เรื่องเล่าด่านรันตู ประจำวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564

เรื่องเล่าด่านรันตู ประจำวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564

วันที่นำเข้าข้อมูล 23 ก.พ. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 23 พ.ย. 2565

| 168 view

เช้านี้ ไม่มีผู้ลงทะเบียนกลับไทยวันที่ ๑๖ ก.พ. ๖๔
วันที่ ๑๔ ก.พ. มียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ ๒,๑๗๖ คน โดยอยู่ในรัฐกลันตัน ๓๑ คน รัฐตรังกานู ๕๓ คน มีผู้ติดเชื้อสะสม ๒๖๖,๔๔๕ คน และผู้เสียชีวิตสะสม ๙๗๕ คน (เพิ่มขึ้น ๑๐ คน) (สถิติข้อมูลการระบาดโควิด รูป ๑)
เรื่องเล่าด่านรันตูวันนี้ ขอเสนอเรื่อง “การพัฒนาธุรกิจกับวาระความยั่งยืน ESG” ตามรายงานของ นสพ. The Star ฉบับวันที่ ๒ ก.พ. ๒๐๒๐
ปัจจุบัน วงการตลาดทุนระดับโลกให้ความสำคัญกับประเด็น “ความยั่งยืน” ของธุรกิจ และนักลงทุนต้องการข้อมูลของ บ. จดทะเบียนในตลาดหุ้น มากกว่าการดูตัวเลขผลประกอบการทางการเงินเพียงอย่างเดียว
นักลงทุนสถาบันหรือนักลงทุนมืออาชีพ จะให้ความสำคัญกับข้อมูลที่ไม่ใช่ตัวเลขทางการเงินด้วย นั่นคือ ข้อมูลการดำเนินงานที่เป็นปัจจัยนำไปสู่ความยั่งยื ที่เรียกว่า ESGs ได้แก่ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดลัอม (Environmental) รับผิดชอบต่อสังคมและผู้มีส่วนได้เสีย (Social) และดำเนินงานอย่างมีธรรมาภิบาล (Governance) ซึ่งได้รับการยอมรับสูง และปัจจุบันกำลังกลายเป็นกระแสหลักในโลกธุรกิจ (ESG becoming mainstream รูป ๒)
ล่าสุดมี ๒ กรณี ได้แก่ กรณี บ. Top Glove หลังจากถูกเปิดเผยว่า บ. ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตถุงมือจัดที่พักอาศัยของคนงานอย่างขาดสุขอนามัย ซึ่งนำไปสู่การติดเชื้อโควิด-๑๙ จำนวนมาก จนราคาหุ้นตก จากนั้น BlackRock ผจก. สินทรัพย์รายใหญ่ที่สุดของโลกที่ถือหุ้น ๑.๖๑% ใน บ. Top Glove ได้ลงมติไม่ให้มีการเลือกตั้งกรรมการอิสระ ๖ คนในการประชุมสามัญประจำปีของผู้ผลิตถุงมือยาง เนื่องจาก BlackRock มีความเห็นว่า คกก. ล้มเหลวในความรับผิดชอบที่จะกำกับดูแลเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและความปลอดภัยของ รง. ต่างด้าวใน บ. จึงทำให้ Top Glove ให้คำมั่นที่จะแก้ไขข้อกังวลเหล่านั้น เห็นได้ว่า ESG มีส่วนที่ครอบคลุมเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility: CSR) ด้วย (โรงงาน Top Glove รูป ๓)
