คนไทยในต่างประเทศ

คนไทยในต่างประเทศ

7,107 view

ข้อมูลพื้นฐานของรัฐตรังกานู

1. ประวัติย่อรัฐตรังกานู

ด้วยที่ตั้งของรัฐตรังกานูที่ติดกับทะเลจีนใต้ทำให้ตรังกานูกลายเป็นเส้นทางการค้าขายตั้งแต่อดีตกาล ตรังกานูได้รับวัฒนธรรมและความเชื่อจากศาสนาฮินดูเป็นเวลาหลายร้อยปี ก่อนที่จะได้รับอิทธิพลจากศาสนาอิสลาม ซึ่งถือเป็นรัฐแรกในมาเลเซียที่ได้รับอิทธิพลดังกล่าว เมื่อปี ค.ศ. 1724 (พ.ศ. 2267) ตรังกานูอยู่ภายใต้การปกครองของระบบสุลต่าน โดยมีสุลต่านองค์แรก คือ Sultan Zainal Abidin ต่อมาในช่วงศตวรรษที่ 19 ตรังกานูอยู่ภายใต้อิทธิพลของไทย จนกระทั่งเมื่อปี ค.ศ. 1909 ตรังกานูได้เป็นเมืองขึ้นของอังกฤษหลังจากการลงนาม Anglo-Siamese Treaty of 1909 อย่างไรก็ดี ในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นได้ยึดคาบสมุทรมลายูเป็นผลสำเร็จ ตรังกานู กลันตัน เคดาห์ และเปอร์ลิส ถูกโอนกลับคืนสู่ไทย แต่หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เสร็จสิ้นลง ตรังกานูได้กลับคืนสู่การปกครองของอังกฤษ เมื่อปี ค.ศ. 1948 (พ.ศ. 2491) ตรังกานูได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธ์มาลายา ซึ่งได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี ค.ศ. 1957 (พ.ศ. 2500)

 

2. ที่ตั้ง

ตรังกานูตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของคาบสมุทรมลายู มีพื้นที่ทั้งหมด 1,295,638.3 ไร่ (207,302.128 เฮกตาร์) ทิศเหนือจรดรัฐกลันตัน ทิศใต้จรดรัฐปาหัง ทิศตะวันออกจรดทะเลจีนใต้ และหมู่เกาะเปร์เฮินเตียน (Perhentian Islands) ซึ่งมีชื่อเสียงและเป็นส่วนหนึ่งของรัฐนี้ด้วย

 

3. ประมุขของรัฐ

ประมุขของรัฐตรังกานูองค์ปัจจุบันคือ สุลต่าน Al Wathiqu Billah Tuanku Mizan Zainal Abidin Ibni Almarhum Sultan Mahmud Al-Muktafi Billah Shah ประสูติเมื่อวันที่ 22 มกราคม ค.ศ. 1962 ที่พระราชวัง Istana Al-Muktafi เมืองกัวลาตรังกานู หลังสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมต้นที่ Sekolah Sultan Sulaiman เมืองกัวลาตรังกานู ทรงศึกษาต่อที่ Geelong Grammar School ประเทศออสเตรเลีย และทรงสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ U.S. International University-Europe ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยนานาชาติแอลเลียนต์ (Alliant International University) ที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร พระองค์ได้รับการสถาปนาเป็นสุลต่านสืบแทนพระราชบิดาที่เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ค.ศ. 1998 ซึ่งถือว่า ทรงเป็นสุลต่านที่มีพระชนมายุน้อยที่สุดในระบบสุลต่านของมาเลเซีย และต่อมา ทรงอภิเษกสมรสกับ Sultanah Nur Zahirah เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ค.ศ. 1996 ทรงมีพระโอรส 2 พระองค์ และพระธิดา 2 พระองค์ ได้แก่ Tengku Nadhirah Zaharah, Tengku Muhammad Ismail, Tengku Muhammad Mu’Az และ Tengku Fatimatuz Zahra

สุลต่าน Al Wathiqu Billah Tuanku Mizan Zainal Abidin Ibni Almarhum Sultan Mahmud Al-Muktafi Billah Shah ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระราชาธิบดีองค์ที่ 13 ของมาเลเซีย ระหว่างวันที่ 13 ธันวาคม ค.ศ. 2006 ถึง 12 ธันวาคม ค.ศ. 2011 ดังนั้น ระหว่างที่พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งดังกล่าว จึงต้องแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการขึ้นแทน แต่โดยที่ Tengku Muhammad Ismail พระโอรสองค์โต มีพระชนมายุเพียง 8 ปี จึงมีคณะที่ปรึกษาของผู้สำเร็จราชการ (Regency Advisory Council – Majilis Penasihat Pemangku Raja) ซึ่งมี Raja Tengku Baderulzaman พระอนุชาของสมเด็จพระราชาธิบดี เป็นหัวหน้าคณะ

