เรื่องเล่าด่านรันตู ประจำวันที่ 15 มกราคม 2564

เรื่องเล่าด่านรันตู ประจำวันที่ 15 มกราคม 2564

วันที่นำเข้าข้อมูล 17 ม.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 354 view

เช้านี้ มีผู้ลงทะเบียนกลับไทยวันที่ ๑๕ ม.ค. ๖๔ จำนวน ๑๔ คน
วันที่ ๑๔ ม.ค. มียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ ๓,๓๓๗ คน ถือเป็นจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันที่สูงสุดตั้งแต่มีการติดเชื้อใน มซ. โดยอยู่ในรัฐกลันตัน ๘๕ คน รัฐตรังกานู ๘๙ คน มีผู้ติดเชื้อสะสม ๑๔๗,๘๕๕ คน และผู้เสียชีวิตสะสม ๕๗๘ คน (เพิ่มขึ้น ๑๕ คน) (สถิติข้อมูลการระบาดโควิด รูป ๑)
เรื่องเล่าด่านรันตู วันนี้ขอเสนอเรื่อง “ส่องความแตกต่างการระบาดของ 'โควิด-๑๙' ปี ๖๓ VS ปี ๖๔ ในไทย” โดย ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ตามที่ลงใน นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ ๑๒ ม.ค. ๖๔ (รายงาน นสพ. รูป ๒)
การระบาดของโควิด-๑๙ รอบนี้ คือตั้งแต่กลาง ธ.ค. ๖๓ เป็นต้นมา มีความแตกต่างที่สำคัญจากการระบาดรอบที่แล้วในช่วงปลายเดือน มี.ค.-เม.ย. ๖๓ ที่สรุปได้ ดังนี้
๑. การระบาดรอบแรกในเดือน มี.ค.-เม.ย. ๖๓ นั้น พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เฉลี่ยสูงสุดประมาณ ๑๒๐ คน/วัน แต่รอบล่าสุดพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ประมาณกว่า ๓๐๐ คน/วัน และอาจปรับตัวสูงขึ้นต่อไปอีกได้
๒. รอบแรกนั้นเกิดความตื่นกลัวอย่างมาก เพราะ รบ. เองก็บอกให้ ปชช. กลัวและเป็นเรื่องแปลกใหม่ แต่รอบนี้แม้ว่าจะระบาดรุนแรงกว่ารอบแรกที่แล้วมาก แต่ไม่ใช่เรื่องใหม่และ รบ. ก็พยายามไม่ให้ประชาชนตื่นตระหนก ไม่กล้าปิด ศก. และประกาศเคอร์ฟิว เพราะรู้ว่ารอบนี้ความเสียหายอาจจะสูงและยืดเยื้อมากกว่ารอบที่แล้วก็ได้
๓. ขณะนี้ ศก. ไทยยังเปราะบางอยู่มาก เพราะ ศก. ยังแทบจะไม่ได้มีโอกาสฟื้นตัวจากการระบาดรอบที่แล้วเลย จีดีพีเพิ่งติดลบไป ๖-๗% ในปี ๖๓ และที่เดิมคาดเอาไว้ว่าจีดีพีจะขยายตัวได้ ๔% ในปี ๖๔ นั้น อาจต้องลดการคาดการณ์ลงมาเหลือเพียง ๒% หรือต่ำกว่านั้นก็ได้ (สื่อนอกจับตา ไทยติดโควิดพุ่ง รูป ๓)
๔. การระบาดรอบนี้จะแก้ไขยากกว่ารอบที่แล้วอย่างมาก เพราะต้นเหตุของการระบาดแตกต่างกัน ในเดือน มี.ค.-เม.ย. ๖๓ นั้น การระบาดมีต้นเหตุมาจากคนไทยและชาวต่างประเทศที่เป็นโควิด-๑๙ เดินทางกลับมา ปทท. ทางอากาศยาน แล้วนำเอาโควิด-๑๙ กลับมาด้วย แนวทางจัดการคือ การยุติการเดินทางเข้า-ออก ปท. ทางอากาศ แล้วปิดกิจกรรมใน ปท. (ล็อกดาวน์) เป็นการชั่วคราว ก็สามารถยุติการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ได้ ทำให้มีผู้ติดเชื้อสะสมเพียง ๓-๔ พันรายและเสียชีวิต ๕๐ กว่าราย (การตรวจโควิด รูป ๔)
ณ เวลานั้น ปท. เพื่อนบ้านไม่มีผู้ป่วยเป็นโควิด-๑๙ เลย เพราะ ปท. แรกๆ ที่รับเอาโควิด-๑๙ กลับมาภูมิภาคนี้คือ ปท. ที่ ศก. เปิดและพึ่งพาการท่องเที่ยวสูง เช่น ไทย สป. กลต. และฮ่องกง เป็นต้น (สถานการณ์ระบาดโควิด ณ ๔ ม.ค.๖๔ รูป ๕)
๕. แต่รอบนี้คือปี ๖๔ ไทยอยู่กับภาวะที่ ปท. เพื่อนบ้านที่สำคัญ คือ เมียนมาร์และ มซ. กำลังต้องเผชิญกับการระบาดของโควิด-๑๙ ที่ค่อนข้างจะหนักหน่วง กล่าวคือ
- เมียนมาร์ : มีจำนวนผู้ป่วยสะสม ๑๒๗,๕๘๔ ราย เสียชีวิตไปแล้ว ๒,๗๖๖ ราย และยังมีผู้ป่วยที่ต้องดูแลอยู่ในขณะนี้ ๑๕,๐๐๐ ราย โดยพบผู้ป่วยรายใหม่วันละประมาณ ๖๓๐ คน
- มซ. : มีจำนวนผู้ป่วยสะสม ๑๔๗,๘๕๕ ราย เสียชีวิตไปแล้ว ๕๗๘ คน และยังมีผู้ป่วยที่ต้องดูแลอยู่ในขณะนี้ ๓๓,๙๘๙ คน (ข้อมูล ณ ๑๕ ม.ค.๖๓) โดยพบผู้ป่วยรายใหม่วันละประมาณ ๒,๐๐๐ คน
