เรื่องเล่าด่านรันตู ประจำวันที่ 17 มกราคม 2564

เรื่องเล่าด่านรันตู ประจำวันที่ 17 มกราคม 2564

วันที่นำเข้าข้อมูล 18 ม.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 27 พ.ย. 2565

| 381 view

เช้านี้ ไม่มีผู้ลงทะเบียนกลับไทยวันที่ ๑๗ ม.ค. ๖๔
วันที่ ๑๖ ม.ค. มียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ ๔,๐๒๙ คน ทำสถิติสูงสุดนิวไฮ โดยอยู่ในรัฐกลันตัน ๑๔๑ คน รัฐตรังกานู ๘๐ คน มีผู้ติดเชื้อสะสม ๑๕๕,๐๙๕ คน และผู้เสียชีวิตสะสม ๕๙๔ คน (เพิ่มขึ้น ๘ คน) (สถิติข้อมูลการระบาดโควิด รูป ๑)
“ย่างเดือนสิบเอ็ด น้ำเริ่มไหลนอง พอเดือนสิบสอง น้ำในคลองก็เริ่มจะทรง” นั้น เป็นเพลง “น้ำลงเดือนยี่” ของรุ่งเพชร แหลมสิงห์ ที่สื่ออารมณ์ได้บรรเจิดเข้ากับการย่างเข้ามาของหน้าฝนทุกปี ปีนี้การที่ฝนตกชุกเป็นพิเศษ ถือเป็นปรากฎการณ์ “ลานิญ่า” (La Nina) ที่เป็นหนึ่งในวิปริตของดินฟ้าอากาศ อุทกภัยคราใดก็สร้างความเดือดร้อนไปทั่ว แต่ใน มซ. ปีนี้ดูจะสาหัสกว่าทุกปี
ขณะปั่นต้นฉบับ ยังมีอุทกภัยในรัฐปาหัง ตรังกานู ยะโฮร์ ซาบาห์ ซาราวัค โดยอุทกภัยที่รัฐปาหังและยะโฮร์ในคาบสมุทรมลายู เป็น “น้ำท่วมโคลน” ที่ชะหน้าดินจากผืนป่า และได้ทิ้งดินโคลนพร้อมคราบไว้ทั่วทุกหัวระแหง
ถ้าพูดถึง “มูซังคิง” ทุเรียนพันธุ์อร่อยของ มซ. แหล่งผลิตอยู่ที่ อ. กัวมูซัง ตอนใต้ของรัฐกลันตัน ติดกับรัฐตรังกานูปาหังและเปรัค เป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศมาก จึงมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกไปในพื้นที่ป่าเขา
เรื่องเล่าด่านรันตู วันนี้ขอเสนอเรื่อง “โครงการทุเรียนมูซังคิง (Musang King) ก่ออุทกภัยครั้งใหญ่” ตามที่ นสพ. Berita Harian ฉบับวันที่ ๑๑-๑๒ ม.ค. ๒๐๒๑ ได้รายงานข่าว “ตัดป่าปลูกมูซังคิงทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่”
หลังจากที่มีการประโคมข่าวในโซเชียลมีเดียว่า น้ำท่วมปีนี้ที่รุนแรง ได้นำดินโคลนถล่มมาสู่ชายฝั่งตะวันออกของคาบสมุทรในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ไม่ได้เกิดจากปัจจัยทางธรรมชาติ โดย ก. สิ่งแวดล้อมและน้ำ ยอมรับว่า การเปิดป่า เพื่อส่งเสริมด้าน ศก. และการพัฒนาต่างๆ ซึ่งกลายเป็นสาเหตุหนึ่งของน้ำท่วมโคลนใน ปท.
รมต. สิ่งแวดล้อม Ibrahim กล่าวว่า การแผ้วถางป่าที่ก่อให้เกิดภัยธรรมชาติคือ การตัดไม้และโครงการทุเรียน มูซังคิง รวมถึงสวนปาล์มน้ำมัน สวนผลไม้ โครงการบ้านจัดสรรฯ ที่อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดดินโคลนถล่มด้วย (รมต. สิ่งแวดล้อม รูป ๒)
โดย ก. สิ่งแวดล้อมมีหน้าที่เพียงตรวจสอบให้แน่ใจว่า มีการปฏิบัติตามรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ในทุกการพัฒนาพื้นที่ป่าไม้ใน ปท. ส่วนการอนุญาตให้ตัดไม้ในพื้นที่ป่านั้น อยู่ภายใต้เขตอำนาจศาลและการควบคุมของ รบ. ของรัฐ (state government) สำหรับนโยบายป่าไม้อยู่ภายใต้การควบคุมของ ก. พลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ (KeTSA)
อย่างไรก็ดี รมต. สิ่งแวดล้อม ยินดีจะตรวจสอบข้อเสนอของ ปธ. สมาคมผู้รักธรรมชาติแห่ง มซ. (Malaysian Nature Lovers Association : MNS) ศ. ดร. Ahmad Ismail ที่เสนอให้มีระบบการทำแผนที่ (mapping) สำหรับพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวต่อน้ำท่วม ก่อนที่จะอนุญาตให้มีการเปิด "สัมปทานป่า" และการพัฒนาใดๆ ทั้งนี้เพื่อป้องกันอุทกภัยไม่ให้เลวร้ายลง (การใช้เรือสัญจร รูป ๓)
