เรื่องเล่าด่านรันตู ประจำวันที่ 11 มีนาคม 2564

เรื่องเล่าด่านรันตู ประจำวันที่ 11 มีนาคม 2564

วันที่นำเข้าข้อมูล 14 มี.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 24 พ.ย. 2565

| 239 view

เช้านี้ ไม่มีผู้ลงทะเบียนกลับไทยวันที่ ๑๑ มี.ค. ๖๔
วันที่ ๑๐ มี.ค. มียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ ๑,๔๔๘ คน โดยอยู่ในรัฐกลันตัน ๑๙ คน รัฐตรังกานู ๘ คน มีผู้ติดเชื้อสะสม ๓๑๗,๗๑๗ คน และผู้เสียชีวิตสะสม ๑,๑๙๑ คน (เพิ่มขึ้น ๕ คน) (สถิติข้อมูลการระบาดโควิด รูป ๑)
รมต. สธ. มซ. ประกาศว่า ภายใต้มาตรา ๑๐(๒) ของประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน มซ. รพ. เอกชนและคลินิกจำนวน ๑๘๖ แห่งทั่ว ปท. มีอำนาจออกใบกักตัวเพื่อเฝ้าระวังในที่พักให้ผู้ป่วย หรือส่งตัวผู้ป่วยไปยังสถานกักตัวของรัฐได้ มีผลตั้งแต่ ๑๑ มี.ค. ๖๔
หลายคนมีข้อสงสัยว่า ทำไม “วัคซีนโควิด-๑๙” ถึงต้องเป็นหน่วยงานรัฐที่สามารถนำเข้าได้เท่านั้น “เอกชน” ถึงมีเงิน ก็นำเข้าไม่ได้
เรื่องเล่าด่านรันตูวันนี้ ขอเสนอเรื่อง “ตอบคำถาม ‘วัคซีนโควิด-๑๙' มาแล้ว แต่ทำไมเอกชนถึงนำเข้าไม่ได้”ตามรายงานของ นสพ. กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ ๘ มี.ค. ๖๔ (รายงานข่าว รูป ๒)
เมื่อวันที่ ๘ มี.ค. “ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ” หน. ศูนย์เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก “Yong Poovorawan” ไขข้อข้องใจ เรื่อง “วัคซีนโควิด-๑๙" ที่ไม่ให้ “เอกชน” นำเข้า ว่า “วัคซีนโควิด-๑๙” ในปัจจุบัน ทั่วโลกจะ “ขึ้นทะเบียน” แบบใช้ในภาวะฉุกเฉิน EUA (Emergency Use Authorization) เกือบทั้งหมด
ดังนั้น การใช้ในแต่ละ ปท. รบ. ของแต่ละ ปท. จะต้องรับผิดชอบเอง บ. ผู้ผลิตจึงจะไม่เจรจากับภาค “เอกชน” และไม่เข้ามารับผิดชอบร่วมด้วย ในกรณีที่เกิดมีอาการแทรกซ้อน หรืออาการไม่พึงประสงค์
การขายต่างประเทศต้องติดต่อกับภาครัฐเท่านั้น
“ศ.นพ. ยง” กล่าวต่อว่า การส่งไปจำหน่ายในต่างประเทศ ส่วนใหญ่จึงต้องการติดต่อกับภาครัฐเท่านั้น ภาค “เอกชน” เมื่อติดต่อกับ บ. ผู้ผลิต บ. จะไม่ติดต่อด้วย จะต้องได้รับการรับรอง ร้องขอ หรือสั่งจองจากภาครัฐหรือตัวแทนภาครัฐ เช่น องค์การเภสัช หรือหน่วยงานอื่นที่ภาครัฐมอบหมายเท่านั้น ขณะนี้วัคซีนหลาย บ. อยากขายเพราะได้ราคาดีมาก (ตารางเปรียบเทียบผลการใช้วัคซีน รูป ๓)
