เรื่องเล่าด่านรันตู ประจำวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2564

เรื่องเล่าด่านรันตู ประจำวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2564

วันที่นำเข้าข้อมูล 1 มี.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 23 พ.ย. 2565

| 208 view

เช้านี้ ไม่มีผู้ลงทะเบียนกลับไทยวันที่ ๒๗ ก.พ. ๖๔
วันที่ ๒๖ ก.พ. มียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ ๒,๒๕๓ คน โดยอยู่ในรัฐกลันตัน ๗๓ คน รัฐตรังกานู ๑ คน มีผู้ติดเชื้อสะสม ๒๙๕,๙๕๑ คนและผู้เสียชีวิตสะสม ๑,๑๑๑ คน (เพิ่มขึ้น ๑๑ คน) (สถิติข้อมูลการระบาดโควิด รูป ๑)
วันนี้ (๒๗ ก.พ.) มีรายงานข่าววัคซีนซิโนแวคของจีน ล็อตแรก ปริมาณ ๒๐๐ ลิตรได้ถูกส่งมาถึง มซ. ซึ่งจะมีการนำไปบรรจุขวดโดย บ. Pharmaniaga Bhd. เป็นวัคซีน ๓๐๐.๐๐๐ โดส และ อีก ๑๐๐,๐๐๐ โดส ใช้ฉีดกรณีฉุกเฉิน ตามความตกลงทวิภาคี ซึ่งจีนต้องจัดหาวัคซีนให้ มซ. ในเวลา ๑ ปี จำนวน ๑๔ ล้านโดส (๒ ล้านโดส/เดือน) เพื่อใช้ในโครงการสร้างภูมิคุ้มกันโควิด-๑๙ แห่งชาติ (NIP) ของ มซ. (วัคซีนจีนถึง มซ. รูป ๒-๓)
ในการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (climate change) คำที่ใช้บ่อยในการกล่าวถึงปริมาณการปล่อยแก๊สเรือนกระจก คือ รอยเท้าคาร์บอน (carbon footprint) วันนี้จึงขอเชิญท่านผู้อ่านมารู้จักกับหน่วยวัดแก๊สเรือนกระจกกันครับ
carbon footprint เป็นการวัดผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์ที่มีต่อระบบสิ่งแวดล้อม ในแง่ของปริมาณแก๊สเรือนกระจกที่สร้างขึ้นมาจากกิจกรรมนั้นๆ โดยวัดคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมา รอยเท้าคาร์บอนใช้สำหรับประมาณว่า คน ประเทศ หรือองค์กรหนึ่งๆ มีผลกระทบต่อภาวะโลกร้อนมากน้อยเพียงใด
วิธีการหลักของรอยเท้าคาร์บอนคือ ประเมินปริมาณคาร์บอนที่ปล่อยออกมาสู่สิ่งแวดล้อมและประเมินความมากน้อยในการส่งเสริมพลังงานทดแทนหรือพลังงานสะอาดขององค์กรนั้น เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ หรือการปลูกป่า รอยเท้าคาร์บอนเป็นส่วนย่อยของรอยเท้าระบบนิเวศ (ecological footprint) ซึ่งจะรวมเอาความต้องการของมนุษย์ทั้งหมดในระบบชีวนิเวศเข้าไปด้วย
รอยเท้าคาร์บอนเป็นการวัดประมาณแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และแก๊สเรือนกระจกอื่นๆ ที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมของมนุษย์ หรือที่ปล่อยออกมาทั้งหมดจากวงจรกระบวนการผลิตสินค้าหรือบริการ โดยจะคิดจากสาเหตุที่เป็นไปได้ทั้งหมดที่มีผลต่อการปลดปล่อยคาร์บอนออกมา หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือ จะต้องนับทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นการปล่อยทั้งทางตรง (on-site, internal) และทางอ้อม (off-site, external, embodied, upstream, downstream)