ตามทฤษฎีแล้ว ทุกครั้งที่มีฝนตกในที่โล่งและผ่านพื้นที่ที่มีความอ่อนไหว จะทำให้เกิดน้ำท่วม เนื่องจากป่าสามารถกักเก็บน้ำฝนได้ ๗๐% แต่เมื่อมีป่าถูกทำลาย ฝนชะหน้าดิน ทำให้เกิดกระแสน้ำท่วมโคลนที่รุนแรงขึ้น
ขณะที่นักธรณีวิทยาด้านวิศวกรรมและกลศาสตร์ Universiti Kebangsaan Malaysia (UKM), Dr. Nor Shahidah กล่าวว่า สถานการณ์เลวร้ายลง เนื่องจากมีการตัดไม้ทำลายป่าเพิ่มขึ้น แต่หากมีการตัดไม้ในลักษณะที่มีการวางแผนและควบคุม น้ำท่วมจะไม่รุนแรงเท่าตอนนี้ (ผู้สื่อข่าวรายงาน รูป ๔)
ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ 'เสี่ยง' ตามชายฝั่งตะวันออกของคาบสมุทร โดยเฉพาะรัฐปะหังต้องเผชิญกับน้ำท่วมอย่างรุนแรงทุกปี หาก 'การแผ้วถางป่า' ที่ได้รับอนุญาตยังคงดำเนินต่อเนื่อง โดยไม่มีระบบกักเก็บน้ำเป็น 'ทุ่น' (buoy)
ขณะนี้รัฐทางชายฝั่งตะวันออก โดยเฉพาะรัฐปาหังและตรังกานู เริ่มส่อให้เห็นถึงความไม่แน่นอนทางธรณีวิทยา โดยที่ธรณีสัณฐานวิทยาของเนินเขาและหุบเขาใน ๒ รัฐ ทำให้เกิดภัยธรรมชาติที่ไม่สามารถควบคุมได้
ด้าน ปธ. องค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Khazanah Alam Malaysia : PEKA) นาง Shariffa Sabrina กล่าวว่าความต้องการไม้และทุเรียนมูซังคิงสำหรับตลาดส่งออก ทำให้ต้องถางป่ามากขึ้น ป่าทั้งผืนในรัฐปาหังกำลังหดหาย โดยเฉพาะเทือกเขา Titiwangsa ที่เป็นพื้นที่กว้างที่สุดในรัฐ ถูกเลือกให้เป็นแหล่งเพาะปลูกโครงการทุเรียนมูซังคิง โดยเฉพาะผืนป่า Gondol ในภาพจากดาวเทียม พบว่าถูกแผ้วถางเพื่อโครงการดังกล่าว (ผืนป่า Gondol รูป ๕)
ปธ. PEKA เรียกร้องให้ รบ. แก้ไข พรบ. ป่าไม้แห่งชาติ ๑๙๘๔ (เรียกย่อว่า “พรบ. ๓๑๓”) เพื่อให้อำนาจแก่ฝ่ายบริหารส่วนกลางในการ 'ดูแล' ที่ดินและป่าไม้ใน ปท. ทำให้แน่ใจว่า ป่าไม้ของ ปท.จะได้รับการปกป้อง เพื่อให้เกิดการพัฒนาป่าไม้อย่างยั่งยืน (น้ำท่วมโคลน รูป ๖)
ก่อนหน้านี้ PEKA ได้ส่งบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับการแก้ไข พรบ. ๓๑๓ ต่อ ก.น้ำบาดาลและทรัพยากรธรรมชาติในปี ๒๐๑๙ (ครั้งสุดท้ายที่มีการแก้ไข พรบ. ๓๑๓ คือปี ๑๙๙๓) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับบทลงโทษและค่าปรับ ด้วยหวังว่า จะสามารถสร้างสมดุลอำนาจของ รบ. ของรัฐในการควบคุมเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการจัดการและการบริหารป่าไม้ (คราบโคลนหลังน้ำลด รูป ๗)
ด้านมุขมนตรีรัฐปาหัง Wan Rosdy Wan Ismail ได้เคยรายงานว่า พื้นที่ป่าสงวนถาวร ๒,๕๓๑ เฮกเตอร์ในรัฐปาหัง ถูกสำรวจอย่างผิด กม. คิดเป็นเนื้อที่ ๐.๑๖๕% จาก ๔๓% ของพื้นที่ป่าสงวนถาวรทั้งหมด โดยเมื่อเดือน มิ.ย. ๒๐๑๙ ในรัฐปาหังมีพื้นที่ป่าทั้งหมด ๒.๕ ล้านเฮกเตอร์ และ ๑.๕๖ ล้านเฮกเตอร์เป็นพื้นที่ป่าสงวนถาวร
ปัญหาการสำรวจป่าเพื่อจุดประสงค์ในการพัฒนามีมาตั้งแต่ปี ๑๙๘๙ ทำให้พื้นที่ป่ามากกว่า ๒๐% ในรัฐปาหังถูกนำมาใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนา
นี่คือ รายงานอุทกภัยครั้งใหญ่ใน มซ. ที่เกิดจากการถางป่า ซึ่งโครงการทุเรียนมูซังคิงก็เป็นสาเหตุหนึ่งของ “น้ำท่วมโคลน” ทำให้สูญเสียต้นทุนที่เป็นป่าธรรมชาติ และชวนให้คิดว่า “คุ้ม” หรือไม่กับการส่งออกทุเรียนมูซังคิง

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