เรื่องเล่าด่านรันตู ประจำวันที่ 29 ธันวาคม 2563

เรื่องเล่าด่านรันตู ประจำวันที่ 29 ธันวาคม 2563

วันที่นำเข้าข้อมูล 30 ธ.ค. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 24 พ.ย. 2565

| 377 view

เช้านี้ ไม่มีผู้ลงทะเบียนกลับไทยวันที่ ๒๙ ธ.ค. ๖๓
การแพร่ระบาดโควิดใน มซ. วันที่ ๒๘ ธ.ค. มีสถิติสูงกว่าเมื่อวาน โดยมียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ ๑,๕๙๔ คน อยู่ในรัฐกลันตัน ๒๘ คน รัฐตรังกานู ๓ คน และมีผู้ติดเชื้อสะสม ๑๐๖,๖๙๐ คน ผู้เสียชีวิตสะสม ๔๕๕ คน (เพิ่มขึ้น ๓ คน) (สถิติข้อมูลการระบาดโควิด รูป ๑)
เรื่องเล่าด่านรันตู วันนี้ขอเสนอเรื่อง “๕ คำทำนายในปี ๒๕๖๔” โดย ดร. ปิยศักดิ์ มานะสันต์ ในคอลัมน์ Global Vision ของ นสพ. กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ ๒๖ ธ.ค. ๖๓ (ข่าว นสพ. รูป ๒-๓)
ผู้เขียนได้ออกตัวแต่ต้นว่า คำทำนายปี ๖๔ อาจจะไม่ตรง โดยอ้างตรรกะแห่งพุทธพจน์ที่ว่า “ความไม่แน่นอนคือสิ่งที่แน่นอน” นั้น เป็นจริงเสมอ
ปี ๖๓ เป็นปีแห่งอาถรรพณ์ที่โรคร้ายแห่งศตวรรษได้มาระบาดทั่วโลก โรคร้ายยังได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล ทั้งในแง่ ศก. สังคม การเมือง สงครามเย็น และการพัฒนาของโลกอย่างไม่มีวันหวนกลับ
ด้วยการเปลี่ยนแปลงแบบ “พสุธาพลิก” (Tectonic Shift) ผู้เขียนมองว่าปี ๖๔ จะเป็นจุดเริ่มต้นของยุคใหม่ โดยขอฉายภาพ ๕ คำทำนายของปี ๖๔ ดังนี้ (๒ ใน ๕ คำทำนายเปลี่ยนโลก รูป ๔)
๑. วัคซีนจะมาช้ากว่าคาด แต่ยารักษาโควิดและเครื่องตรวจจะเป็นความหวัง และผู้คนจะชินกับ New Normal
วัคซีนทั่วโลกจะฉีดได้เพียง ๒.๔ ล้านโดสในครึ่งปีแรกและ ๔ ล้านโดสในครึ่งปีหลัง พลโลกได้รับการฉีดประมาณ ๒.๔ พันล้านคนในปี ๖๔ หรือประมาณ ๓๐% ของประชากรโลกที่ ๗.๗ พันล้านคน ศก. โลกไม่ฟื้นตัวเต็มที่
๒. ศก. จะฟื้นตัวแบบ “หลุม” แบบ “ช้อน” แบบ “ตัว K”
ศก. โลกจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป การฟื้นตัวในแต่ละ ปท. ต่างกัน ขึ้นกับ ๑) จำนวนผู้ติดเชื้อและการได้รับวัคซีน ๒) การพึ่งพิงการท่องเที่ยวและบริการ ๓) ศก. แต่ละ ปท. หากธุรกิจเกี่ยวข้องกับภาคบริการจะฟื้นตัวช้ากว่า
ปท. ที่ ศก. เติบโตได้ดีที่สุดในปี ๖๔ ได้แก่ จีน อัตรา ๖-๗% และการฟื้นตัวจะเป็นแบบเครื่องหมายไนกี้ สหรัฐ (๓-๔%) ที่ฟื้นตัวขึ้นจากฐานต่ำและวัคซีน แต่การเมืองจะเป็นตัวฉุดรั้ง ทำให้การฟื้นตัวเป็นรูปแบบช้อน (คือเป็นหลุมก่อนที่จะฟื้นตัวขึ้น)
ขณะที่ ศก. ไทย (๓-๔%) ยูโรโซน (๒-๓%) และ ญป. (๑-๒%) จะฟื้นตัวต่ำกว่า เนื่องจากพึ่งพิงความต้องการจากต่างประเทศและภาคการท่องเที่ยวที่สูงกว่า การฟื้นตัวเป็นรูปแบบแอ่ง รวมถึงระดับการฟื้นตัวไม่เท่ากัน (เป็นรูป K-shape) โดยภาค กษ. และ อก. ฟื้นตัวดีขึ้นกว่าภาคบริการ (การฟื้นตัว ศก. ของ ปท.ต่างๆ รูป ๕)
