เรื่องเล่าด่านรันตู ประจำวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564

เรื่องเล่าด่านรันตู ประจำวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564

วันที่นำเข้าข้อมูล 1 มี.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 20 พ.ย. 2565

| 183 view

เช้านี้ ไม่มีผู้ลงทะเบียนกลับไทยวันที่ ๒๕ ก.พ. ๖๔
วันที่ ๒๔ ก.พ. มียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ ๓,๕๔๕ คน โดยอยู่ในรัฐกลันตัน ๕๓ คน รัฐตรังกานู ๒๒ คน มีผู้ติดเชื้อสะสม ๒๙๑,๗๗๔ คนและผู้เสียชีวิตสะสม ๑,๐๘๘ คน (เพิ่มขึ้น ๑๒ คน) (สถิติข้อมูลการระบาดโควิด รูป ๑)
วันที่ ๒๔ ก.พ. เป็นอีกวันสำคัญของประเทศไทย ที่วัคซีนป้องกันโควิด-๑๙ ของ Sinovac (ซิโนแวค) จากประเทศจีน ๒๐๐,๐๐๐ โดสแรก และวัคซีนของ AstraZeneca (แอสตราเซเนกา) ๑๑๗,๐๐๐ โดส รวมแล้ว ๓๑๗,๐๐๐ โดส ได้ถูกขนส่งมาถึงสนามบินสุวรรณภูมิเรียบร้อย โดยมี นรม. ประยุทธ์ จันทร์โอชา รอง นรม. และ รมต.สธ. นายอนุทิน ชาญวีรกุล พร้อมด้วยอุปทูตจีน และแขกวีไอพี ร่วมการรับมอบวัคซีนซิโนแวค (วัคซีนถึงไทย รูป ๒)
เมื่อวานนี้เช่นกัน นรม. มซ. ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-๑๙ เป็นคนแรกใน มซ. และได้แถลงหลังจากนั้นว่า ขอความร่วมมือ ปชช. ทั่ว ปท. ลงทะเบียนและเข้ารับการฉีดวัคซีนเพื่อหยุดการแพร่ระบาดใน มซ.
ด้าน รมว. วท. มซ. ได้ให้สัมภาษณ์สื่อว่า ขณะนี้มี ปชช. ได้ลงทะเบียนรับวัคซีนแล้วกว่า ๕๐๐,๐๐๐ ราย และโครงการฉีดวัคซีนระยะแรก จะเริ่มในวันที่ ๒๕ ก.พ. ๖๔ ที่รัฐสลังงอร์เป็นแห่งแรก ตามด้วยรัฐต่างๆ จนครบทุกรัฐในวันที่ ๔ มี.ค. โดยรัฐซาบาห์เป็นรัฐสุดท้ายที่จะเริ่มฉีดวัคซีน ทั้งนี้ โครงการฯ ระยะแรกที่คาดว่าจะดำเนินการเสร็จสิ้นภายใน เม.ย. ศกนี้ จะครอบคลุมคนจำนวน ๕๐๐,๐๐๐ คน ประกอบด้วยกลุ่ม frontliners (บุคลากรด้าน สธ. รวมทั้งพลเรือนและทหารที่เกี่ยวข้อง) และบุคคลใน ครม. สส. และ สว. (นรม. ไทยและอุปทูตจีน ร่วมรับวัคซีน รูป ๓)
นาทีที่วัคซีนปรากฎกาย เมฆหมอกที่เคยปกคลุมท้องนภามืดมิดก็เริ่มจางลง สื่อให้เห็นถึงความมั่นใจในการเดินทางที่จะเริ่มกลับมา สายการบินที่เห็นโอกาสได้เสนอความคิดริเริ่มสร้างหลักประกันของการเดินทางแบบ “ปลอดโควิด” (นรม.ไทยฉีดวัคซีน รูป ๔)
เรื่องเล่าด่านรันตูวันนี้ ขอเสนอเรื่อง “ สายการบินมาเลเซียเผยจะใช้ Health Pass สำหรับการเดินทางหลังโควิด–๑๙” ตามรายงานของ นสพ. New Straits Times ฉบับวันที่ ๒๕ ก.พ. ๒๐๒๐ (นรม.มซ. ฉีดวัคซีน รูป ๕)
ในแถลงการณ์เมื่อคืนวานนี้ (๒๔ ก.พ.) สายการบิน Malaysia Airlines กล่าวว่า บัตรสุขภาพ (health pass) จะรวมเข้ากับรูปแบบบัตรเดินทาง (travel pass) ของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association : IATA) ทำให้ผู้โดยสารสามารถสร้างหนังสือเดินทางดิจิทัล (digital passport) บนแอพมือถือของ Malaysia Airlines ได้ (วัคซีนถึงกลันตัน รูป ๖)
สายการบินแห่งชาติ Malaysia Airlines มีแผนที่จะเริ่มใช้ Digital Travel Health Pass เพื่อให้การเดินทางทางอากาศปลอดภัยยิ่งขึ้นในยุคหลังการระบาดโควิด (รายงานข่าว รูป ๗)
การพิสูจน์ตัวตนแบบดิจิทัลนี้ จะปูทางให้ผู้โดยสารของ Malaysia Airlines สามารถใช้ประโยชน์จากตัวเลือกเทคโนโลยีแบบไร้สัมผัสได้ตลอดกระบวนการเดินทาง
“ผู้โดยสารสามารถนัดหมายกับบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับการรับรอง เพื่อทำการทดสอบโควิด-๑๙ แบบ RT-PCR หรือรวมใบรับรองการฉีดวัคซีน Covid-19 ไว้ในโทรศัพท์มือถือได้อย่างง่ายดาย ทำให้ขั้นตอนของข้อกำหนดในการเดินทางสะดวกมากขึ้น” (การเช็คอิน รูป ๘)
บัตรสุขภาพจะยืนยันผลการทดสอบ Covid-19 หรือผลการฉีดวัคซีนที่สายการบินได้รับ และแสดงสถานะ "OK to Travel" ของผู้โดยสาร ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นาย Izham Ismail, CEO, Malaysia Aviation Group กล่าวว่า บัตรนี้จะสร้างความมั่นใจให้กับผู้โดยสาร และช่วยให้เข้าถึงวิธีที่ง่ายต่อการเตรียมพร้อมสำหรับการเดินทางที่กำลังจะมาถึง
ขณะที่นาย Nick Careen รองประธานอาวุโสด้านการรักษาความปลอดภัย สินค้า ผู้โดยสารของ IATA Airport กล่าวเสริมว่า แอพการเดินทางของ IATA เป็นการแก้ปัญหา (solution) ที่ทั้ง รบ. และผู้โดยสารสามารถไว้วางใจได้ ไม่ว่าจะเป็นแบบติดตั้งแยก (stand-alone) หรือรวมไว้ในแอพการเดินทางของสายการบินเอง
ขณะนี้ Malaysia Airlines กำลังทำงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อออกบัตรสุขภาพ โดยจะมีการแจ้งรายละเอียดเพิ่มเติมในเร็วๆ นี้
นี่คือความเคลื่อนไหวของ Malaysia Airlines ที่แถลงว่า จะใช้ Health Pass ยืนยันผลการทดสอบ Covid-19 หรือผลการฉีดวัคซีน และแสดงสถานะ "OK to Travel" ของผู้โดยสาร เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้โดยสาร ซึ่งสามารถสร้าง digital passport บนแอพมือถือของสายการบินได้ สำหรับการเดินทางหลังการระบาดโควิด–๑๙

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