กรณีที่ ๒ คือการประกาศล่าสุดของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงาน (Employees Provident Fund : EPF) หรือภาษามาเลย์ เรียกว่า Kumpulan Wang Simpanan Pekerja (KWSP) ว่ามีเป้าหมายที่จะลงทุนทั้งหมดตามแนวปฏิบัติ ESG ภายในปี ๒๐๓๐ โดย EPF อาจไม่ลงทุนใน บ. ผลิตน้ำมันและก๊าซอีกต่อไปในระยะเวลา ๑๐ ปีเนื่องจากการขุดเจาะเชื้อเพลิงฟอสซิล ถือได้ว่าเป็นกิจกรรมที่ไม่สอดคล้องกับ ESG
จุดประกายการถกเถียงกันในสังคมเกี่ยวกับ ESG มี ๒ ประเด็นคือ ๑. มาตรฐานของ ESG ที่ถูกต้องคืออะไร ๒. ความสัมพันธ์ระหว่าง ESG กับผลตอบแทนจากการลงทุนคืออะไร
๑. ปัญหาการขาดมาตรฐานสากลของ ESG
ณ จุดนี้ยังไม่มีมาตรฐานสากลสำหรับ ESG มีหลายหน่วยงานที่มีมาตรฐานของตัวเอง สิ่งนี้ทำให้นักลงทุนและผู้ออกตราสารสามารถเข้าใจกลยุทธ์ ESG ได้ยาก
Andrew Chan หน. แผนกที่ปรึกษาด้านความยั่งยืนและสภาพอากาศของ PwC Malaysia ได้ให้คำจำกัดความของ ESG ที่สามารถสรุปได้ว่าเป็น "การสร้างมูลค่าที่ยั่งยืน"
ในบริบทนี้ การปรับกระบวนทัศน์ที่สำคัญสำหรับ บ. ต่างๆ เป็นการเปลี่ยนมุมมองจากการเพิ่มผลกำไร ไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพของมูลค่า และเปลี่ยนจากการมุ่งเน้นผลกำไรระยะสั้น เป็นการคำนึงถึงผลกำไรระยะยาว รวมถึงผลกระทบต่อลูกค้า ชุมชน และสิ่งแวดล้อม (ESG is the vaccine for any crisis รูป ๔)
Chan จึงตั้งคำถามว่า องค์กรต้องการเพิ่มผลกำไรสูงสุดหรือต้องการเพิ่มมูลค่า ผลกำไรระยะสั้นสำคัญกว่าระยะยาวหรือไม่ ผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นมีความสมดุลกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างไร
๒. ความสัมพันธ์ระหว่าง ESG กับผลตอบแทน
Alizakri Alias หน. จนท. กองทุน EPF อธิบายว่า “ความผันผวนของตลาดในช่วงครึ่งแรกของปี ๒๐๒๐ เป็นสิ่งที่ท้าทาย สำหรับ EPF ที่จุดสูงสุดของคลื่นลูกแรกของการแพร่ระบาดโควิด-๑๙ นั้น หุ้นที่มี ESG ๑๐ อันดับแรกของ EPF มีผลการดำเนินงานที่ดีกว่า ๑๐ อันดับท้ายในไตรมาสแรกของปี หากเราจัดอันดับบริษัทตามคะแนน 'สังคม' ด้วยเครื่องมือจัดอันดับ ESG ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของเรา บ. ที่อยู่ในรายชื่อ ๑๐ อันดับแรกมีประสิทธิภาพสูงกว่า FBMKLCI ถึง ๖% ในไตรมาสแรกของปี ๒๐๒๐" (ESG practices in Malaysia รูป ๕)
“เรามองว่า ESG เป็นวัคซีนสำหรับวิกฤตต่างๆ ในกรณีที่แย่สุดแล้ว ประสิทธิภาพของสินทรัพย์ที่สอดคล้องกับ ESG ก็ไม่ได้แย่ลงเท่ากับสินทรัพย์อื่นๆ นี่คือกุญแจสำคัญในการเติบโตอย่างยั่งยืน”
