เรื่องเล่าด่านรันตู ประจำวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2564

เรื่องเล่าด่านรันตู ประจำวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2564

วันที่นำเข้าข้อมูล 23 ก.พ. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 24 พ.ย. 2565

| 220 view

เช้านี้ มีผู้ลงทะเบียนกลับไทยวันที่ ๑๗ ก.พ. ๖๔ จำนวน ๑๖ คน
วันที่ ๑๖ ก.พ. มียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ ๒,๗๒๐ คน โดยอยู่ในรัฐกลันตัน ๑๗ คน รัฐตรังกานู ๒๖ คน มีผู้ติดเชื้อสะสม ๒๖๙,๑๖๕ คน และผู้เสียชีวิตสะสม ๙๘๓ คน (เพิ่มขึ้น ๘ คน) (สถิติข้อมูลการระบาดโควิด รูป ๑)
เมื่อเย็นวันที่ ๑๖ ก.พ. ทาง รบ. มซ. ได้ออกประกาศ ๓ เรื่องคือ
๑) ขยายมาตรการควบคุมการสัญจร (MCO) ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ รัฐสลังงอร์ รัฐยะโฮร์ และรัฐปีนัง ออกไปจนถึงวันที่ ๔ มี.ค. ๖๔ (จากเดิมจะสิ้นสุดหลังวันที่ ๑๘ ก.พ. ๖๔)
๒) ให้รัฐเคดะห์ เนเกอรีเซิมบีลัน เปรัก มะละกา ปะหัง ตรังกานู กลันตัน ปุตราจายา ลาบวน และซาบาห์ อยู่ภายใต้มาตรการควบคุมการสัญจรแบบมีเงื่อนไข (CMCO) ตั้งแต่วันที่ ๑๙ ก.พ. - ๔ มี.ค. ๖๔ และ
๓) ให้รัฐเปลิสอยู่ภายใต้มาตรการควบคุมการสัญจรระยะฟื้นฟู (RMCO) ตั้งแต่วันที่ ๑๙ ก.พ. - ๔ มี.ค. ๖๔
โดยรมต. อาวุโสด้านความมั่นคง มซ. ประกาศอนุญาตให้ ปชช. สามารถเดินทางเกินรัศมี ๑๐ กม. จากที่พักได้ แต่ยังคงห้ามการเดินทางออกนอกเขต/รัฐ
นรม. มซ. แถลงว่า วัคซีน Pfizer ล็อตแรก (จำนวน ๓๑๒,๓๙๐ โดส) จะจัดส่งถึง มซ. วันที่ ๒๑ ก.พ. ๖๔ และขอความร่วมมือ ปชช. ลงทะเบียนเพื่อรับวัคชีน ทั้งนี้ กำหนดผู้ที่จะได้รับวัคซีนล็อตแรกในวันที่ ๒๖ ก.พ. ๖๔ คือ ครม. และสมาชิกรัฐสภา โดยจะต้องตรวจสภาพร่างกายก่อนว่า มีความพร้อมที่จะได้รับวัคซีนหรือไม่
เพื่อให้ รบ. มซ. สามารถดูแลและติดตามเรื่องการเกิดอาการข้างเคียง (side effect) ของ ปชช. ที่ได้รับวัคซีนแล้ว ทาง รมว. วท. มซ. จะประกาศแผนสำหรับการดูแลคนกลุ่มดังกล่าว รวมทั้งจะออกเอกสาร Guide Book for the National Covid-19 Immunisation Plan ในโอกาสแรก
หน่วยงานรัฐ หน่วยงานเอกชน NGOs และผู้นำชุมชนใน มซ. จะร่วมมือกัน ปชส. และสนับสนุนให้ ปชช. ทุกคนลงทะเบียนเพื่อเข้ารับการฉีดวัคซีน โดย รบ.จะให้ความรู้เรื่องการฉีดวัคซีนและประโยชน์ของการฉีดวัคซีนด้วย
