เรื่องเล่าด่านรันตู ประจำวันที่ 24 มีนาคม 2564

เรื่องเล่าด่านรันตู ประจำวันที่ 24 มีนาคม 2564

วันที่นำเข้าข้อมูล 29 มี.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 23 พ.ย. 2565

| 279 view

เช้านี้ มีผู้ลงทะเบียนกลับไทยวันที่ ๒๔ มี.ค. ๖๔ จำนวน ๑๕ คน
วันที่ ๒๓ มี.ค. มียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ ๑,๓๘๔ คน โดยอยู่ในรัฐกลันตัน ๖๕ คน รัฐตรังกานู ๗ คน มีผู้ติดเชื้อสะสม ๓๓๕,๕๔๐คน และผู้เสียชีวิตสะสม ๑,๒๔๔ คน (เพิ่มขึ้น ๖ คน) (สถิติข้อมูลการระบาดโควิด รูป ๑)
เรื่องเล่าด่านรันตูวันนี้ เสนอเรื่อง “เครื่องสำอางไทยผิด กม. ทะลักรัฐกลันตัน” ตามรายงานของ นสพ. New Sunday Times ฉบับวันที่ ๒๑ มี.ค. ๒๐๒๑ เรื่องผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากประเทศไทยถูกยึดโดย จนท. กองกำลังปฏิบัติการทั่วไปตามแนวชายแดนกลันตัน - ไทย (General Operations Force : GOF) เมื่อเร็วๆ นี้ (เครื่องสำอางจากไทย รูป ๒)
ความต้องการผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางราคาถูกที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้รัฐกลันตันกลายเป็นแหล่งนำเข้าผลิตภัณฑ์ความงามจากประเทศไทย ที่ไม่ได้จดทะเบียนและไม่ได้รับแจ้ง ซึ่งอาจมีส่วนผสมที่เป็นอันตราย
ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะวางตลาดในรูปแบบแบรนด์ "ผลิตในประเทศไทย" หรือบรรจุใหม่โดยผู้ประกอบการเครื่องสำอางท้องถิ่น ภายใต้แบรนด์ของตนเอง หลังจากซื้อเป็นจำนวนมากข้ามพรมแดนเข้า มซ. และมีจำหน่ายในตลาดและห้างสรรพสินค้าของทุกเมืองและหมู่บ้านในรัฐ ความนิยมที่เพิ่มขึ้นตัดสินได้จากจำนวนผลิตภัณฑ์ที่ยึดได้เพิ่มขึ้นในช่วง ๒ ปีที่ผ่านมา ได้สร้างความกังวลให้กับหน่วยงาน สธ. ของรัฐ
สธ. รัฐกลันตัน กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ลักลอบนำเข้ามาใน ปท. มีสารพิษที่กำหนด (scheduled) ในระดับสูงและอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพด้วย
Dr. Zaini Hussin ผอ. สธ. รัฐกลันตัน กล่าวว่า กรม สธ. กำลังจัดการเรื่องนี้อย่างจริงจัง ซึ่งเกี่ยวข้องกับการจัดจำหน่าย การบรรจุภัณฑ์และการขายผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนและยังไม่ผ่านการทดสอบ ตลอดจนผลิตภัณฑ์ปลอม และผลิตภัณฑ์ที่มีสารเจือปน ในรัฐกลันตัน
“มีผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้รับแจ้งจำนวนมากทะลักเข้ามาใน ปท. โดยนำเข้าล็อตใหญ่ นน. หลาย กก. จากนั้นบรรจุใหม่เป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางท้องถิ่นในตลาดกลันตัน ซึ่งทางกรม สธ. โดยกองบังคับควบคุมร้านขายยาของรัฐกำลังพยายามควบคุมการขายผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้จดทะเบียนและไม่ได้รับการแจ้งเหล่านี้ ในปี ๒๐๑๙ มีการบุกค้นสถานที่ ๗๐ แห่งและทำการยึดสินค้า ๗๒ ประเภท คิดเป็นมูลค่าเกือบ ๑๕๐,๐๐๐ ริงกิต โดยสินค้าทั้งหมดนี้มาจากไทย”
ดร. Zaini กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ที่ยึดได้เมื่อปีที่แล้วมีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ๑๔๘ ประเภท มูลค่าประมาณ ๓๖๐,๐๐๐ ริงกิต ถูกนำออกจากตลาด ในผลิตภัณฑ์ ๑๔๘ ประเภท มี ๕๓ รายการมาจากประเทศไทยและ ๓ รายการในนั้นมีสารพิษที่กำหนด (สธ.กลันตัน รูป ๓)
“สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือสารพิษที่กำหนด ประกอบด้วยปรอท ไฮโดรควิโนนและเทรทิโนอิน (mercury, hydroquinone and tretinoin) ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้คน”
Dr. Zaini ได้แสดงใบรับรองหรือใบแจ้งเตือนฉบับจริงที่ออกโดย ก.สธ. ให้แก่ผู้ประกอบการเครื่องสำอางเมื่อเร็วๆ นี้ และกล่าวว่า “มีผู้ขายเครื่องสำอางในรัฐหลายรายที่พยายามโกงลูกค้า โดยใช้หมายเลขใบแจ้งเตือนปลอม
ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ส่วนใหญ่ยังพบว่า มีการผสมสารต้องห้ามและโลหะหนัก เพื่อให้ได้ผลรวดเร็วและดีที่สุด”
เพื่อหยุดการขายเครื่องสำอางเหล่านี้ในรัฐ กองดังกล่าวจะร่วมมือกับกองกำลังปฏิบัติการทั่วไป (GOF) ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานบังคับควบคุมในการดูแลชายแดนกลันตัน-ไทย
“จากรายงานของเราแสดงให้เห็นว่า ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่กองพัน GOF ยึดได้ ถูกลักลอบนำเข้าจากไทยและผลิตภัณฑ์เหล่านี้ส่วนใหญ่มีสารพิษที่กำหนด”
เขาเรียกร้องให้ผู้บริโภคโดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในรัฐ เพิ่มความระมัดระวัง เมื่อซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีสารปรอท ไฮโดรควิโนน และเตรติโนอิน
ไฮโดรควิโนน โดยปกติแล้วจะใช้เพื่อ "ทำให้สีผิวจางลง" รวมทั้งลดจุดด่างดำและสีผิวที่ไม่สม่ำเสมอ อย่างไรก็ตาม หากไม่มีคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ การใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่มีไฮโดรควิโนน จะส่งผลให้เกิดรอยแดงระคายเคือง และสีผิวเกิดรอยด่างได้ ส่วนผสมนี้ทำงานโดยการปิดกั้นกระบวนการสร้างเม็ดสี (pigmentation) และอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งผิวหนัง
เตรติโนอิน ที่มีการวางจำหน่ายในตลาด เป็นส่วนผสมเพื่อกำจัดสิวและชะลอการเกิดริ้วรอย หากใช้ผิดวิธี อาจทำให้ผิวหนังเกิดรอยแดง ระคายเคือง เจ็บ ผิวหนังลอก และอ่อนไวต่อแสงแดดอย่างมาก
สารปรอท ในอดีตเคยมีการใช้เพื่อลดสีผิวและเพื่อการต่อต้านริ้วรอย แต่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า เป็นส่วนผสมอันตรายที่ดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายและทำให้ไตวาย รวมถึงทำลายระบบประสาทด้วย นอกจากนี้ อาจเป็นอันตรายต่อเด็ก เนื่องจากอาจได้รับผลกระทบจากการสัมผัสกับผู้ใหญ่ที่ทาผลิตภัณฑ์ดังกล่าวบนผิวหนัง
การจำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ไม่ได้รับแจ้ง ถือเป็นความผิดภายใต้ กม. ควบคุมยาและเครื่องสำอาง ปี ๑๙๘๔ และมีโทษตาม พรบ. การจำหน่ายยา ปี ๑๙๕๒
บุคคลที่กระทำผิด อาจถูกปรับเป็นเงินสูงสุด ๒๕,๐๐๐ ริงกิตและถูกตัดสินจำคุก ๓ ปีสำหรับความผิดครั้งแรก และปรับสูงสุด ๕๐,๐๐๐ ริงกิตและจำคุก ๕ ปีสำหรับความผิดครั้งต่อไป
บ. ที่ถูกตัดสินว่าผิด จะถูกสั่งปรับสูงสุด ๕๐,๐๐๐ ริงกิตสำหรับความผิดครั้งแรก และ ๑๐๐,๐๐๐ ริงกิตสำหรับการกระทำความผิดครั้งต่อไป
เป็นที่ทราบกันว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีไฮโดรควิโนน เทรติโนอินและไดเฟนไฮดรามีน (hydroquinone, tretinoin & diphenhydramine) จัดเป็นผลิตภัณฑ์ยา ที่ต้องขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานควบคุมยาของ มซ. และจะใช้ได้ตามคำแนะนำของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น หน่วยงาน สธ. มีอำนาจสั่งห้ามผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มีสารพิษที่กำหนด
หน่วยงานกำกับดูแลเภสัชกรรมแห่งชาติของ สธ. ได้ออกโรงเตือนผู้คนหลายครั้งเกี่ยวกับการใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มีสารปรอท ไฮโดรควิโนน เทรติโนอินและ/หรือเบตาเมทาโซน ๑๗-วาเลเรต (mercury, hydroquinone, tretinoin and/or betamethasone 17-valerate)
วันนี้เป็นรายงานสินค้าเครื่องสำอางของไทยที่ลักลอบเข้ามาจำหน่ายในรัฐกลันตัน โดยไม่แจ้งชำระภาษีหรือขออนุญาต อย. มซ. ทำให้ถูกมองว่า เป็นสินค้าอันตรายต่อสุขภาพ ส่งผลให้ภาพลักษณ์สินค้าไทยโดยรวมเสื่อมเสีย
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยควรพิจารณาดำเนินการให้ผู้ประกอบไทยที่ต้องการส่งออกสินค้าไป มซ. ต้องดำเนินขั้นตอนการส่งออกให้ถูกต้อง รวมถึงการขออนุญาต อย. มซ. เพื่อขยายตลาดสินค้าเครื่องสำอางของไทยใน ปท. เพื่อนบ้านอย่างแท้จริง

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