 

4. ประชากร

กรมสถิติมาเลเซีย กระทรวงเศรษฐกิจมาเลเซีย ระบุว่า รัฐตรังกานูมีจำนวนประชากร 1,231,100 คน (1 มกราคม ค.ศ. 2024 (พ.ศ. 2567)) โดยแยกเป็นเชื้อชาติต่าง ๆ ดังนี้ มาเลย์ 1,162,300 คน จีน 22,300 คน อินเดีย 2,100 คน อื่นๆ 2,300 คน และไม่ใช่สัญชาติมาเลเซีย 39,300 คน

 

5. สภาพเศรษฐกิจ

ตรังกานูเคยจัดอยู่ในกลุ่มรัฐที่ยากจนที่สุดรัฐหนึ่งของมาเลเซีย แต่การค้นพบน้ำมันและก๊าซบริเวณชายฝั่ง เมื่อปี ค.ศ. 1974 (2517) ทำให้ปิโตรเลียมกลายเป็นอุตสาหกรรมหลักในระบบเศรษฐกิจของตรังกานู โดยมีศูนย์รวมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีตั้งอยู่ใกล้เมืองปากา (Paka) และเกอร์เตะห์ (Kerteh) อุตสาหกรรมสำคัญลำดับรองอื่น ๆ ได้แก่ การท่องเที่ยว (อาทิ Perhantian Redang) เกษตรกรรม และการทำประมงตลอดแนวชายฝั่ง 225 กิโลเมตร เมื่อปี ค.ศ. 2023 เศรษฐกิจรัฐตรังกานูมีมูลค่า (GDP) อยู่ที่ 38.2 พันล้านริงกิต เพิ่มขึ้น 2.3% อัตราเงินเฟ้อ 2.9% (1 ธันวาคม 2024) และผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติต่อหัว (GDP per capita) ของรัฐตรังกานูในปี ค.ศ. 2023 เท่ากับ 31,111 ริงกิต

ตรังกานูเป็นเส้นทางผ่านของโครงการรถไฟ East Coast Rail Link (ECRL) จำนวน 6 สถานี อุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจได้แก่ น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เกษตรกรรม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการท่องเที่ยว รัฐบาลตรังกานูกำลังพัฒนาท่าเรือ Kermaman เพื่อส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีและเป็นทางผ่าน (gateway) สำหรับการค้าและอุตสาหกรรม ตลอดจนมีอุตสาหกรรมเหมืองแร่ Silica ขนาดใหญ่ ได้แก่ Terrenganu Silica Valley (TSV) Kertih Biopolimer Park ซึ่งเป็นแหล่งผลิต Integrated Bio-Methionine and Thiochemical Plant แห่งแรกของโลก

 

6. เขตการปกครอง

ตรังกานูมีกัวลาตรังกานูเป็นเมืองหลวง และแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 7 เขต* คือ

  1. อำเภอบือสุต (Besut) มีอาณาเขต 1,233 ตารางกิโลเมตร มีประชากร 165,400 คน
  2. อำเภอดูงุน (Dungun)  มีอาณาเขต 2,736 ตารางกิโลเมตร มีประชากร 168,100 คน
  3. อำเภอฮูลูตรังกานู (Hulu Terengganu) มีอาณาเขต 3,874 ตารางกิโลเมตร มีประชากร 74,600 คน
  4. อำเภอกิมามัน (Kemaman) มีอาณาเขต 2,536 ตารางกิโลเมตร มีประชากร 231,800 คน
  5. อำเภอกัวลาตรังกานู (Kuala Terengganu) มีอาณาเขต 605 ตารางกิโลเมตร มีประชากร 245,400 คน
  6. อำเภอมารัง (Marang) มีอาณาเขต 667 ตารางกิโลเมตร มีประชากร 126,700 คน
  7. อำเภอเสติยู (Setiu) มีอาณาเขต 1,304 ตารางกิโลเมตร มีประชากร 64,300 คน

 

7. ศาสนา

จากการสำรวจประชากรของรัฐตรังกานูเมื่อปี ค.ศ. 2023 แยกเป็นศาสนาต่าง ๆ ดังนี้ ศาสนาอิสลาม 96.9% ศาสนาพุทธ 2.5% ศาสนาคริสต์ 0.2% ศาสนาฮินดู 0.2% ศาสนาอื่นๆ 0.2%

 

***********

เมษายน 2568