ข่าวการลักลอบนำเข้ายาเสพติดผ่านชายแดน ถือเป็นข่าวที่สื่อรายงานอย่างต่อเนื่อง จึงจำเป็นที่หน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ของไทย-มซ. ต้องทำความเข้าใจและร่วมมือกัน ในการจัดการแก้ปัญหาลักลอบยาเสพติดให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
เรื่องเล่าด่านรันตูวันนี้ ขอเสนอเรื่อง “กลันตัน : ช่องทางขนยาไอซ์จากลาว” ตามรายงานข่าวของ นสพ. Berita Harian ฉบับวันที่ ๑๕ ก.พ. ๒๐๒๑ (จุดลักลอบขนสินค้าข้ามแม่น้ำโกลก รูป ๑-๒)
คดียาไอซ์ที่ยึดจากการลักลอบข้ามพรมแดนของ มซ. พบว่า เป็นขบวนการค้ายาเสพติดจากลาวขนส่งผ่านไทย
นอกเหนือจากความพยายามส่งให้กับตัวแทนจำหน่ายในรัฐกลันตันแล้ว ยังตรวจพบพัสดุที่นำเข้ามา และพยายามลักลอบกระจายทั่ว มซ. รวมถึงส่งไปยัง ปท. เพื่อนบ้าน เช่น สป. และ อซ.
เป็นการใช้กลวิธีเดียวกับการลักลอบนำเข้าสารต้องห้ามที่ผิด กม. อื่นๆ ที่ยังคงมีอยู่ตามแม่น้ำโกลก ทั้งในฝั่งไทยและฝั่งกลันตัน ซึ่งเป็นเส้นทางหลักของกลุ่มขบวนการค้ายาที่จ้องโอกาสและเวลาที่เหมาะสมในการลักลอบ
เมื่อเทียบกับรัฐอื่นๆ ที่พรมแดนของ ปท. เต็มไปด้วยป่าไม้และพื้นที่ที่ไม่มีการตั้งถิ่นฐาน จะเห็นว่าพรมแดนระหว่างรัฐกลันตันกับไทยเป็นพื้นที่เปิดกว้างและมีความยาว มีเพียงสายน้ำที่แคบและตื้นของแม่น้ำโกลกเท่านั้น ที่เป็นเส้นแบ่งพรมแดน ตามบริเวณที่สูงชันมักไม่มีการป้องกัน ขณะที่ตามแนวแม่น้ำสามารถข้ามได้ด้วยเรือภายในเวลาไม่ถึง ๕ นาที ทำให้มีการลักลอบขนของเถื่อนได้ง่าย
หน. แผนกสืบสวนอาชญากรรมยาเสพติดรัฐกลันตัน (JSJN) ผู้ช่วยผู้บัญชาการ Sheik Azhar Sheik Omar กล่าวถึงการสืบสวนพบว่า ไทยเป็นเพียง ปท.ทางผ่านของยาไอซ์จากลาว ที่พยายามจะลักลอบนำเข้า มซ.
มีเพียงยาม้าเท่านั้นที่ถูกลักลอบนำเข้าจากไทย และความต้องการยาไอซ์ในกลันตันอาจกล่าวได้ว่าเกือบจะเท่ากับยาม้า เมื่อเทียบกับเมื่อก่อนที่มีการลับลอบนำเข้ายาม้าหรือยาบ้า (หน. แผนกสืบสวนอาชญากรรมยาเสพติดรัฐกลันตัน รูป ๓)
ในการสอบสวน พบว่า อุปทานของยาไอซ์ ขายอยู่ที่ ๔๐,๐๐๐ ริงกิต/กก. หรือ ๔๐ ริงกิต/ก. เมื่อลักลอบเข้าไปยังรัฐกลันตันได้ นอกจากจะส่งไปยังผู้แทนจำหน่ายในรัฐแล้ว ยังลักลอบส่งไปยังรัฐทางชายฝั่งตะวันตกอีกด้วย เนื่องจากมีความต้องการค่อนข้างสูง ขณะเดียวกันยังเชื่อว่า มีการลักลอบส่งออกไปยัง อซ. และ สป. ด้วย
