วันที่นำเข้าข้อมูล 27 ธ.ค. 2563
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 27 พ.ย. 2565
เช้านี้ ไม่มีผู้ลงทะเบียนกลับไทยวันที่ ๒๗ ธ.ค. ๖๓
การแพร่ระบาดโควิดใน มซ. วันที่ ๒๖ ธ.ค. มีสถิติสุงกว่าเมื่อวาน โดยมียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ ๒,๓๓๕ คน อยู่ในรัฐกลันตัน ๕๔ คน และมีผู้ติดเชื้อสะสม ๑๐๓,๙๐๐ คน ผู้เสียชีวิตสะสม ๔๕๑ คน (เพิ่มขึ้น ๒ คน) (สถิติข้อมูลการระบาดโควิด รูป ๑)
เรื่องเล่าด่านรันตู วันนี้ขอเสนอเรื่อง “ความจริงเกี่ยวกับโควิดในไทย” ตามที่ นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ ๒๗ ธ.ค. ๖๓ เสนอข่าวเรื่อง “นพ.ยง เตือนโควิดระบาดระลอกนี้ อยู่ในช่วงขาขึ้น” (ข่าว นสพ. รูป ๒)
นพ.ยง เตือนการระบาดของโควิด-๑๙ ในไทยระลอกนี้ยังอยู่ในช่วงขาขึ้น ชี้ผู้ติดเชื้อหลายราย ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ หรือมีน้อยมาก จึงสามารถแพร่กระจายเชื้อได้ดี
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หน. ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก เกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-๑๙ ระบุว่า
ในการระบาดรอบนี้ ได้มีโอกาสตรวจผู้ติดเชื้อหลายราย ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อยมาก ปริมาณ ไวรัสที่พบ อยู่ในปริมาณที่สูง (cycle threshold, Ct ค่อนข้างต่ำ) เมื่อเปรียบเทียบกับการตรวจผู้ที่พบเชื้อใน state quarantine แสดงให้เห็นว่าผู้ที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อยมาก สามารถแพร่กระจายเชื้อได้ดี
ในการควบคุม ผู้ที่ต้องสงสัยทั้งหมดควรจะได้รับการตรวจ RT-PCR ทุกราย แม้จะไม่มีอาการ และควรตรวจเกมรุก ในแหล่งระบาดให้ได้มากที่สุด ด้วยวิธีที่ไวและถูกต้องที่สุด
ประสิทธิภาพของการตรวจในประเทศไทยขณะนี้ ถ้าช่วยกัน สามารถตรวจได้จำนวนมากต่อวัน ภาคเอกชน สามารถที่จะลงมาช่วยได้ และควรลดราคาค่าตรวจ
การระบาดในระลอกนี้ ยังถือว่าอยู่ในขาขึ้น ทุกคนต้องช่วยกันควบคุมการระบาดให้เหลือน้อยที่สุด ขณะนี้ วัคซีนที่ได้ขึ้นทะเบียนใน ปท. ผู้ผลิต จะเป็นแบบปกติหรือฉุกเฉิน มีแล้วถึง ๖ ชนิด ความหวังที่จะได้นำมาใช้ คงอีกเป็นเวลาไม่นาน (ทีมคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รูป ๓)
นอกจากนี้ ได้ตอบคำถามและคำปรึกษาในการป้องกันโควิด ซึ่งมีหลายประเด็นที่น่าสนใจสรุปได้ ดังนี้
การแพร่ระบาดที่ จ. สมุทรสาครต้องใช้เวลายาวเท่าไหร่ ในการจัดการควบคุมจนกว่าเหตุการณ์จะค่อยๆกลับไปเป็นปกติ ตอนนี้ก็คล้ายๆกับช่วงโควิด-๑๙ ระบาดใหม่ๆในช่วงเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ตอนนั้นใช้เวลา ๒ เดือนในการควบคุม ครั้งนี้คิดว่าอย่างน้อยก็ต้อง ๒ เดือนเช่นกัน (“หมอยง” แนะมาตรการ ๔ ข้อ รูป ๔)
อาหารทะเลจากสมุทรสาครสามารถรับประทานได้มั้ย … สามารถรับประทานได้ หากนำมา 'ปรุงสุก' อย่างที่รู้กันว่า 'เชื้อโควิด-๑๙ ตายหมดหากผ่านความร้อน' ที่จุดเดือด ๑๐๐ °C หรือในความร้อนที่อุณหภูมิต่ำกว่านั้น แต่ในระยะเวลาที่มากพอ (ยกตัวอย่างเช่นที่ ๕๖ °C เป็นระยะเวลา ๓๐ นาที) (มือปราบไวรัสเมืองไทย รูป ๕)
สัมผัสวัตถุดิบสดจากสมุทรสาครได้มั้ย… ควรทำความสะอาดมือทุกครั้ง หลังสัมผัสวัตถุดิบที่ยังไม่ผ่านความร้อน เพราะเชื้อโควิด-๑๙ อยู่ในที่เปียกเย็นได้ยาวนาน ห้ามนำมือที่สัมผัสวัตถุดิบสดจับหน้า~ขยี้ตา~จับจมูก .. ย้ำในขั้นตอนให้ล้างมือด้วยน้ำสบู่หรือแอลกอฮอล์ทุกครั้งหลังสัมผัส
