เรื่องเล่าด่านรันตู ประจำวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564

เรื่องเล่าด่านรันตู ประจำวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564

วันที่นำเข้าข้อมูล 1 มี.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 197 view

เช้านี้ ไม่มีผู้ลงทะเบียนกลับไทยวันที่ ๒๘ ก.พ. ๖๔
วันที่ ๒๗ ก.พ. มียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ ๒,๓๖๔ คน โดยอยู่ในรัฐกลันตัน ๖๘ คน รัฐตรังกานู ๑๑ คน มีผู้ติดเชื้อสะสม ๒๙๘,๓๑๕ คนและผู้เสียชีวิตสะสม ๑,๑๒๑ คน (เพิ่มขึ้น ๑๐ คน) (สถิติข้อมูลการระบาดโควิด รูป ๑)
เช้าตรู่วันนี้ (๒๘ ก.พ.) นรม. ประยุทธ์ จันทร์โอชา พร้อมด้วยรอง นรม./รมต. สธ. นายอนุทิน ชาญวีรกูล เดินทางไปที่อาคารหอประชุมอัจฉรา สถาบันบำราศนราดูร เพื่อดูการฉีดวัคซีนโควิด-๑๙ ของซิโนแวคเป็นวันแรก (รมต.สธ. และคณะรับการฉีดวัคซีน รูป ๒-๓)
ผู้ที่รับการฉีดวัคซีนซิโนแวคเป็นคนแรก คือ รอง นรม./รมต. สธ. โดยมี นพ.ยง ภู่วรวรรณ หน. ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ฉีดให้ ขณะที่ นรม. และคณะยืนให้กำลังใจ โดย นรม. ไม่สามารถรับการฉีดวัคซีนของซิโนแวคได้ เนื่องจากอายุเกินกลุ่มเป้าหมายที่กำหนดตามหลัก เกณฑ์ซิโนแวคที่จะฉีดให้แก่คนที่มีอายุระหว่าง ๑๘-๕๙ ปี ทำให้ นรม. ต้องรอวัคซีนจาก บ. แอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจรับรองรุ่นการผลิต
เรื่องเล่าด่านรันตูวันนี้ ขอเสนอเรื่อง “วัคซีนซิโนแวค ใน มซ.” ตามรายงานในเว็บไซต์ SoyaCincau.com ฉบับวันที่ ๒๕ ก.พ. ๖๔ (วัคซีนซิโนแวคถึง มซ. รูป ๔)
ก่อนอื่น ขอแนะนำวิธีผลิตวัคซีนที่นำเข้ามาใน มซ. ขณะนี้ ได้แก่
วิธีแรกคือ เทคโนโลยี mRNA โดยถอดรหัสพันธุกรรม (genome sequencing) ของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ได้แล้ว นักวิจัยก็นำเอาพันธุกรรมส่วนที่ผลิตโปรตีนปลายแหลม (spike protein) ของโคโรนาไวรัส มาใช้เป็นต้นแบบทำ RNA ขึ้นมา ทั้งนี้ RNA เป็นเสมือนตำราที่เซลล์นำไปใช้ผลิตโปรตีนปลายแหลมดังกล่าวขึ้นมา และเมื่อโปรตีนปลายแหลมดังกล่าวถูกขับออกมาจากเซลล์ ก็จะเป็นเป้าให้กับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่จะตรวจค้นจนพบและผลิตแอนติบอดี เพื่อชี้เป้าสิ่งแปลกปลอมดังกล่าวให้ที-เซลล์ของร่างกายทำการกำจัดให้หมดสิ้น ตลอดจนจดจำโปรตีนปลายแหลมเอาไว้ ดังนั้น เมื่อโคโรนาไวรัสตัวจริงที่มีลักษณะเด่นคือโปรตีนปลายแหลมดังกล่าวแทรกซึมเข้ามาในร่างกาย ระบบภูมิคุ้มกันก็จะมีความพร้อมอย่างมากที่จะจัดการกำจัดไวรัสดังกล่าวอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