เกี่ยวกับสถานะของการปฏิบัติตาม ESG ของ บ. จดทะเบียนใน มซ. ข้อบ่งชี้อย่างหนึ่งคือ บ. ต่างๆ เริ่มเข้าสู่ดัชนี FTSE4 Good Bursa Malaysia Index ซึ่งได้กลายเป็นมาตรการของตลาดหลักทรัพย์ใน ปท. สำหรับการปฏิบัติตาม ESG อย่างไรก็ตาม มี บ. จดทะเบียนเพียง ๗๕ แห่งจาก ๙๓๓ แห่งเท่านั้นที่อยู่ในดัชนีดังกล่าว การขึ้นสู่ดัชนียังมีข้อจำกัด เนื่องจากเป็นการคัดมาจาก ๒๐๐ อันดับแรกเท่านั้น (Invest Malaysia 2020 รูป ๖)
ด้าน ผอ. ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บ. Affin Hwang AM นาย Gan Eng Peng ได้ยกกรณีของ บ. กล่าวว่า มีหลักฐานชัดเจนว่า ESG มีความสัมพันธ์กับการประเมินมูลค่าหุ้น
ตัวอย่างเช่น Tenaga Nasional Bhd (การไฟฟ้า มซ.) และสต๊อกน้ำมันปาล์มในเอเชีย ที่เป็นกระแสทั้งในและต่างประเทศ ทำให้นักลงทุนจำนวนมากต้องเฝ้าติดตามว่า จะเป็นวงจรที่ดีงามหรือวงจรแห่งความเลวร้าย (virtuous or vicious cycle) ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน" เขากล่าว
ขณะเดียวกัน Vincent Khoo หน. ฝ่ายวิจัยของ UOB ได้สังเกตเห็นสัดส่วนการถือหุ้นจากต่างประเทศที่ลดลงในภาคส่วนที่ต้องเผชิญกับปัญหา ESG มากขึ้น เช่น การเพาะปลูก พลังงาน รวมถึงน้ำมันและก๊าซ
Khoo กล่าวว่า “ด้วยความสนใจและให้ความสำคัญกับการลงทุนอย่างยั่งยืนมากขึ้น การลงทุน ESG จึงเริ่มคืบคลานเข้าสู่กระแสการลงทุนหลัก โดยดัชนี FTSE ของหุ้นที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมอย่างมีนัยสำคัญ ได้เพิ่มขึ้น ๓๗% ในปี ๒๐๒๐”
“อย่างไรก็ตาม เราคิดว่าหุ้นจำนวนมากเหล่านี้เป็นตัวแทนของภาคส่วน (เช่น เทคโนโลยี) ที่มีความยืดหยุ่นหรือเติบโตได้ดี ในสภาวะ ศก. ที่ท้าทายอย่างมากในปีที่แล้ว” เขากล่าวเสริม
Khoo ยังกล่าวอีกว่า หุ้น "สีเขียว" เช่น หุ้นที่เกี่ยวข้องกับพลังงานหมุนเวียน การดูแลสุขภาพ และยานพาหนะไฟฟ้า ให้ผลตอบแทนที่ดีในปี ๒๐๒๐ และสะท้อนถึงการเติบโตของอุปสงค์เชิงโครงสร้างที่ได้รับแรงหนุนทั้งจาก กม. ของ รบ. และความต้องการของผู้บริโภค (วิเคราะห์ความยั่งยืน Sustainalytics รูป ๗)
วันนี้เป็นการรายงานเกี่ยวกับ ESG ที่กำลังมีบทบาทสำคัญกับการพัฒนาธุรกิจของ บ. ทั่วโลก รวมทั้งไทยด้วย ซึ่งหากใช้วาระแห่งความยั่งยืน เป็นแนวคิดในการปรับปรุงประสิทธิภาพ มีแนวโน้มที่จะขับเคลื่อนนวัตกรรม ลดต้นทุนและลดความเสี่ยง รวมทั้งยกระดับแบรนด์ขององค์กร ก็สามารถใช้ข้อมูล ESG ในการพัฒนาธุรกิจให้มีความยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นบริษัทที่มีธรรมาภิบาล และทำประโยชน์ต่อสังคมได้

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