ความต้องการยาไอซ์เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในรัฐกลันตัน เนื่องจากราคาถูกกว่า ถ้ายาไอซ์ขายในราคา ๔๐ ริงกิต/ก. ยาม้าจะขายในราคา ๑๐ ริงกิต/เม็ด โดยยาเสพติดทั้ง ๒ ชนิดนี้มีส่วนผสมเหมือนกัน เพียงแต่ต่างกันในวิธีการผลิตและการจำหน่าย กล่าวคือ ยาไอซ์มีความบริสุทธิ์เกือบ 100% จึงมีฤทธิ์แรงกว่ายาบ้าที่ผสมคาเฟอีนเข้าไปด้วย
ดังนั้นเขากล่าวว่า หน่วยงานของเขาจะเพิ่มการควบคุมตามชายแดนระหว่างรัฐกลันตัน –ไทย โดยร่วมมือกับกองกำลังความมั่นคงอื่นๆ รวมถึงกองทัพ มซ. (ATM) ด้วย และจะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อจะสกัดการลักลอบนำยาเสพติดเข้าสู่รัฐกลันตัน
เมื่อวันที่ ๘ ก.พ. ตอน ๑๐.๐๐ น. กองทัพ มซ. ยึดยาไอซ์ได้ ๔๐๒ กก. ซึ่งคาดว่ามีมูลค่า ๑๖.๐๘ ล้านริงกิต ทันทีที่ยาเสพติดนี้ถูกลักลอบนำเข้าผ่านแม่น้ำโกลก โดยกองพันชายแดนที่ ๔ ตรวจพบที่หมู่บ้าน Lubok Stol เขตรันเตาปันจัง หลังจากพบชาย ๒ คนกำลังขนถ่ายยาไอซ์ พอรู้ว่ามี จนท. ทหาร ผู้ลักลอบทั้งสองก็ได้หลบหนีเข้าไทยทันที และได้ทิ้งยาเสพติดไว้ที่นั่น (แถลงยึดยาไอซ์ รูป ๔)
ยาไอซ์ที่ตรวจพบอยู่ในกระสอบ ๑๐ ใบ บรรจุในถุงชายี่ห้อ 'เจ้าแม่กวนอิม' หลายร้อยห่อ เชื่อว่าเป็นกลอุบายที่อำพรางเพื่อปิดบัง จนท. ระหว่างการขนส่งจากลาวไปยังชายแดนไทย-มซ.
ขณะเดียวกันผู้บัญชาการกองพลที่ ๘ พลจัตวา Zamsari Abu Hassan กล่าวว่า ระดับน้ำของแม่น้ำโกลกซึ่งลดลงและตื้นเขินในขณะนี้ ทำให้เกิดการลักลอบนำเข้าไม่เพียงแต่ทางเรือเท่านั้น ในบางพื้นที่ยังสามารถเดินลุยน้ำข้ามได้ด้วย
เขาแสดงความกังวลว่า ขบวนการลักลอบขนยาเสพติดตามชายแดนของรัฐ ไม่เพียงแต่ใช้วิธีการแบบดั้งเดิม แต่อาจหันไปใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เช่นโดรนในอนาคต แม้ว่าจนถึงขณะนี้ยังไม่มีการตรวจพบการใช้เทคโนโลยี แต่หน่วยงาน มซ. ก็พร้อมที่จะเผชิญกับกลยุทธ์ทันสมัยที่ขบวนการลักลอบจะนำมาใช้ตามชายแดนเช่นกัน
วันนี้เป็นรายงานเกี่ยวกับการลักลอบนำยาไอซ์เข้าใน มซ. ซึ่งขบวนการค้ายาเสพติดลาวใช้ไทยเป็นทางผ่าน ถือเป็นภัยร่วมกัน ที่หน่วยงานความมั่นคงทั้ง ๒ ปท. จะต้องทำงานร่วมกัน ในการเพิ่มความเข้มงวดเพื่อจะสกัดกั้นการลักลอบขนยาเสพติดตามชายแดนไทย-มซ.

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