ปกติแล้ว รอยเท้าคาร์บอน ก็คือปริมาณแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ (นิยมใช้หน่วย กก. หรือตัน) ซึ่งเป็นแก๊สที่ส่งผลกระทบต่อภาวะโลกร้อนเช่นเดียวกับแก๊สเรือนกระจกชนิดอื่นๆ
รอยเท้าคาร์บอนยังสามารถคำนวณได้จากวิธีการดูวงจรการผลิต (Life Cycle Assessment) หรือดูจากปริมาณแก๊สที่ปล่อยออกมาจากพลังงานเชื้อเพลิง อย่างไรก็ตาม ทั้ง ๒ กรณีนี้ก็สามารถใช้วัดปริมาณที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ได้ด้วย นอกจากปริมาณที่ใช้พลังงานจะมีความสำคัญแล้ว ที่มาของพลังงานเหล่านั้นก็มีความสำคัญต่อการคำนวณเช่นกัน (ตัวอย่างเช่นว่า พลังงานเหล่านั้นมาจากเชื้อเพลิงหรือมาจากแหล่งพลังงานทดแทน)
เรื่องเล่าด่านรันตูวันนี้ ขอเสนอเรื่อง ” ‘วัดรอยเท้าคาร์บอน’อภิมหาเศรษฐีโลก” ตามรายงานของ นสพ. กรุงเทพ
ธุรกิจ ฉบับวันที่ ๒๕ ก.พ. ๖๔ (รายงานข่าว นสพ. รูป ๔)
ปี ๖๓ ที่ผ่านมา ทั้งอีลอน มัสก์ จากเทสลา และเจฟฟ์ เบซอส จากอเมซอน แข่งกันรวยอันดับ ๑ ของโลกตลอดทั้งปี ความมั่งคั่งของมัสก์พุ่งขึ้นถึง ๑.๖ แสนล้านดอลลาร์สหรัฐทำให้แย่งตำแหน่งเบซอสมาได้ครู่หนึ่ง แต่อย่าลืมว่า ยิ่งรวยมากเท่าใดก็ยิ่งทิ้งรอยเท้าคาร์บอน (คาร์บอนฟุตปรินท์) มากกว่าคนธรรมดาสามัญหลายพันเท่า (แผนที่โลกแสดงปริมาณการปล่อยแก๊สเรือนกระจกในแต่ละ ปท. รูป ๕)
เว็บไซต์ theconservation.com รายงานว่า พวกอภิมหาเศรษฐีมีทั้งเรือยอชท์ เครื่องบิน และคฤหาสน์หลายหลัง ทั้งหมดล้วนปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยากาศโลก ตัวอย่างเช่น เรือซูเปอร์ยอชท์ที่มีลูกเรือประจำการถาวร มีลานจอดเฮลิคอปเตอร์ เรือดำน้ำ และสระว่ายน้ำ ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปีละประมาณ ๗,๐๒๐ ตัน ถือเป็นสิน ทรัพย์ที่ไม่ควรครอบครองมากที่สุดในแง่ของสภาพแวดล้อม การขนส่งและอสังหาริมทรัพย์ คิดเป็นสัดส่วนสูงสุดในรอยเท้าคาร์บอนของคนกลุ่มนี้
ในปี ๖๑ ผู้อยู่อาศัยในสหรัฐรวมทั้งเศรษฐีพันล้านปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ คนละประมาณ ๑๕ ตัน มากกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่แค่คนละ ๕ ตัน แต่อภิมหาเศรษฐีกลุ่มตัวอย่าง ๒๐ คนที่ theconservation.com ศึกษา กลับปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ย ๘,๑๙๐ ตัน และบางคนก็ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าคนอื่นๆ
เว็บไซต์นี้สุ่มตัวอย่างจาก ๒,๐๙๕ มหาเศรษฐีพันล้านประจำปี ๖๓ ของฟอร์บส แต่การจะหารอยเท้าคาร์บอนจากพวกเขาทำไม่ได้ จึงใช้วิธีศึกษาการบริโภคที่เหล่าเศรษฐีเผยต่อสาธารณะ
จากนั้นรวบรวมข้อมูล ๘๒ ชุดที่เปิดเผยต่อสาธารณะ ระบุรายการบ้าน รถยนต์ เครื่องบิน และเรือยอชท์ของมหาเศรษฐีพันล้าน หลังจากค้นหาอย่างละเอียดถี่ถ้วนก็ได้อภิมหาเศรษฐีที่คนรู้จักกันดี ๒๐ คน ครอบครองทรัพย์สินที่สามารถตรวจสอบได้ในเว็บไซต์ theconservation.com