การผลิตวัคซีนด้วยวิธี mRNA นั้นแตกต่างจากวิธีการดั้งเดิม ซึ่งจะต้องนำเอาไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคคือโคโรนาไวรัสมาดัดแปลงให้คล้ายกับของดั้งเดิม แต่มีความอ่อนแอกว่าและไม่เป็นพิษเป็นภัย ซึ่งกระบวนการนี้จะต้องใช้เวลานานเป็น ๑๐-๑๕ ปีกว่าจะผลิตวัคซีนที่ปลอดภัยออกมาได้ แต่วิธี mRNA สามารถผลิต RNA ของไวรัสออกมาได้โดยไม่ยุ่งยากนัก และสามารถทำได้อย่างรวดเร็วเมื่อถอดรหัสพันธุกรรมของไวรัสได้สำเร็จแล้ว ถือเป็นวิธีผลิตวัคซีนแบบใหม่ ผู้ผลิตวัคซีนแบบนี้ ได้แก่ วัคซีน Moderna และวัคซีน Pfizer-BioNTech
ข้อดีของวัคซีนนี้ก็คือมีประสิทธิภาพสูง (๙๕% ตามผลวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร New England Journal) ผลิตได้เร็วเพราะผลิตจากโรงงาน ไม่ต้องรอเพาะเชื้อ ข้อเสียก็คือยังไม่ทราบผลข้างเคียงระยะยาวเพราะเป็นวัคซีนที่ผลิตแบบใหม่
วิธีที่ ๒ คือ ผลิตจากเชื้อที่ตายแล้ว (inactivated vaccine) โดยเอาซากของไวรัสโควิด-๑๙ ที่ทำให้ตายแล้ว ฉีดเข้าไปในร่างกาย ถือเป็นซากไวรัสแต่หนามที่หัวของซากก็ยังใช้เป็นเป้าล่อให้ร่างกายมนุษย์ผลิตภูมิคุ้มกันได้อยู่ แม้จะไม่แรงเท่าวัคซีนชนิดตัวเป็นๆ มีบริษัทที่กำลังพยายามผลิตด้วยวิธีนี้อยู่นับสิบแห่งรวมทั้งญี่ปุ่นด้วย แต่ที่ก้าวหน้าจนเอาออกมาฉีดได้แล้วคือ วัคซีนซิโนแวคของจีน
ข้อดีของวัคซีนแบบนี้คือ มั่นใจเรื่องผลข้างเคียง เนื่องจากเรารู้จักกันดีแล้วว่า เป็นวิธีผลิตวัคซีนแทบทุกชนิดที่ใช้กับเด็กและผู้ใหญ่ในปัจจุบัน แต่ปัญหาคือการผลิตแบบนี้ต้องตั้งโรงเพาะเลี้ยงเชื้อโควิด-๑๙ ไว้เป็นจำนวนมาก ทำให้ล่าช้า
การผลิตวิธีนี้เป็นวิธีแบบดั้งเดิมที่มีประสิทธิภาพมากเมื่อเทียบกับแบบอื่น เนื่องจากมีการใช้มาเกือบครึ่งศตวรรษ และใช้รักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัส ได้แก่ โปลิโอ ไวรัสตับอักเสบเอ โรคพิษสุนัขบ้า ไข้หวัดใหญ่ส่วนใหญ่ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
กรณีของวัคซีนซิโนแวคคือ ขั้นแรกไวรัสโคโรน่าจะถูกยับยั้งความสามารถในการแพร่พันธุ์ แต่ขณะเดียวกันก็ยังคงสภาพทางกายภาพของไวรัสไว้ ดังนั้นเมื่อถูกฉีดเข้าไปในร่างกายมนุษย์ จะทำให้ผู้รับการฉีดไม่เจ็บปวดอย่างรุนแรงจาก COVID-19 แต่เพียงพอที่จะกระตุ้นการตอบสนองของภูมิคุ้มกันในร่างกาย
ความท้าทายในการผลิตวัคซีนที่ใช้ไวรัสเชื้อตายแล้วเพื่อป้องกันไวรัสคือ การค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับการกำหนดปริมาณที่พอเหมาะของไวรัสเชื้อตาย ที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้รับการฉีดวัคซีน
มซ. ได้รับวัคซีนซิโนแวคล็อตแรกจำนวน ๒๐๐ ลิตรจากจีนเมื่อ ๒๗ ก.พ. ๖๔ การจัดส่งวัคซีนซิโนแวคแตกต่างจากวัคซีน Pfizer-BioNTech Comirnaty เนื่องจากจัดส่งแบบ CKD (Completely Knocked Down) กล่าวคือต้องนำมาบรรจุขวด (bottling) ก่อน จึงจะออกสู่ตลาดใน ปท. ได้ (ตารางวัคซีนต่างๆ รูป ๕)
หมายเหตุ : Comirnaty (r) เป็นชื่อการค้าของวัคซีนที่ผลิตตามเทคโนโลยีของ บ. ไฟเซอร์ ส่วน CoronaVac (r) เป็นชื่อยี่ห้อของวัคซีนที่ผลิตตามเทคโนโลยีของ บ. ซิโนแวค
บ. ที่รับหน้าที่บรรจุขวดคือ บ. Pharmaniaga ถือเป็นครั้งประวัติศาสตร์ใน อก. เภสัชกรรมของ มซ. เนื่องจากวัคซีนซิโนแวคนี้เป็นวัคซีนแรกที่ถูกบรรจุขวดที่โรงงานท้องถิ่นใน มซ. (รมต. มซ. ที่ร่วมรับวัคซีน รูป ๖)
