เรื่องเล่าด่านรันตู ประจำวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2564

เรื่องเล่าด่านรันตู ประจำวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2564

วันที่นำเข้าข้อมูล 1 มี.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 226 view

เช้านี้ มีผู้ลงทะเบียนกลับไทยวันที่ ๒๖ ก.พ. ๖๔ จำนวน ๒๙ คน
วันที่ ๒๕ ก.พ. มียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ ๑,๙๒๔ คน โดยอยู่ในรัฐกลันตัน ๔๔ คน รัฐตรังกานู ๖ คน มีผู้ติดเชื้อสะสม ๒๙๓,๖๙๘ คนและผู้เสียชีวิตสะสม ๑,๑๐๐ คน (เพิ่มขึ้น ๑๒ คน) (สถิติข้อมูลการระบาดโควิด รูป ๑)
หลายท่านน่าจะกำลังสนใจในเรื่อง 5G กันอยู่ไม่ใช่น้อย 5G เป็นเทคโนโลยีที่เรียกได้ว่า ยกระดับจาก 4G ให้เร็วขึ้น
โดยเป็นการสื่อสารรุ่นที่ ๕ ที่อนาคตมันจะไม่ใช่แค่มือถือแล้ว แต่เป็นอุปกรณ์ทุกชนิดที่เชื่อมอินเตอร์เน็ตได้ (Internet of Things) (การประมูลคลื่นความถี่ของไทย รูป ๒)
Internet of Things (IoT) คือเทคโนโลยีที่ทำให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ สามารถเชื่อมโยงและรับส่งข้อมูลระหว่างกันได้อย่างง่ายดายและสามารถสั่งการเพื่อควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ ได้ผ่านทางระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็น Smart Device, Smart Home, Smart Network ตัวอย่างเช่น การสั่งการเปิดไฟฟ้าภายในบ้านด้วยการเชื่อมต่ออุปกรณ์ควบคุม เช่น มือถือ ผ่านทางอินเตอร์เน็ต เป็นต้น แน่นอนว่า 5G ต้องดีกว่า 4G สามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์เป็น ๑ ล้านชิ้นใน ๑ ตร.กม. เช่น ให้รถยนต์ขับได้ด้วยตัวเอง ซึ่งมีการส่งสัญญาณที่ได้จากเซนเซอร์ต่างๆ (ผลประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ระบบ 5G รูป ๓)
จะเห็นได้ว่า หลาย ปท. ต่างเร่งพัฒนาเครือข่ายโทรคมนาคมรองรับ 5G รบ. มซ. ก็ได้ตั้งเป้าว่า จะเปิดตัว 5G ในปลายปีนี้เช่นกัน ลองไปดูแนวคิดการพัฒนา 5G ของ มซ. ด้วยกันครับ
เรื่องเล่าด่านรันตูวันนี้ ขอเสนอเรื่อง “บ.โทรคมนาคมได้ประโยชน์จากการเร่งโครงการ 5G ของ รบ.มซ.” ตามรายงานของ นสพ. The Star ฉบับวันที่ ๒๔ ก.พ. ๒๐๒๐ (นรม. มซ. แถลงเปิดตัว 5G ปลายปี รูป ๔)
การตัดสินใจของ รบ. มซ. ในการให้บริการ 5G ภายในสิ้นปีนี้ เป็นการตอกย้ำถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างเร่งด่วนไปสู่เทคโนโลยีดิจิทัลที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-๑๙ ทั่วโลก
นักวิเคราะห์กล่าวว่า การเคลื่อนไหวดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อ ศก. โดยเฉพาะภาคการสื่อสารโทรคมนาคมในท้องถิ่น “การเปิดตัว 5G ที่จะนำไปใช้โดยกระบวนการวัตถุประสงค์พิเศษ (Special Purpose Vehicle : SPV) ซึ่ง รบ. เป็นเจ้าของทั้งหมด จะช่วยลดภาระการลงทุนให้กับ บ. โทรคมนาคม” (5G Malaysia Progressing Humanity รูป ๕)
