คนไทยในต่างประเทศ

คนไทยในต่างประเทศ

วันที่นำเข้าข้อมูล 3 ม.ค. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 8,029 view

ข้อมูลพื้นฐานรัฐกลันตัน

1. ประวัติย่อรัฐกลันตัน

เมื่อประมาณ 2000 ปีมาแล้ว ได้มีประชากรจากทวีปเอเชียตอนเหนืออพยพลงมาทางใต้ถึงคาบสมุทร มลายา และได้อพยพเรื่อยลงมาถึงเกาะต่างๆในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ในระหว่างนั้นรัฐกลันตันเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรลังกาสุกะ ซึ่งมีอิทธิพลปกครองตลอดคาบสมุทร จนถึงส่วนหนึ่งที่เป็นภาคใต้ของประเทศไทยในขณะนี้
 

ในระหว่างศตวรรษที่ 13 หนึ่งในจำนวนอาณาจักรมลายูได้ตกเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรศรีวิชัย อาณาจักรนี้ได้สร้างอิทธิพลและมีฐานะที่มั่นคงในสุมาตราและชวามากว่า500 ปี จนสามารถแผ่อิทธิพลครอบคลุมอาณาเขตต่างๆเป็นจำนวนมาก ต่อมา กลันตันได้ตกอยู่ใต้อิทธิพลของอาณาจักรลีกอ และในช่วงเวลา10 ปีของศตวรรษที่ 20 กลันตันก็ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของไทย จนกระทั่งได้ตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ซึ่งได้ใช้ระบบสุลต่านเป็นเจ้าปกครองรัฐ โดยอยู่ภายใต้การบริหารของอังกฤษ
 

เหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในกลันตันครั้งหนึ่ง คือ ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จะเริ่มขึ้น กองทัพญี่ปุ่นได้บุกขึ้นหาดที่ PantaiSabak ซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐ ในวันที่ 7ธันวาคมค.ศ. 1941 (พ.ศ. 2484) ก่อนหน้าที่จะทำการโจมตี Pearl Harbor เพียง 95 นาที
 

ในปี ค.ศ. 1948 (พ.ศ. 2491) กลันตันได้รวมเข้าอยู่ในสหพันธ์มลายา ซึ่งได้รับเอกราชในปี ค.ศ.1975 (พ.ศ. 2500) ต่อมาในปี ค.ศ. 1963 (พ.ศ. 2506) ได้เปลี่ยนเป็นสหพันธ์มาเลเซียโดยรวมรัฐซาบาร์และซาราวัคเข้าไว้ด้วย

 

2. ที่ตั้ง                                                                                                                   

รัฐกลันตันตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของคาบสมุทรมลายู โดยมีพื้นที่ทั้งหมด 14,931 ตารางกิโลเมตร โดยทิศเหนือจดประเทศไทยที่อำเภอสุคิริน อำเภอแว้ง อำเภอสุไหงโก-ลก และอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาสของไทย ทิศใต้จดรัฐปาหัง ทิศตะวันออกจดรัฐตรังกานูและทะเลจีนใต้ และทิศตะวันตกจดรัฐเปรัค

 

3. ประมุขของรัฐ                                                                                                      

ประมุขของรัฐกลันตัน คือ สุลต่าน Tengku Muhammad Faris Petraพระโอรสองค์โตของ Tengku Ismail Petra Ibni Almarhum Sultan Yahya Petra สุลต่านองค์ก่อนที่ทรงประชวร พระองค์ประสูติเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ค.ศ. 1969 (พ.ศ. 2512) ได้รับการแต่งตั้งเป็นมกุฎราชกุมาร เมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 1985  (พ.ศ. 2528) ได้รับการศึกษาชั้นต้นที่เมืองโกตาบารู และกรุงกัวลาลัมเปอร์ ต่อมาทรงศึกษาต่อที่ Oakham School Rutland ประเทศอังกฤษ จนถึงปี ค.ศ. 1989 (พ.ศ. 2532) และได้ทรงเข้าศึกษาด้านการทูตที่วิทยาลัยเซนต์ครอสส์ (St. Cross College) และที่ Oxford Centre for Islamic Studies ประเทศอังกฤษจนถึงปี ค.ศ. 1991 (พ.ศ. 2534) ได้ทรงขึ้นเป็นสุลต่านเมื่อวันที่ 13 กันยายน ค.ศ. 2010 (พ.ศ. 2553) ตามมติของสภาองคมนตรีแห่งรัฐกลันตัน ทรงพระนามว่า สุลต่านมูฮัมหมัดที่ 5 (Sultan Muhammad V) นับเป็นสุลต่านแห่งรัฐกลันตันองค์ที่ 29