ขั้นตอนต่อไปใช้แหล่งข้อมูลหลากหลาย เช่น สนง. ข้อมูลพลังงานสหรัฐ และข้อมูลรอยเท้าคาร์บอน ประเมินการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของบ้านแต่ละหลัง เครื่องบิน รถยนต์ และเรือยอชท์แต่ละลำ ในบางกรณีต้องประเมินขนาดของบ้านจากภาพถ่ายดาวเทียม หาข่าวจากสื่อเรื่องการใช้เรือยอชท์หรือเครื่องบินส่วนตัว วิเคราะห์การใช้สินทรัพย์แต่ละชนิดตามขนาดและข้อมูลทุกอย่างที่หาได้
ผลการศึกษาพบว่า ผู้ที่ปล่อยมลพิษรายใหญ่สุดบางคนรวยน้อยกว่ามัสก์และเบซอส ซึ่งสองคนนี้ปล่อยคาร์บอนค่อนข้างน้อย ตัวอย่างของอภิมหาเศรษฐีที่ปล่อยมลพิษสูงมีดังนี้
โรมัน อับราโมวิช อภิมหาเศรษฐีรัสเซีย เจ้าของสโมสรเชลซีในลอนดอนมั่งคั่ง ๑.๙ หมื่นล้านดอลลาร์ ส่วนใหญ่มาจากการค้าน้ำมันและก๊าซ เป็นผู้ปล่อยมลพิษรายใหญ่สุดจากการศึกษาครั้งนี้
อับราโมวิชท่องทะเลเมดิเตอร์เรเนียนด้วยเรือซูเปอร์ยอชท์ชื่อ “อีคลิปส์” หัวเรือขนาด ๑๖๒.๕ ม. ใหญ่เป็นอันดับ ๒ ของโลก เดินทางรอบโลกด้วยเครื่องบินโบอิง ๗๖๗ ออกแบบพิเศษ มีห้องอาหารขนาด ๓๐ ที่นั่ง ถ้าทริปสั้นๆ ก็เดินทางด้วยกัลฟ์สตรีม จี๖๕๐ เฮลิคอปเตอร์ ๑ ใน ๒ ลำที่มีในครอบครอง หรือใช้เรือดำน้ำจากเรือยอชท์ นอกจากนี้เขายังมีบ้านในหลายประเทศ ประเมินว่า ปี ๒๕๖๑ อับราโมวิช ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างน้อย ๓๓,๘๕๙ ตัน กว่า ๒ ใน ๓ มาจากเรือยอชท์ ที่สแตนด์บายพร้อมใช้ตลอดทั้งปี
บิล เกตส์ ปัจจุบันมั่งคั่งเป็นอันดับ ๔ ของโลก ๑.๒๔ แสนล้านดอลลาร์ เป็นผู้ปล่อยมลพิษเล็กน้อย ถ้าเทียบกับมาตรฐานเศรษฐีพันล้านด้วยกัน ซึ่งเป็นแบบฉบับของคนที่ไม่มีเรือยอชท์ลำใหญ่ แต่มีคฤหาสน์หลายแห่ง มีฟาร์มม้า ๑ แห่ง มีเครื่องบินส่วนตัว ๔ ลำ เครื่องบินทะเล ๑ ลำ และคอลเลคชันเฮลิคอปเตอร์ชุดหนึ่ง ประเมินได้ว่าเขาปล่อยคาร์บอนปีละ ๗,๔๙๓ ตัน ส่วนใหญ่มาจากการใช้เครื่องบินส่วนตัวมาก (นายบิล เกตส์ รูป ๖)
อีลอน มัสก์ ซีอีโอ เทสลามอเตอร์และสเปซเอกซ์ สร้างความประหลาดใจให้กับหลายๆ คน เพราะมีรอยเท้าคาร์บอนต่ำ ทั้งๆ ที่มั่งคั่งเป็นอันดับ ๒ ของโลก ๑.๗๗ แสนล้านดอลลาร์และดูเหมือนเขาตั้งใจจะทำให้เป็นตัวอย่างซูเปอร์ริชคนอื่นๆ ด้วย
มัสก์ ไม่มีเรือซูเปอร์ยอชท์ เขาบอกเองว่าไม่เคยลาพักร้อน คำนวณดูแล้วรอยเท้าคาร์บอนของเขาปี ๖๑ ค่อนข้างต่ำ จากบ้าน ๘ หลัง เครื่องบินส่วนตัว ๑ ลำ ปีนี้น่าจะต่ำลงอีกเพราะในปี ๖๓ มัสก์ขายบ้านทั้งหมดไปแล้ว และรับ ปากว่าจะขายทรัพย์สินที่เหลืออยู่ แม้คาร์บอนฟุตปรินท์ของมัสก์ยังสูงกว่าคนทั่วไปหลายร้อยเท่า แต่เขาก็แสดงให้เห็นว่า อภิมหาเศรษฐีสามารถเลือกใช้ชีวิตที่่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำได้ ประเมินว่า คาร์บอนฟุตปรินท์จากทรัพย์สินของมัสก์อยู่ที่ ๒,๐๘๔ ตันในปี ๖๑ (นายอีลอน มัสก์ รูป ๗)
วันนี้ท่านผู้อ่านคงได้รู้จักกับอภิมหาเศรษฐีโลก ๓ รายที่มีวิถีชีวิตที่ต่างกัน ฟุ่มเฟือยแค่ไหนคงวัดได้จาก “รอยเท้าคาร์บอน” ที่ระบุข้างต้น แล้วท่านหล่ะครับ หากมีตัวเลขสูง ก็คงต้องลดจำนวน เพื่อจะได้ช่วยแก้ “ปัญหาโลกร้อน” ร่วมกัน

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