SPV เป็นกระบวนการแปลงสินทรัพย์ให้เป็นหลักทรัพย์ นับเป็นการเปิดมิติใหม่ทางด้านการเงินสำหรับการลงทุนโครงการภาครัฐขนาดใหญ่ระดับหมื่นล้าน ที่ไม่สร้างภาระต่องบประมาณในทันที ไม่ต้องกู้เงินต่างประเทศ และไม่เป็นหนี้สาธารณะ หุ้นกู้ของโครงการได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในระดับสูง
“ผู้ให้บริการโทรคมนาคมในพื้นที่สามารถหายใจได้คล่องตัวขึ้น แต่ยังคงยึดมั่นที่จะปฏิบัติตามแผนโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ที่เรียกว่า “Jendela” (ภาษามาเลย์ แปลว่า หน้าต่าง) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มความครอบคลุม 4G ของ มซ. จาก ๙๑.๖% เป็น ๙๖.๙% ภายในปี ๒๐๒๒” (รมต. สื่อสารและมัลติมีเดีย มซ. รูป ๖)
5G เป็นมาตรฐานเทคโนโลยีรุ่นที่ ๕ สำหรับเครือข่ายบรอดแบนด์เซลลูลาร์ที่ บ. โทรคมนาคมเริ่มใช้งานทั่วโลกในปี ๒๐๑๙ โดยเป็นรุ่นที่นำเสนอต่อจาก 4G ซึ่งให้การเชื่อมต่อกับโทรศัพท์มือถือส่วนใหญ่ในปัจจุบัน
ตอนแรก รบ.มซ. ได้ระงับแผน 5G ไว้อย่างน้อย ๒-๓ ปี แต่การที่ รบ. ตัดสินใจกลับมาใช้แผน 5G อีกครั้ง จะส่งผลดีต่อ ศก. อย่างมาก โดยจากผลการศึกษาของสถาบันวิจัย ศก. มซ. เมื่อต้นปี ๒๐๑๙ พบว่า การใช้ 5G สามารถสร้างรายได้ ๑๒.๗ พันล้านริงกิตต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของ มซ. และสร้างงานใหม่ประมาณ ๔๐,๐๐๐ ตำแหน่งในช่วงระยะเวลากว่า ๕ ปี (Special Purpose Vehicle : SPV รูป ๗)
TA Securities บ. หลักทรัพย์ได้รายงานเมื่อ ๒๓ ก.พ. ว่า “การตัดสินใจเร่งเปิดตัว 5G อาจเป็นผลมาจากผลประโยชน์ทาง ศก. เช่น การเพิ่มผลผลิต การสร้างรายได้ การสร้างงาน ตลอดจนการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการแข่งขันกับกับ ปท. อื่นๆ ในภูมิภาค อาทิ ฟป. สป. และไทยที่มีความก้าวหน้าในการเปิดตัว 5G”
เมื่อ ๒๒ ก.พ. รบ. ได้ประกาศว่า จะเป็นหัวหอกในการเปิดตัวบริการ 5G ใน มซ. โดยใช้กระบวนการวัตถุประสงค์พิเศษ (SPV) การเปิดตัว 5G คาดว่าจะเกี่ยวข้องกับการลงทุน ๑๕ พันล้านริงกิตในระยะเวลา ๑๐ ปี ซึ่งจะได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนทั้งหมด
TA Securities ยังกล่าวว่า การที่ รบ. ใช้ SPV ในการเปิดตัว 5G จะเป็นผลดีต่อภาคธุรกิจโทรคมนาคมในท้องถิ่น โดยจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านเงินทุนและแรงกดดันด้านกระแสเงินสด (cash flow) ที่เกี่ยวข้องกับการเปิดตัว 5G หากให้ บ. โทรคมนาคมลงทุนเอง
“การลงทุนในเครือข่าย 5G คาดว่า จะมีค่าใช้จ่ายมากกว่าการลงทุนในเครือข่าย 4G ถึง ๒๕% - ๗๕% ขณะที่ผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์จากการเข้าถึงบริการ 5G ในอัตราภาษีที่แข่งขันได้”