๓. สงครามเย็นภาค ๒ : จาก Superman เป็น Avenger
ในยุคของทรัมป์ สหรัฐประกาศสงครามเย็นกับจีนผ่านการรบ ๔ สมรภูมิ คือการค้า เทคโนโลยี การลงทุน และความมั่นคง ทำสงครามแบบ “ฉายเดี่ยว” (Superman) เช่น ขึ้นภาษีนำเข้ากับจีน และแบนบริษัทเทคฯ จีน เป็นต้น
ในยุคไบเดน สงครามเย็นจะเปลี่ยนเป็นรบแบบ “รวมพล” เหมือน Avenger มากขึ้น ด้านการค้า สหรัฐจะเดินเกมในเอเชียมากขึ้น ผ่านความร่วมมือกับอาเซียน TPP และ APEC โดยบีบจีนให้ยอมตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดร่วมกัน เช่น มาตรฐานสินค้า การคุ้มครองแรงงาน ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม และการลดทอนอิทธิพลและขนาดของรัฐวิสาหกิจใน ศก. แลกกับการลดภาษีนำเข้าในสมัยทรัมป์
ส่วนสมรภูมิเทคโนโลยี จีนพัฒนาเทคโนโลยีมากโดยให้เงินอุดหนุนกับ บ. ขนาดใหญ่ แผ่อิทธิพลด้านเทคโนโลยีของตนให้กับ ปท. กำลังพัฒนา รบ. ไบเดนจะมีนโยบายสนับสนุนธุรกิจเทคโนโลยีในสหรัฐและพันธมิตรมากขึ้น เช่น ผ่อนคลาย กม. ต่อต้านการผูกขาด เพื่อให้ บ.เทคฯ ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐ ยุโรป และเอเชียได้เติบโตขึ้น
จีนและสหรัฐจะหาพันธมิตรเพื่อกดดันอีกฝ่ายมากขึ้น ขณะที่ทั้งคู่จะใช้นโยบายพึ่งพาตนเอง ลดการพึ่ง supply chain จากต่างชาติให้น้อยที่สุด ผ่านนโยบาย Dual circulation ของจีน และ Made in all of America มากขึ้น
๔. Tech-Celelation หรือการเร่งตัวของเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด
วิกฤติโควิดจำกัดการปฏิสัมพันธ์โดยตรง ทำให้มนุษยชาติรับเทคโนโลยีรวดเร็วอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน บ. McKinsey กล่าวว่า ผู้บริโภคและภาคธุรกิจย่นระยะเวลาการรับเทคโนโลยีจาก ๕ ปีเหลือ ๘ สัปดาห์และ ๑๐ ปีเหลือ ๓ เดือน สำหรับการชอปปิ้งออนไลน์ โดยเฉพาะผู้บริโภคในสหรัฐและอิตาลี (นั่นคือเร่งไปปี ๒๕๖๘-๒๕๗๓)
นิตยสาร The Economist ระบุว่า การทำธุรกรรมแบบไร้เงินสด (Cashless) ทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดภายใน ๒-๕ ปี ด้านการแพทย์ นสพ. New York Times ระบุว่า บริการการแพทย์ในอังกฤษได้ย่นระยะเวลาจาก ๑ ทศวรรษเหลือ ๑ สัปดาห์ โดยแพทย์เปลี่ยนไปใช้การให้คำปรึกษาผ่านอุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ
ผู้เขียนมองว่า กระแส Tech-celelation จะส่งผลกระทบกับ ๓ กลุ่มธุรกิจทั่วโลก ได้แก่
๑) ธุรกิจไอที เนื่องจากโควิดทำให้จำเป็นต้องทำธุรกิจแบบ Social Distancing มากขึ้น ธุรกิจซอฟต์แวร์ทั่วโลกจะขยายตัว ๗% บ. Amazon, Google, Microsoft จะเข้ามาแข่งขันในธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์มากขึ้น
๒) ธุรกิจค้าปลีก จะกลับมาเติบโตประมาณ ๓% โดย ปท. เอเชีย เช่น จีน วน. และฟป. รวมถึงสหรัฐจะเติบโตได้ในระดับ ๔-๗% ผลจากการชอปปิ้งออนไลน์ที่มากขึ้น