วัคซีนจะมาเมื่อไหร่ … เร็วสุดคาดว่าเดือนมิถุนายน ๒๕๖๔ จำนวน ๒๖ ล้านโดสของ Pfizer ซึ่งจะถูกกระจายไปให้กลุ่มเสี่ยงสูง (อายุ ๖๐ +) และคนทำงานในสถานที่เสี่ยง เช่นเเพทย์ พยาบาล ประชาชนทั่วไปต้องรอล็อตถัดๆ ไป กว่าจะ contain โรคได้จริงอาจต้องใช้เวลาอีก ๒ ปี
ต้องฉีดวัคซีนเท่าไหร่ … โรคถึงจะค่อยๆหายไป ๖๐% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งประเทศไทยเท่ากับ ๔๐ ล้านคน ซึ่งต้องใช้วัคซีน ๘๐ ล้านโดส (คนละ ๒ โดส)
จะมี Lock Down อีกมั้ย … Total lock down ทั้งประเทศ คาดว่า.. คงไม่มี แต่อาจมีการล็อคดาวน์เป็นบางพื้นที่ ที่มีการแพร่ระบาดสูงเพื่อควบคุมโรคและไม่ให้แพร่ไปที่อื่น (การตรวจโควิด รูป ๖)
ตอนนี้มีเคสผู้ติดเชื้อโผล่ จ. อื่นๆ ด้วย จะเป็นแบบนี้อีกนานหรือไม่ และมีอะไรที่น่ากังวลมั้ย … คงจะเป็นแบบนี้ไปอีกซักพัก ประมาน ๑-๒ เดือน ตอนนี้เคสต่างๆเราตามกลับไปได้ว่ามาจากสมุทรสาคร แต่หลังจากนี้คงจะเริ่มมีเคสที่หาต้นตอไม่ได้ แต่หากเราควบคุมรอบวงของผู้ติดเชื้อได้ความกังวลก็จะลดน้อยลง
โควิด-๑๙ ที่ระบาดอยู่ในกลุ่มแรงงานพม่าตอนนี้ … เป็นสายพันธุ์ GH ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ติดง่ายกว่ามาก แต่ความรุนแรงไม่ได้เพิ่มขึ้นและไม่ได้มีผลกับวัคซีน วัคซีนยังคงครอบคลุมอยู่
โรงงาน หรือ บริษัทที่ต้องใช้แรงงานพม่าต้องทำอย่างไร ... หากมีชาวพม่าทำงานอยู่ด้วย ควรตรวจทั้งหมด เพื่อให้เคลียร์ว่าไม่มีเชื้อโควิด-๑๙ อยู่ในระบบ และทำมาตรการควบคุมหรือขอความร่วมมือให้ลูกจ้างชาวพม่าไม่ไปรวมตัวหรือเจอญาติพี่น้องที่มาจากที่อื่นจนกว่าจะคุมสถานการณ์อยู่ และควรสุ่มตรวจทุก ๒ อาทิตย์เพื่อเช็คว่าไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มเติม
Cluster ลูกจ้างพม่าคงไม่มียอดเสียชีวิตที่สูง ... เพราะส่วนใหญ่อายุยังน้อยเป็นวัยทำงาน ซึ่งจากสถิติเปอร์เซ็นต์การเสียชีวิตของกลุ่มนี้ต่ำมาก น้อยกว่า ๐.๕% แต่ต้อง contain ให้ดีเพื่อไม่ให้แพร่มาติดผู้สูงอายุ (แถลงสถาน การณ์โควิด-๑๙ รูป ๗)
เดินทางโดยเครื่องบินได้มั้ย... ได้! แต่ต้องมีสติ และ ปฏิบัติตามสูตรสุขอนามัยอย่างเคร่งครัด ก่อนขึ้นเครื่องล้างมือ ขยับหน้ากากอนามัย ให้พอดีหน้า (เพราะขึ้นไปเราจะไม่จับแล้ว) ไม่เข้าห้องน้ำบนเครื่อง ไม่พูดคุย ไม่กินอาหารบนเครื่อง (เสี่ยงเปิดหน้ากากออกมา) หากจำเป็นต้องจับหน้าให้ล้างแอลกอฮอล์ก่อนจับบริเวนหน้าทุกครั้ง ลงเครื่องให้ล้างมือทันที
คุณหมอย้ำการใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา … เพราะเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยป้องกันไวรัสได้ดีที่สุด จะหน้ากากการแพทย์หรือหน้ากากผ้าป้องกันได้หมด ส่วนเฟสชีลนี่แทบไม่ช่วยเลย เพราะฝอยละอองสะพัดไปทั่ว รอดเข้าไปได้ง่ายๆ ถ้าต้องไปในที่เสี่ยงใส่หน้ากากอนามัยพร้อม goggle คือ ดีที่สุด
สิ่งที่สำคัญที่สุดที่เราทำได้ คือ 'ไม่ต้องไปโทษว่าใครเป็นต้นตอ' ของการแพร่ระบาด ไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ 'ให้เราโฟกัสที่ตัวเอง' ว่าเรามีวินัย ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์อย่างเคร่งครัด สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ กินอาหารปรุงสุก ไม่เอาตัวเองเข้าไปอยู่ในสถานที่เสี่ยง .. ช่วยกันคนละแค่นี้ ก็ลดงานลดภาระของคนที่ต้องมาดูแลเราหากติดขึ้นมาได้แล้ว
นี่คือ คำแนะนำของ ศ.นพ. ยง ภู่วรวรรณ คุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา ที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการป้องกันตัวเองจากโควิดที่กำลังแพร่ระบาดในไทยขณะนี้
รูปภาพประกอบ