ทั้งนี้ ไทยมีชายแดนติดกับเมียนมาร์ยาวประมาณ ๒,๔๐๐ กม. และชายแดนติดกับ มซ. ยาวประมาณ ๕๙๕ กม. ดังนั้นหากเวลาผ่านไปแล้ว จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในไทยต่อวันจะเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนใกล้เคียงกับเมียนมาร์และ มซ. ก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องที่แปลกประหลาดแต่อย่างใด
๖. ประเด็นที่สำคัญคือ ไทยพึ่งพาเมียนมาร์และ มซ. อย่างมากในเชิง ศก. โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพึ่งพา รง. จากเมียนมาร์ และส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับว่าน่าจะมี รง. ต่างด้าวที่เข้ามาอย่างผิด กม. จำนวนมากเป็นล้านราย ซึ่งควบคุมได้ยาก เพราะเป็นกระบวนการที่ผู้มีอิทธิพลได้ผลประโยชน์มูลค่ามหาศาล คล้ายคลึงกับกิจกรรมเลี่ยง กม. อื่นๆ ที่กำลังเป็นสาเหตุการแพร่ขยายของโควิด-๑๙ คือ “บ่อนการพนัน” เป็นต้น
กล่าวคือ การปราบปรามจึงน่าจะทำได้อย่างไม่ทั่วถึงและขาดประสิทธิภาพ ทำให้ปัญหาน่าจะยืดเยื้อ แตกต่างจากการยุติการบินเข้า-ออกประเทศเมื่อเดือน มี.ค.-เม.ย. ๖๓ (ชวนคนไทยโหลดแอป “หมอชนะ” รูป ๖)
๗. รอบที่แล้ว ศก. ได้รับผลกระทบหลักๆ จากการสูญเสียอุปสงค์ (demand) ของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดิมเคยเดินทางเข้าไทยประมาณ ๔๐ ล้านคน/ปี เหลือเพียง ๖ ล้านคนในปี ๖๓ และในปี ๖๔ นั้นอาจมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในไทยได้เพียง ๕-๖ ล้านคนหรือน้อยกว่านั้นก็เป็นได้
แต่ประเด็นสำคัญที่แตกต่างจากรอบที่แล้ว (ในเดือน มี.ค.-เม.ย. ๖๓) คือ รอบนี้ภาคการผลิต (supply) เสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญด้วย ไม่เพียงแต่การต้องเผชิญกับการหดตัวของอุปสงค์ เพราะดังที่เห็นได้จากกรณีของสมุทรสาคร แหล่งแพร่เชื้อคือ รง. ต่างด้าวที่ผิด กม. ที่มีปะปนอยู่กับ รง. ต่างด้าวที่ถูก กม. และ รง.ไทยใน อก. ประเภทต่างๆ (โควิด-๑๙ คงไม่เลือกเข้าไปเฉพาะใน อก. สัตว์น้ำ)
เมื่อโควิด-๑๙ ระบาดไปถึง จ.ชลบุรีและระยอง ซึ่งเป็นที่ตั้งท่าเรือหลัก ๒ แห่ง (แหลมฉบังและมาบตาพุด) ทำให้ระบบห่วงโซ่การผลิต (supply chain) ของไทยเสี่ยงได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญได้ในการระบาดใหม่รอบนี้ (รณรงค์สวมหน้ากากอนามัย รูป ๗)
๘. การพึ่งพา รง. ต่างด้าว (ปัจจุบันมีทั้งแบบที่ถูก กม. และผิด กม.) นั้น เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของไทย เพราะประชากรของไทยย่างเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว โดยประชากรที่อยู่ในวัยทำงานจะลดลงอย่างต่อเนื่องจาก ๔๓.๒๖ ล้านคนปี ๖๓ เหลือ ๓๖.๕ ล้านคนปี ๘๓ เป็นการสูญเสีย รง. กว่า ๖ ล้านคนใน ๒๐ ปีข้างหน้า
หมายความว่า ปทท. จะต้องมีนโยบาย รง. ต่างด้าวที่ชัดเจนและถูกต้องในการส่งเสริม ศก. พร้อมไปกับความมั่นคงทาง สธ. ซึ่งอาจเน้นการใช้หุ่นยนต์แทนมนุษย์ หรือการที่ระบบนำเข้า รง. ต่างด้าวที่ถูก กม. และปลอดภัยเช่นที่ สป. เป็นต้น
ทั้งนี้ สป. นำเข้า รง. ประมาณ ๑.๓๕ ล้านคน (คิดเป็นสัดส่วนกว่า ๒๐% ของประชากร) และเผชิญกับการระบาดของโควิด-๑๙ ในกลุ่ม รง. ต่างด้าวในเดือน เม.ย.และ พ.ค. ๖๓ แต่ก็สามารถควบคุมการระบาดได้จนประสบความสำเร็จ กล่าวคือปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพียงวันละประมาณ ๒๗ คน
นี่คือ เรื่องราวความแตกต่างการระบาดของ 'โควิด-๑๙' ปี ๖๓ และ ปี ๖๔ ในไทย ซึ่งได้เห็นถึงรูปแบบ แหล่งที่มาของระบาดและผลซ้ำเติม ศก. ที่ทำให้การควบคุมโควิดและการฟื้นฟู ศก. เป็นเรื่องท้าทายยิ่ง

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