๓) ธุรกิจเทเลคอม ที่จะได้ประโยชน์จากชอปปิ้งออนไลน์ และ Work from Home มากขึ้น
๕. จะเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติพลังงานสะอาด (Clean Energy Revolution)
ปี ๒๕๕๘ กว่า ๑๙๐ ปท. ได้ลงนาม Paris Agreement การประชุมสุดยอดสภาพภูมิอากาศโลก (COP21) และให้คำมั่นว่าจะพยายามลดอุณหภูมิโลก (ภาวะโลกร้อน) ให้ต่ำกว่า 2◦C เทียบกับช่วงก่อนปฏิวัติ อก. ภายในปี ๒๕๙๓
ในการประชุม COP-26 ที่อังกฤษ ปลายปี ๖๔ สหภาพยุโรปจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเหลือ ๐ ภายในปี ๒๕๙๓ (อีก ๓๐ ปี) เช่นเดียวกับสหรัฐ ส่วนจีนจะลด “การปล่อยก๊าซคาร์บอน” ให้เหลือ ๐ ภายในปี ๒๖๐๓
ผู้เขียนมองว่าปี ๖๔ จะเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติพลังงานสะอาด ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใน ๓ จุด
๑) ความต้องการน้ำมันถึงจุดสูงสุดแล้วและจะลดลงในระยะต่อไป พร้อมกับความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าที่มากขึ้น ยอดขายรถยนต์นั่งและรถบรรทุกปี ๖๔ จะเพิ่มเป็น ๘๐ ล้านคัน เพิ่ม ๑๕% (๗๐ ล้านคัน ปี ๖๓ และที่ ๘๔ ล้านคัน ปี ๖๒) แต่ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า (EV) จะเพิ่มเป็น ๓.๔ ล้านคัน (๔.๓% ของรถยนต์ทั้งหมด เพิ่มขึ้นจาก ๒.๕% ในปี ๖๒) โดย ปท. ต่างๆ มีนโยบายจะสนับสนุนการใช้ EV ลดการอุดหนุนการใช้เครื่องยนต์สันดาป (ICE)
๒) ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับแร่ธาตุหายากและโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาดจะเฟื่องฟู การพึ่งพลังงานหมุนเวียนจะเพิ่มจาก ๕% ของการผลิตไฟฟ้าเป็น ๒๕% ในปี ๒๕๗๘ และเกือบ ๕๐% ในปี ๒๕๙๓
๓) การลงทุนที่เกี่ยวกับสีเขียวจะเฟื่องฟู โดย Clean Energy Revolution ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการเงิน
ด้านการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทดแทนทั่วโลกได้เพิ่มขึ้น ๗๐% (ช่วง ๕ ปี) ในปีนี้ดัชนีหุ้นที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาดปรับตัวเพิ่มขึ้น ๔๕% หลังจากที่ไบเดนประกาศจะตั้ง งปม. ๒ ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อลดการใช้คาร์บอนในสหรัฐ ผู้เขียนจึงเชื่อว่าการลงทุนในธุรกิจดังกล่าวจะเติบโตก้าวกระโดดในปี ๖๔
กล่าวโดยสรุป ในปี ๖๔ (๑) วัคซีนจะมาช้า (๒) ศก. จะฟื้นแบบช้อน แบบหลุม และแบบตัว K (๓) สงครามเย็นจะเป็นแบบ Avenger (๔) จะเป็นปีแห่ง Tech-Celelation (๕) เป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติพลังงานสะอาด (Clean Energy Revolution)
ส่วนผู้อ่านทั้งหลายเตรียมพร้อมกับความเสี่ยงและโอกาสในปีหน้าแล้วหรือยัง

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