เรื่องเล่าด่านรันตู ประจำวันที่ 14 มกราคม 2564

เรื่องเล่าด่านรันตู ประจำวันที่ 14 มกราคม 2564

วันที่นำเข้าข้อมูล 14 ม.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 555 view

เช้านี้ ไม่มีผู้ลงทะเบียนกลับไทยวันที่ ๑๔ ม.ค. ๖๔
วันที่ ๑๓ ม.ค. มียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ ๒,๙๘๕ คน สถิติต่ำกว่าเมื่อวาน โดยอยู่ในรัฐกลันตัน ๘๕ คน รัฐตรังกานู ๒๗ คน มีผู้ติดเชื้อสะสม ๑๔๔,๕๑๘ คน และผู้เสียชีวิตสะสม ๕๖๓ คน (เพิ่มขึ้น ๔ คน) (สถิติข้อมูลการระบาดโควิด รูป ๑)
จากบทความเรื่อง “การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย” ที่เสนอไปเมื่อวานนี้ ผมได้รับข้อคิดเห็นที่เป็นเสียงสะท้อนจากภาคเอกชนไทยด้วย
เรื่องเล่าด่านรันตู วันนี้จึงขอนำเสนอความเห็นของผู้ประกอบการด้านธุรกิจส่งออกไม้ยางพารา ในการแก้ ปัญหาการขนส่งทางเรือเพื่อการส่งออก ของคุณสุทิน พรชัยสุรีย์ ปธ. กิตติมศักดิ์ สมาคมธุรกิจไม้ยางพาราไทย (ปธ. กิตติมศักดิ์ สมาคมธุรกิจไม้ยางพาราไทย รูป ๒-๓)
เนื่องจากสถานการณ์ระบาดของโควิด-๑๙ เกิดขึ้นทั่วโลก ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจการผลิตเพื่อการส่งออก-นำเข้าของแต่ละ ปท. ทั้งยังกระทบกับการไหลเวียนตู้คอนเทนเนอร์ทั่วโลก จึงเป็นสาเหตุหลักทำให้ขาดแคลนตู้บรรจุสินค้า อีกทั้งค่าระวางเรือ (Freight) ปรับตัวสูงขึ้นจาก ๑๕๐ เหรียญสหรัฐ เพิ่มเป็น ๑,๒๐๐ – ๑,๓๐๐ เหรียญสหรัฐ/ตู้คอนเทนเนอร์ ๔๐ ฟุต ในช่วงเวลา ๒ เดือน (พ.ย.-ธ.ค. ๖๓) หรือคิดเป็น ๘-๙ เท่าของสินค้าปลายทางที่ประเทศจีน
จากการปรับค่าระวางเรือสูงขนาดนี้ ทำให้สินค้าไม้แปรรูปยางพาราไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องหยุดการผลิตไปมากกว่า ๕๐% จากเดิมที่ในปี ๖๒ ปริมาณส่งออกไม้ยางพาราแปรรูป มีมูลค่าประมาณ ๓ หมื่นล้านบาท หรือส่งออก ๕,๐๐๐-๖,๐๐๐ ตู้/เดือน (Container Scarcity รูป ๔)
จากสถิติข้อมูลการส่งออกไม้ยางแปรรูปปี ๖๒ มีมูลค่า ๒๙,๖๗๓ ล้านบาท แต่ปี ๖๓ ลดลงจากปี ๖๒ ประมาณ ๑๐% เป็นที่น่าสังเกตว่า ปัญหาโควิดมิได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกไม้ยางไปยังจีน (รวมสถิติยางพารา รูป ๕)
ทั้งนี้ จึงมีข้อเสนอแนะแนวทางแก้ไข ดังนี้ (Container Shortage รูป ๖)
๑. การส่งออกไม้ยางพาราแปรรูปจะหันไปส่งออกทางเรือใหญ่ (Bulk) ขนาด ๕,๐๐๐ – ๑๐,๐๐๐ ตัน โดยไม่ต้องใช้ตู้สินค้า แต่จะบรรจุสินค้าตามท่าเรือชายฝั่งขนาดเล็กที่มีระดับน้ำลึกอย่างน้อย ๕ ม. (เรือน้ำลึก ๕ ม.)
๒. ภาครัฐควรส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสร้างท่าเทียบเรือขนาดเล็ก เพื่อการส่งออกทางเรือ Bulk ไปยังต่างประเทศให้มากขึ้น (สถิติการส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้ไทย ๒๕๖๑-๖๓ รูป ๗)
๓. ภาครัฐควรแก้ไข กม. ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการส่งออก-นำเข้าที่ท่าเรือขนาดเล็ก
นี่เป็นข้อเสนอของสมาคมธุรกิจไม้ยางพาราที่ต้องการจะปรับเปลี่ยนไปใช้เรือ Bulk เพื่อแก้ปัญหาขาดตู้คอนเทนเนอร์ โดยขอให้รัฐสนับสนุนการสร้างท่าเทียบเรือขนาดเล็ก เพื่อจะส่งออกทางเรือ Bulk ไปต่างประเทศได้มากขึ้น

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