กระบวนการบรรจุขวดจะเริ่มในวันที่ ๑ มี.ค. ๖๔ และคาดว่าจะแล้วเสร็จในวันที่ ๑๒ มี.ค. ๖๔ อย่างไรก็ตาม พวกเขาได้นำตัวอย่างวัคซีนซิโนแวคที่ใส่ขวดแล้ว ไปยังองค์กรเภสัชกรรมแห่งชาติ (National Pharmaceutical Regulatory Authority : NPRA) เพื่อยื่นขออนุมัติการใช้วัคซีนแล้ว โดยเมื่อวันที่ ๒๘ ก.พ. ๖๔ มีเพียงวัคซีนยี่ห้อ Comirnaty ของ Pfizer-BioNTech เท่านั้นที่ได้รับการอนุมัติจาก NPRA ให้ฉีดกับประชากร มซ. ได้ (บ. Pharmaniaga รูป ๗)
จากปริมาณวัคซีนซิโนแวค ๒๐๐ ลิตร สามารถผลิตเป็นวัคซีนหลอดได้ ๓๑๕,๐๐๐ โดส ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวัคซีนซิโนแวค ๑๒ ล้านโดสที่ มซ. สั่งซื้อจากจีน แต่จากแถลงข่าวของ อธ. สธ. Dr. Noor Hisham เมื่อ ๒๖ ก.พ. ๖๔ ว่า มีการสั่งวัคซีนเพิ่มอีก ๒ ล้านโดสเพื่อเตรียมนำส่ง รพ. เอกชนด้วย จึงรวมเป็น ๑๔ ล้านโดส (รมต. มซ. ที่มารับวัคซีน รูป ๖)
ข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนซิโนแวค ใน ปท. เพื่อนบ้าน มซ.
วัคซีนซิโนแวคมาถึง สป. แล้ว แม้ว่าจะยังไม่ได้รับไฟเขียวจากทางการ สป. ก็ตาม มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า สิ่งนี้เป็นอันตรายสำหรับ สป. เนื่องจากปริมาณวัคซีนที่เข้ามาใน ปท. ต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่จะได้รับความเสียหายในขณะที่รอการยืนยันจากหน่วยงานท้องถิ่น อย่างไรก็ดี รายงานแสดงให้เห็นว่า ภายใต้สภาวะการจัดเก็บที่เหมาะสมสามารถจัดเก็บวัคซีนได้นานถึง ๓ ปี
ไทยได้รับการจัดส่งวัคซีนในวันที่ ๒๕ ก.พ. ๖๔ จำนวน ๒๐๐,๐๐๐ โดสแรก ซึ่งได้เตรียมที่จะฉีดวัคซีน Coronavac ของ บ. ซิโนแวคให้กับคนไทย และวันเดียวกันวัคซีน AstraZeneca ก็มาถึงไทยอีก ๑๑๗,๖๐๐ โดสเช่นกัน
ที่ ฟป. ทางการได้อนุมัติการใช้งานวัคซีนซิโนแวคเป็นกรณีฉุกเฉินแล้ว นอกเหนือจากซิโนแวคยังมีวัคซีนอีก ๒ ชนิดที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้ โดยมาจากผู้ผลิต Pfizer-BioNTech และ University of Oxford/ Astra Zeneca อย่างไรก็ดี จะไม่มีการฉีดวัคซีนซิโนแวคให้แก่ จนท. ที่ปฏิบัติงานอยู่แนวหน้า (frontliners) เนื่องจากยังมีระดับประสิทธิผลที่ไม่สอดคล้องกัน ซึ่งแสดงให้เห็นในช่วงสุดท้ายของการทดลองทางคลินิก ดังนั้นใน ฟป. จะมีการฉีดวัคซีนซิโนแวค ให้เฉพาะบุคคลที่มีสุขภาพดีระหว่างอายุ ๑๘-๕๙ ปีเท่านั้น
ขณะที่ อซ. ได้เริ่มกระบวนการฉีดวัคซีนซิโนแวคให้กับประชากร อซ. แล้ว
วัคซีนซิโนแวคล็อตแรกที่ส่งถึง มซ. เป็นล็อตแบบ bulky ขนาด ๒๐๐ ลิตร (ประมาณ ๓ แสนโดส) ทำให้ได้ราคาถูก เป็นการผลิตจากเชื้อไวรัสที่ตายแล้ว ข้อมูลวันนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกท่าน เนื่องจากจะมีการฉีดวัคซีนซิโนแวคให้กับคนไทยในเร็ววันนี้เช่นกัน

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