“สำหรับการเปิดรับภาคส่วนนี้ เรายังคงให้การสนับสนุน บ. Axiata ที่ดำเนินธุรกิจในตลาดที่กำลังเติบโตในระดับภูมิภาค ตลอดจนสนับสนุนโอกาสในการปลดล็อคมูลค่าจากธุรกิจดิจิทัลและโครงสร้างพื้นฐาน นอกจากนี้ ยังเน้น บ. โทรคมนาคมที่ดำเนินกิจการใน ปท. อาทิ Maxis และ DiGi เนื่องจากสภาวะที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำในปัจจุบัน จะทำให้ได้ผลตอบแทนพอควรในปี ๒๐๒๑ และ ๒๐๒๒ ที่ ๔.๓% และระหว่าง ๓.๗% - ๔.๓% ตามลำดับ"
นอกจากนี้ ฝ่ายวิจัยธนาคารเพื่อการลงทุนของ Maybank ยังกล่าวว่า การผลักดัน 5G จะเป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจโทรคมนาคมในท้องถิ่น โดยการผูกขาดของ SPV ใช้กับโครงสร้างพื้นฐาน 5G เท่านั้น การถือหุ้นของ บ. โทรคมนาคม จะยังคงเหมือนเดิม และไม่สามารถเปลี่ยนคลื่นความถี่ที่มีอยู่สำหรับ 5G ได้
“นอกจากนี้ การติดตั้ง 5G น่าจะช่วยเพิ่มความต้องการเส้นใยไฟเบอร์ ดังนั้นผู้ใช้โทรศัพท์พื้นฐานจึงควรได้รับประโยชน์ ความเสี่ยงหลักในมุมมองของเรา จึงอยู่ที่ความสามารถในการดำเนินการของ SPV”
ขณะที่การประชุม World Economic Forum ร่วมกับ บ. Pricewaterhouse Coopers (PwC) ภายใต้ห้วข้อ “5G Outlook Series: Enabling Inclusive Long-term Opportunities” ระบุว่า หลาย ปท. ได้มีการเร่งติดตั้งเครือข่าย 5G ในปี ๒๐๒๐ ซึ่งบ่งชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในบทบาทของ 5G ที่เพิ่มมากขึ้น เมื่อโลกฟื้นตัวจากการแพร่ระบาด
“5G จะเข้ามามีบทบาทในการช่วยเปลี่ยนแปลงให้กับ อก. ที่ได้รับผลกระทบในช่วงที่มีแพร่ระบาด ทำให้ธุรกิจต้องนำเครื่องมือและแนวทางปฏิบัติด้านดิจิทัลมาใช้ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ จากเดิมที่อาจต้องใช้เวลาหลายปี ในการทำให้เกิดเปลี่ยนแปลง (transformation)
“การเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันนี้ ได้ท้าทายการรับรู้เกี่ยวกับสถานที่ทำงาน การจัดระเบียบห่วงโซ่อุปทาน และการมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าและหุ้นส่วน เมื่อเราได้ผ่านช่วงเวลาฉุกเฉินที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดมาแล้ว บทบาทของ 5G จะยิ่งปรากฎชัดขึ้น”
รายงานระบุว่า การระบาดใหญ่ทำให้สังคมได้ตระหนักถึงความสำคัญของเทคโนโลยีเกิดใหม่ ที่จะสนับสนุนให้สังคมยอมรับการเปลี่ยนเป็นดิจิทัล ดังนั้น 5G จึงถูกคาดหวังว่าจะมีส่วนช่วยให้ GDP รวมถึงการจ้างงาน เพิ่มขึ้นไปทั่วในทุก ปท. โดยต้องอาศัยความร่วมมือทั้งจากภาครัฐ และเอกชน
วันนี้เป็นเรื่องนโยบายการพัฒนา 5G ของ มซ. ที่รัฐจะลงทุนในโครงสร้างเครือข่ายโทรคมนาคม และเอกชนมาร่วมในฐานะผู้ให้บริการ เพื่อให้รัฐสามารถพัฒนา อก. ดิจิทัลตามยุทธศาสตร์และควบคุมค่าบริการที่เหมาะสม ซึ่งระบบ 5G จะช่วยเพิ่มผลผลิต สร้างงานและมีบทบาทเป็น “ตัวจักร“ สำคัญในการขับเคลื่อน ศก. ในยุคหลังโควิด

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