุลต่านสืบแทนพระราชบิดาที่เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ค.ศ. 1998 ซึ่งถือว่า ทรงเป็นสุลต่านที่มีพระชนมายุน้อยที่สุดในระบบสุลต่านของมาเลเซีย และต่อมา ทรงอภิเษกสมรสกับ Sultanah Nur Zahirah เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ค.ศ. 1996 ทรงมีพระโอรส 2 พระองค์ และพระธิดา 2 พระองค์ ได้แก่ Tengku Nadhirah Zaharah, Tengku Muhammad Ismail, Tengku Muhammad Mu’Az และ Tengku Fatimatuz Zahra
สุลต่าน Al Wathiqu Billah Tuanku Mizan Zainal Abidin Ibni Almarhum Sultan Mahmud Al-Muktafi Billah Shah ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระราชาธิบดีองค์ที่ 13 ของมาเลเซีย ระหว่างวันที่ 13 ธันวาคม ค.ศ. 2006 ถึง 12 ธันวาคม ค.ศ. 2011 ดังนั้น ระหว่างที่พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งดังกล่าว จึงต้องแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการขึ้นแทน แต่โดยที่ Tengku Muhammad Ismail พระโอรสองค์โต มีพระชนมายุเพียง 8 ปี จึงมีคณะที่ปรึกษาของผู้สำเร็จราชการ (Regency Advisory Council – Majilis Penasihat Pemangku Raja) ซึ่งมี Raja Tengku Baderulzaman พระอนุชาของสมเด็จพระราชาธิบดี เป็นหัวหน้าคณะ
4. ประชากร
กรมสถิติมาเลเซีย กระทรวงเศรษฐกิจมาเลเซีย ระบุว่า รัฐตรังกานูมีจำนวนประชากร 1,231,100 คน (1 มกราคม ค.ศ. 2024 (พ.ศ. 2567)) โดยแยกเป็นเชื้อชาติต่าง ๆ ดังนี้ มาเลย์ 1,162,300 คน จีน 22,300 คน อินเดีย 2,100 คน อื่นๆ 2,300 คน และไม่ใช่สัญชาติมาเลเซีย 39,300 คน
5. สภาพเศรษฐกิจ
ตรังกานูเคยจัดอยู่ในกลุ่มรัฐที่ยากจนที่สุดรัฐหนึ่งของมาเลเซีย แต่การค้นพบน้ำมันและก๊าซบริเวณชายฝั่ง เมื่อปี ค.ศ. 1974 (2517) ทำให้ปิโตรเลียมกลายเป็นอุตสาหกรรมหลักในระบบเศรษฐกิจของตรังกานู โดยมีศูนย์รวมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีตั้งอยู่ใกล้เมืองปากา (Paka) และเกอร์เตะห์ (Kerteh) อุตสาหกรรมสำคัญลำดับรองอื่น ๆ ได้แก่ การท่องเที่ยว (อาทิ Perhantian Redang) เกษตรกรรม และการทำประมงตลอดแนวชายฝั่ง 225 กิโลเมตร เมื่อปี ค.ศ. 2023 เศรษฐกิจรัฐตรังกานูมีมูลค่า (GDP) อยู่ที่ 38.2 พันล้านริงกิต เพิ่มขึ้น 2.3% อัตราเงินเฟ้อ 2.9% (1 ธันวาคม 2024) และผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติต่อหัว (GDP per capita) ของรัฐตรังกานูในปี ค.ศ. 2023 เท่ากับ 31,111 ริงกิต
ตรังกานูเป็นเส้นทางผ่านของโครงการรถไฟ East Coast Rail Link (ECRL) จำนวน 6 สถานี อุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจได้แก่ น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เกษตรกรรม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการท่องเที่ยว รัฐบาลตรังกานูกำลังพัฒนาท่าเรือ Kermaman เพื่อส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีและเป็นทางผ่าน (gateway) สำหรับการค้าและอุตสาหกรรม ตลอดจนมีอุตสาหกรรมเหมืองแร่ Silica ขนาดใหญ่ ได้แก่ Terrenganu Silica Valley (TSV) Kertih Biopolimer Park ซึ่งเป็นแหล่งผลิต Integrated Bio-Methionine and Thiochemical Plant แห่งแรกของโลก
6. เขตการปกครอง
ตรังกานูมีกัวลาตรังกานูเป็นเมืองหลวง และแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 7 เขต* คือ
7. ศาสนา
จากการสำรวจประชากรของรัฐตรังกานูเมื่อปี ค.ศ. 2023 แยกเป็นศาสนาต่าง ๆ ดังนี้ ศาสนาอิสลาม 96.9% ศาสนาพุทธ 2.5% ศาสนาคริสต์ 0.2% ศาสนาฮินดู 0.2% ศาสนาอื่นๆ 0.2%
***********
เมษายน 2568