ในอนาคตหลังจากที่ ปท. ทางตะวันตกได้ให้ "วัคซีน" กับ ประชาชนในปท. ของตนเองมากพอแล้ว “วัคซีน” ก็จะเริ่มล้น และ บ.ก็ต้องการจะขายเอากำไร อย่างในอเมริกาตั้งเป้าการฉีดให้ได้ตามเป้าหมายภายในเดือน พ.ค. หลังจากนั้นปริมาณการใช้ “วัคซีน” ก็จะลดลง บ. ที่ผลิตถึง ๓ บ. ก็ต้องการส่งออกหรือขายนั่นเอง
“ตามหลักความจริงแล้ว ภาคเอกชนจะไม่สามารถที่จะนำเข้ามาได้เลย ถึงแม้จะเป็นตัวแทนให้ทาง บ. มา “ขึ้นทะเบียน” กับ อย. ทาง บ. ก็ไม่สนใจที่จะมาขึ้นทะเบียน ถ้าภาครัฐไม่ร้องขอ บ. จะต้องการหนังสือรับรองแสดงเจตจำนง (LOI) จากทางภาครัฐหรือตัวแทนภาครัฐเท่านั้น จนกว่าในอนาคตที่ได้ “ขึ้นทะเบียน” เต็มรูปแบบ และรับประกันความผิดชอบแล้ว ภาค “เอกชน” จึงจะสามารถนำเข้ามาได้ หรือนำมาขึ้นทะเบียนได้”
อย่างไรก็ตาม “วัคซีน” หลายชนิดที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน อยู่นอกแผนการให้วัคซีนแห่งชาติ เช่น วัคซีนผู้ใหญ่ป้องกันปอดบวม “วัคซีน” เด็ก ๕ โรค ๖ โรค เพราะใช้ในยามปกติอยู่แล้ว และ “ขึ้นทะเบียน”ได้ในภาวะปกติ
ทางออก “เอกชน” ร่วมจัดซื้อ ลงทุนช่วยรัฐ
“ศ.นพ.ยง” กล่าวอีกว่า สำหรับทางออกที่จะให้ภาค “เอกชน” ได้ร่วมจัดซื้อ ลงทุน หรือบริการ “วัคซีน” ช่วยภาครัฐได้ โดยเฉพาะพวกนายทุนใหญ่ๆ ภาค “เอกชน” จะต้องรวมตัวกันเจรจากับภาครัฐ และทางฝ่ายรัฐหรือตัวแทนภาครัฐ จะต้องเป็นผู้เจรจากับ บ. “วัคซีน” ต้องรับรองหรือมีเงินกองทุนรับผิดชอบ กรณีมีปัญหาของ “วัคซีน” เช่น อาการไม่พึงประสงค์ เพราะถือว่าเป็นการแบ่งเบาภาครัฐ ภาครัฐจะต้องออกหนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intent : LOI) หนังสือนี้จะต้องเป็นของภาครัฐหรือตัวแทนภาครัฐเท่านั้น แสดงเจตนาต่อคู่สัญญาก่อนที่จะเซ็นสัญญาร่วมกัน ถ้าไม่มีหนังสือแสดงเจตจำนง บ. วัคซีนต่างๆ ก็จะไม่มาขึ้นทะเบียน จึงเป็นไปไม่ได้ที่ภาค “เอกชน” จะนำวัคซีนเข้ามาเอง
“โดยหลักการแล้ว บ. ใหญ่ๆ นายทุนใหญ่ๆ ก็อยากจะช่วยเหลือภาครัฐนำเข้า “วัคซีน” อย่างที่เห็นเป็นข่าวอยู่เสมอ เพื่อต้องการให้ ศก. ฟื้นเร็ว แต่ในความเป็นจริง ภาคเอกชนหรือนายทุนที่จะช่วยเหลือ เช่น โรงงานต่างๆ สภา อก. แหล่งท่องเที่ยว ถ้าทางภาครัฐไม่เข้าร่วมเจรจากับ "บ. วัคซีน" แล้ว ก็จะเป็นการยากที่จะมีการนำเข้ามาในช่วงนี้ จนกว่าจะมีการขึ้นทะเบียนในต่างประเทศแบบเต็มรูปแบบ ไม่ใช่ในภาวะฉุกเฉินอย่างที่เป็นอยู่ปัจจุบัน"
จากข้างต้น หลายคนที่สงสัยคงจะเข้าใจแล้วนะครับว่า ทำไมภาคเอกชนที่อยากนำเข้าวัคซีนโควิด-๑๙ แต่ไม่สามารถนำเข้ามาได้

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