 

เมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 2011 (พ.ศ. 2554) สุลต่านมูฮัมหมัดที่ 5 ทรงได้รับเลือกให้ทรงดำรงตำแหน่งรองสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งมาเลเซีย (Deputy Yang Di-Pertuan Agong) และต่อมาเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ค.ศ.  2016 (พ.ศ. 2559) ทรงได้รับเลือกและขึ้นครองราชย์สมบัติเป็นสมเด็จพระราชาธิบดีมูฮัมหมัดที่ 5 ยังดี เปอร์ตวน อากง แห่งมาเลเซีย สมเด็จพระราชาธิบดี รัชกาลที่ 15 แห่งมาเลเซีย

 

ผู้สำเร็จราชการแทนสุลต่านแห่งรัฐกลันตัน

เมื่อสุลต่านมูฮัมเหม็ดที่ 5 แห่งกลันตัน ทรงขึ้นครองราชย์ฯ เป็นสมเด็จพระราชาธิบดีองค์ที่ 15 แห่งมาเลเซีย ในวันที่ 8 ตุลาคม ค.ศ. 2016  (พ.ศ. 2559) ได้ทรงแต่งตั้งพระอนุชา Tengku Muhammad Faiz Petra ibni Sultan Ismail Petra ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งมกุฎราชกุมาร Tengku Mahkota ให้ทรงตำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนสุลต่านแห่งรัฐกลันตัน

ดร. เติงกูมูฮัมหมัด ฟาอิซ เปตรา อิบนี สุลต่าน อิสมาแอล เปตรา ทรงเป็นพระโอรสองค์ที่สองของ Tuanku Ismail Petra Ibni Almarhum Sultan Yahya Petra และ Tengku Anis Binti Tengku Abdul Hamid ประสูติเมื่อ 20 มกราคม ค.ศ. 1974 (พ.ศ. 2517)

ดร. เติงกูมูฮัมหมัด ฟาอิซ เปตรา อิบนี สุลต่าน อิสมาแอล เปตรา ทรงเข้ารับการศึกษาชั้นต้นที่ Sekolah Kebangsaan Sultan Ismail (II) ประเทศมาเลเซีย โรงเรียน Oakham School Rutland ประเทศอังกฤษ ต่อมาทรงศึกษาปริญญาตรีด้านประวัติศาสตร์ที่ London School of Economics (LSE) ประเทศอังกฤษ ปริญญาโทด้านประวัติศาสตร์โบราณ (Ancient History) ที่มหาวิทยาลัย University College London ประเทศอังกฤษ ปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัย University College London โดยทรงทำวิทยานิพนธ์หัวข้อ  “The transition between late antiquity and the early medieval period in North Etruria (400-900 AD)”

 

 

 

 

4. ประชากร

กลันตันเป็นรัฐใหญ่ที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 4 เมื่อเปรียบเทียบกับรัฐต่างๆ เฉพาะบนคาบสมุทรมาเลเซีย (ไม่รวมรัฐซาบาห์และซาราวัค) มีประชากรประมาณ1.675 ล้านคน เป็นคนมุสลิม 93.8% คนจีน 3.74% และอินเดีย 0.8%

 

5. สภาพทางสังคม                                                                                            

สังคมรัฐกลันตันเป็นสังคมหลายเชื้อชาติหลากวัฒนธรรม สามารถแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ                 

(1) กลุ่มเชื้อชาติมาเลย์ (ภูมิบุตร) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนมีนิสัยไม่กระตือรือร้นชอบชีวิตแบบสุขสบาย อาศัยอยู่ในชนบท ฐานะค่อนข้างยากจน ไม่ชอบการค้าขาย นิยมการรับราชการ เคร่งศาสนาและประเพณีดั้งเดิม 

(2) กลุ่มเชื้อชาติจีน เป็นกลุ่มชาตินิยม รวมตัวกันอย่างเหนียวแน่น ขยันขันแข็ง ประกอบอาชีพค้าขาย เป็นผู้นำทางเศรษฐกิจ (เป็น economic driving force ของมาเลเซีย)และมีอำนาจต่อรองทางการค้าสูง

(3) กลุ่มเชื้อชาติไทย อาศัยอยู่บริเวณที่ราบทั่วไป บนฝั่งแม่น้ำกลันตันและบริเวณใกล้ชายแดนด้านจังหวัดนราธิวาส อาชีพทำนา ทำสวนและรับจ้าง ฐานะความเป็นอยู่ค่อนข้างยากจนกว่าชนเชื้อชาติอื่นมีความเคารพเลื่อมใสในพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า ยึดมั่นในภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรม อย่างจริงจังและยังคงรักษาเอกลักษณ์ของความเป็นไทยไว้อย่างเหนียวแน่น

ภาษาราชการคือ ภาษามาเลย์ รองลงมาได้แก่ภาษาอังกฤษ สำหรับภาษาไทย และ ภาษาจีน มีผู้นิยม ใช้กันอย่างแพร่หลาย
 

รัฐกลันตันเป็นรัฐอนุรักษ์นิยมที่เคร่งครัดในศาสนาอิสลามมากที่สุดในบรรดารัฐต่างๆ ของมาเลเซีย โดยรัฐบาลของรัฐกลันตันได้ประกาศให้โกตาบารูซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐกลันตันเป็น Islamic City ดังนั้น นโยบายรัฐท้องถิ่นจึงมุ่งเน้นที่จะชี้นำให้วิถีชีวิตของประชากรดำเนินไปตามวิถีอิสลามอย่างเคร่งครัด และให้ความสำคัญและสิทธิประโยชน์แก่ชาวมาเลย์มุสลิม ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 90 ของประชากรทั้งหมดในรัฐกลันตัน ซึ่งส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อวิถีชีวิตและการประกอบการธุรกิจของชาวมาเลเซียเชื้อชาติอื่นในรัฐกลันตัน 

 

6. สภาพเศรษฐกิจ

รัฐกลันตันจัดอยู่ในกลุ่มรัฐที่ยากจนที่สุดในบรรดารัฐต่างๆ ของมาเลเซีย รายได้ประชาชาติต่อหัว (GDP per capita) ของรัฐกลันตัน10,677ริงกิต (อัตราเฉลี่ยของปท. เท่ากับ 32,984ริงกิต) รัฐกลันตันเป็นรัฐที่ประกอบการเกษตรเป็นส่วนใหญ่มาแต่เดิม ภาคเหนือของรัฐกลันตันมีการปลูกข้าวและทำสวนยางเป็นส่วนใหญ่ ทางภาคใต้มีการปลูกยางพาราและนํ้ามันปาล์ม พืชเศรษฐกิจที่ปลูกทั่วไปในกลันตัน ได้แก่ ยาสูบ นํ้ามันปาล์ม ยางพารา มีการทำปศุสัตว์ อาทิ การเลี้ยงโค กระบือ แกะ  และมีการทำประมงทั่วไปตลอดแนวชายฝั่งที่ยาว 78.4 กิโลเมตร ประชากรในวัยทำงานของรัฐกลันตันมี 492,000คน อัตราว่างงานร้อยละ 2.8 (เฉลี่ยของประเทศ ร้อยละ 3.7) ในด้านการลงทุนสาขาการลงทุนที่มีศักยภาพในรัฐกลันตัน ได้แก่ อุตสาหกรรมไม้ ยางพารา น้ำมันปาล์ม ปศุสัตว์ การเกษตร ประมง ท่องเที่ยว อาหารและแร่ธาตุ 
 

โดยที่รัฐกลันตันมีชายแดนติดต่อกับจังหวัดนราธิวาสของไทย ดังนั้น ประชาชนของทั้งประเทศจึงมีการติดต่อค้าขายกันบริเวณชายแดนทั้งในและนอกระบบ ด่านพรมแดนระหว่างรัฐ กลันตันกับประเทศไทยมี 3 ด่าน คือ RantauPanjangกับ อำเภอสุไหงโก-ลก, PengkalanKuborกับ อำเภอตากใบ และ Tanah Merahกับบ้านบูกิตบุหงา อ.แว้ง การค้าชายแดนไทย-มาเลเซียใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 263,947.12 ล้านบาท โดยไทยส่งสินค้าออกไปยังมาเลเซียมีมูลค่า 182,644.21 ล้านบาท สินค้าสำคัญที่มีมูลค่าการส่งออกมากที่สุด  คือ  แผ่นยางรมควัน รองลงมา  คือ  ผักและผลไม้
 

อย่างไรก็ดี เหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม2547  ได้ส่งผลกระทบต่อมูลค่าการค้าชายแดนไทย-มาเลเซีย ในจังหวัดนราธิวาส โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าได้ขยายตัวน้อยลง โดยสินค้าที่ได้รับผลกระทบอย่างมากได้แก่ ผักสด ท่อเหล็กและอุปกรณ์สำหรับการก่อสร้าง หนังโคกระบือที่ฟอกสมบูรณ์แล้ว เครื่องปั๊มน้ำ ขณะที่การขยายตัวมูลค่าการนำเข้าสูงขึ้นกว่า ร้อย ละ 29.93 โดยมีสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นได้แก่ ก๊าซปิโตรเลียมเหลว ผลไม้สด เศษยาง  

 

7. เขตการปกครอง

รัฐกลันตันมีโกตาบารูเป็นเมืองหลวง และแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 10 เขต คือ
1.  อำเภอบาเจาะ  (Bachok)
2.  อำเภอกัวมูซัง  (GuaMusang)
3.  อำเภอโกตาบารู  (Kota Bharu)
4.  อำเภอกัวลาไกร  (Kuala Krai)
5.  อำเภอมาจัง   (Machang)
6.  อำเภอปาเซมัส  (Pasir Mas)
7.  อำเภอปาเซปูเตะห์  (PasirPuteh)
8.  อำเภอตาเนาะห์แมเราะห์ (Tanah Merah)
9.  อำเภอตุมปัต  (Tumpat)
10. อำเภอเจลี่   (Jeri)

 

8.  เขตการเลือกตั้ง
รัฐบาลรัฐกลันตันประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และสมาชิกสภานิติบัญญัติรัฐ 
 

8.1 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) 
รัฐกลันตันแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรออกเป็น 14 เขต มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรได้เขตละ 1 คน รวมเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากรัฐกลันตันทั้งสิ้น 14 ที่นั่ง                                           

8.2 สมาชิกวุฒิสภา  (สว.)
ปัจจุบัน  รัฐกลันตันมีสมาชิกวุฒิสภาทั้งสิ้น 5 คน โดยเป็นสมาชิกที่ได้รับการแต่งตั้งจากประมุขของประเทศ จำนวน 3 คน และได้รับการเลือกตั้งจากสภานิติบัญญัติรัฐอีก  2  คน
            

8.3 สมาชิกสภานิติบัญญัติรัฐ  (สร.)
รัฐกลันตันแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติรัฐออกเป็น 45 เขตเลือกตั้ง มีสมาชิก
สภาฯ ได้เขตละ 1 คน รวมเป็น 45 ที่นั่ง 

 

9.  องค์กรทางการบริหาร
 

นอกจากกิจการทางด้านการต่างประเทศ การป้องกันประเทศ ความมั่นคงภายใน การออกกฎหมายอาญาและกฎหมายแพ่ง ซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจหน้าที่ของรัฐบาลกลางแล้ว กิจกรรมด้านอื่น เช่น การใช้กฎหมายอิสลาม การเกษตร ป่าไม้ การปกครองท้องถิ่นและการประมงน้ำจืดภายในอาณาเขตของรัฐ เป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจบริหารของรัฐ ขณะเดียวกันกิจกรรมบางด้าน เช่น สวัสดิการสังคม การศึกษา และกิจการสาธารณูปโภคต่างๆ จะเป็นการดำเนินการร่วมกันของรัฐบาลกลางกับรัฐบาลรัฐ สำหรับองค์กรทางการเมืองและการปกครองที่สำคัญของรัฐ แบ่งออกได้เป็น 3 ส่วนคือ
1. สภานิติบัญญัติรัฐ  (State Legislative Assembly) เป็นระบบสภาเดียว (Unicameral) มีสมาชิก 45 คน มาจากการเลือกตั้งและอยู่ในตำแหน่งคราวละ 5 ปี  มีอำนาจหน้าที่ที่สำคัญ คือ

  (1) เสนอชื่อบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งมุขมนตรีต่อสุลต่านเพื่อทรงแต่งตั้ง 

  (2) ออกกฎหมายเพื่อการบริหารงานภายในรัฐโดยไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญสหพันธ์  และ 

  (3) อนุมัติงบประมาณประจำปีสำหรับการบริหารงานภายในรัฐ

ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2513 มีสตรีได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติรัฐกลันตัน จำนวน 2 คน
 

           

9.2  คณะมนตรีบริหารรัฐ  (State Executive Councillor - EXCO) 

ประกอบด้วยมุขมนตรี (Menteri Besar) 1 คน รองมุขมนตรี  1 คน และมีมนตรีฝ่ายต่างๆ รวมทั้งสิ้น 10 คน ซึ่งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติรัฐกลันตัน สุลต่านจะทรงแต่งตั้งผู้นำของพรรคที่ได้รับเลือกด้วยคะแนนสูงสุดเป็นมุขมนตรี จากนั้น มุขมนตรีจึงจแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติกลันตันเป็นคณะมนตรีบริหารรัฐ มุขมนตรีคนปัจจุบัน คือ YAB Dato’ Haji Ahmad Bin Yakob

            

9.3  สำนักเลขาธิการรัฐ  (State Secretariat) 

ในสำนักงานเลขาธิการรัฐจะมีเลขาธิการรัฐ (State Secretary) เป็นข้าราชการสูงสุดในรัฐ ซึ่งปัจจุบัน คือ DATO’ HJ. MOHD FAUDZI BIN HAJI CHE MAMAT, S.P.S.K., D.P.S.K. (Kelantan) มีฐานะเป็นหัวหน้าข้าราชการพลเรือนรับผิดชอบในงานบริหารส่วนราชการระดับล่างที่ขึ้นตรงต่อรัฐ อำเภอ หรือ เขตการปกครองต่างๆ นอกจากนั้นยังเป็นตัวแทนข้าราชการประจำที่จะต้องเข้าร่วมการประชุม และเสนอแนะข้อคิดเห็นต่อที่ประชุมคณะมนตรีบริหารรัฐร่วมกับที่ปรึกษากฎหมายประจำรัฐและหัวหน้าคลังประจำรัฐ อนึ่ง เลขาธิการรัฐไม่มีอำนาจบังคับบัญชาส่วนราชการของกระทรวง ทบวง กรมส่วนกลางที่ประจำอยู่ในรัฐอาทิตำรวจ ทหาร ศุลกากร ตรวจคนเข้าเมือง เป็นต้น

 

10. นโยบายการบริหารของคณะมนตรีบริหารรัฐชุดปัจจุบัน
            นโยบายหลักของรัฐบาลรัฐในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของรัฐกลันตัน  คือ  
            - เปลี่ยนสภาพรัฐกลันตันจากเมืองเกษตรกรรมเป็นเมืองกึ่งอุตสาหกรรมและยกระดับภาคการผลิตเพื่อให้สามารถผลิตสินค้าเกษตรได้หลากหลายยิ่งขึ้นและเป็นเชิงธุรกิจ  
            - กระชับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเสถียรภาพและความสงบสุขใน
ภูมิภาคนี้ พร้อมกับกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าโดยเชิญชวนนักลงทุนจากประเทศเพื่อนบ้านมาลงทุนในรัฐกลันตัน โดยเฉพาะจังหวัดภาคใต้ของไทย โดยมีแนวคิดในการขยายความร่วมมือระหว่างรัฐกลันตันกับจังหวัดนราธิวาสในด้านต่างๆ ดังนี้
            - ความร่วมมือทางการเกษตร โดยเสนอให้มีการแลกเปลี่ยนการฝึกอบรมเยาวชนท้องถิ่นทางการเกษตรและการดูงานของเจ้าหน้าที่การเกษตรเพื่อมุ่งให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี
            - ความร่วมมือทางการท่องเที่ยว  ขอให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวของทั้ง 2 ฝ่าย ผนวกรัฐกลันตันและนราธิวาสเอาไว้ในโปรแกรมท่องเที่ยวเสนอขายแก่นักท่องเที่ยวทั่วไปด้วย
            - ความร่วมมือทางวัฒนธรรม  ร่วมกันจัดเทศกาลทางด้านวัฒนธรรมหรือกิจกรรมอื่นใดที่มุ่งให้ประชาชนของทั้ง 2 ฝ่ายเข้ามีส่วนร่วมด้วยกัน
            - ความร่วมมือทางด้านการขนส่ง เปิดบริการรถยนต์โดยสารผ่านแดนระหว่างเมืองโกตาบารูไป/กลับ อ. สุไหงโก-ลก นราธิวาส
            - มุ่งเปลี่ยนรัฐกลันตันให้เป็นรัฐอิสลาม(Islamic State) ด้วยการออกกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ  โดยยึดหลักกฎหมายอาญาอิสลาม (Hudud)  มาใช้แทนกฎหมายอาญาทั่วไปในรัฐกลันตัน อาทิ 
            -  ห้ามมิให้มีการเล่นการพนันและขายลอตเตอรี่ทุกประเภทภายในรัฐ  
            -  ห้ามมิให้มีการแสดงมโหรสพที่มิใช่ของมุสลิม  
            -  ไม่ต่อใบอนุญาตกิจการด้านบันเทิงและไนท์คลับต่างๆ  
            -  ห้ามมิให้มีร้านแต่งผมที่มีช่างสตรีให้บริการแก่ลูกค้าที่เป็นสุภาพบุรุษ  
            -  กวดขันการขายเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอโดยมิให้เครื่องดื่มชนิดนี้ในร้านที่บริการชาวมุสลิม  
            -  ห้ามมิให้มีการติดป้ายโฆษณาทุกชนิดที่มีรูปสตรีซึ่งมิได้อยู่ในเครื่องแต่งกายแบบอิสลาม  (ชุดหิญาบพร้อมผ้าคลุมผม)  เป็นต้น  
            -  รณรงค์การศึกษาวิชาการศาสนาอิสลาม  ด้วยเห็นว่าการศึกษาแบบปอเนาะเริ่มลดน้อยลงและถูกทดแทนด้วยการศึกษาระบบโรงเรียนอันส่งผลทำให้รัฐขาดผู้รู้หรือนักการศาสนาที่เชี่ยวชาญด้านนิติศาสตร์อิสลาม   

 

11.ความสัมพันธ์กับรัฐบาลกลาง
 

ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลรัฐกับรัฐบาลกลางเต็มไปด้วยความขัดแย้ง เนื่องจากพรรคการเมืองที่ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลรัฐกลันตันเป็นกลุ่มพรรคการเมืองฝ่ายค้านในการเมืองระดับชาติ โดยมีพรรค PASเป็นแกนนำกลุ่มพรรคแนวร่วมฝ่ายค้าน  ซึ่งแสดงท่าทีเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลกลางอย่างเปิดเผย ทั้งนี้พรรคPAS ได้อาศัยแนวทางตามหลักศาสนาอิสลามเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการระดมศรัทธาจากประชาชนในรัฐกลันตัน ที่ผ่านมาพรรค PAS ได้พยายามรณรงค์ให้รัฐกลันตันปกครองแบบรัฐอิสลาม(Islamic State) และพยายามอย่างแข็งขันที่จะให้มีการนำกฎหมายอาญาอิสลาม (Hudud) มาใช้แทนกฎหมายอาญาทั่วไปในรัฐกลันตัน ซึ่งเป็นแนวทางที่ขัดกับนโยบายของรัฐบาลกลางซึ่งประสงค์จะให้มาเลเซียพัฒนาไปในลักษณะประเทศมุสลิมก้าวหน้า (Progressive Islam) บนหลักการ Islam Hadari (Civilizational Muslim) เพื่อให้การพัฒนาเศรษฐกิจดำเนินไปอย่างราบรื่น  
 

รัฐบาลกลางของมาเลเซียได้ดำเนินการตอบโต้พรรค PAS โดยการโดดเดี่ยวรัฐกลันตันทางเศรษฐกิจ  เพื่อโน้มน้าวให้ประชาชนในรัฐดังกล่าวตระหนักถึงความเหลื่อมล้ำในเรื่องความเป็นอยู่และความล้าหลังอันเกิดจากการบริหารของพรรค PAS นอกจากนี้ พรรคฝ่ายค้านก็ยังถูกจำกัดการเจริญเติบโตโดยมาตรการต่างๆ  ของรัฐบาลซึ่งอาศัยกลไกทางรัฐสภาแก้ไขกฎหมายหลายฉบับที่มีผลสกัดกั้นไม่ให้ฝ่ายค้านสามารถเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลได้โดยสะดวกและไม่เอื้อประโยชน์ต่อการค้าและการลงทุนในรัฐกลันตัน