เรื่องเล่าด่านรันตู ประจำวันที่ 25 มีนาคม 2564

เรื่องเล่าด่านรันตู ประจำวันที่ 25 มีนาคม 2564

วันที่นำเข้าข้อมูล 29 มี.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 408 view

เช้านี้ ไม่มีผู้ลงทะเบียนกลับไทยวันที่ ๒๕ มี.ค. ๖๔
วันที่ ๒๔ มี.ค. มียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ ๑,๒๖๘ คน โดยอยู่ในรัฐกลันตัน ๔๙ คน รัฐตรังกานู ๔ คน มีผู้ติดเชื้อสะสม ๓๓๖,๘๐๘ คน และผู้เสียชีวิตสะสม ๑,๒๔๖ คน (เพิ่มขึ้น ๒ คน) (สถิติข้อมูลการระบาดโควิด รูป ๑)
เรื่องเล่าด่านรันตูวันนี้ เสนอเรื่อง “ทิศทาง อก. ส่งออกไม้ มซ.” ตามรายงานของ นสพ. The Star ฉบับวันที่ ๒๑ มี.ค. ๒๐๒๑
แม้ว่าการระบาดโควิดจะได้ส่งผลกระทบต่อ ศก. มซ. แต่ อก. ไม้ได้สร้างรายได้จากส่งออก ๒๒.๐๒ พันล้านริงกิต เป็นอันดับที่ ๓ รองจากน้ำมันปาล์มและยางพารา โดยลดลงเพียง ๒% จาก ๒๒.๕๐ พันล้านริงกิต ปี ๒๐๑๙
การส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้และที่เกี่ยวกับไม้ทั้งหมดมากกว่า ๕๐% หรือ ๑๒.๒ พันล้านริงกิต เป็นผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ ๓ ชนิด ได้แก่ เฟอร์นิเจอร์ (๑๐.๖๓ พันล้านริงกิต) ซึ่งเป็นดาวรุ่งแห่งปีที่เพิ่มขึ้น ๑๖% เมื่อเทียบเป็นรายปี (yoy) ควบคู่ไปกับงานช่างไม้และงานเชื่อมต่อไม้ของช่างก่อสร้าง (๙๗๑.๗๕ ล้านริงกิต) และไม้ขึ้นรูป (mouldings) (๖๘๗.๘๙ ล้านริงกิต)
สหรัฐฯ แซงหน้าญี่ปุ่น กลายเป็นตลาดส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับไม้ที่ใหญ่ที่สุดของ มซ. ติดต่อกันเป็นปีที่ ๒ (ตั้งแต่ปี ๒๐๑๙) โดยเป็นตลาดเฟอร์นิเจอร์ใหญ่ที่สุด มีสัดส่วนส่งออกไปยังตลาดสหรัฐสูงถึง ๖๐% ของมูลค่าการส่งออกเฟอร์นิเจอร์ทั้งหมด คิดเป็นมูลค่า ๗.๔๕ พันล้านริงกิต เพิ่มขึ้น ๔๙.๙% เมื่อเทียบกับปีก่อน
“สหรัฐฯ เป็นตลาดหลักสำหรับเฟอร์นิเจอร์ของเราและทำได้ดีแม้จะเกิดโรคระบาด ความต้องการก็ยังคงมีอยู่โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับกลุ่มตลาดระดับกลาง และเรากำลังส่งออกปริมาณมากไปยังเครือข่ายตัวแทนจำหน่ายเช่น Walmart และผู้จัดจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์อื่นๆ” Mohd Kheiruddin ผอ. กลุ่ม อก. ไม้ของ มซ. กล่าว
(Mohd Kheiruddin รูป ๒)
ขณะเดียวกัน ญป. ซึ่งเป็นตลาดไม้อัดที่ใหญ่ที่สุดของ มซ. พบว่า การส่งออกลดลง ๒๑.๑% เหลือ ๒.๗๒ พันล้านริงกิต เนื่องจากมีปริมาณสต็อกไม้อัดอยู่ในระดับสูง แม้ว่าจีนจะขยับอันดับขึ้นโดยเพิ่ม ๒๓.๒% (๒.๒๕พันล้านริงกิต) ถือเป็นตลาดใหญ่อันดับ ๓ ของ มซ. ในด้านผลิตภัณฑ์ดังกล่าว โดยเฉพาะไม้ยางพาราแปรรูป

การกำหนดทิศทางของ อก. ได้ตั้งเป้าหมายการส่งออกในปี ๒๐๒๑ ถึง ๒๓ พันล้านริงกิต
Kheiruddin ยังหวังว่า ญป. จะเพิ่มการนำเข้าไม้อัดจาก มซ. อีกครั้ง โดยมีการปรับปรุงการนำเข้าจาก ปท.อื่น เช่น อินเดีย ที่เป็นไม้แปรรูป ไม้กระดาน และแผ่นไม้ รวมถึงแผ่นใยไม้อัดความหนาแน่นปานกลาง (MDF) พาร์ติเคิลบอร์ด และชิปบอร์ด เนื่องจากเป็นตลาดที่สำคัญ
ส่วนตลาดตะวันออกกลาง อก. ยังคงรักษาปริมาณการส่งออกไม้เกรดต่ำ แต่ราคาอยู่ในระดับหยุดนิ่ง ยิ่งกว่านั้น แม้ว่าสหภาพยุโรปจะยังคงเป็นตลาดใหญ่สำหรับไม้แปรรูป แต่ส่วนแบ่งตลาดการส่งออกของมซ. กลับลดลง เนื่องจากมีการแข่งขันกับ ปท. ในแอฟริกา
เขากล่าวว่า “เรากำลังสูญเสียตลาดให้กับไม้แอฟริกันอย่างช้าๆ ราคาของเราไม่สามารถแข่งขันได้ เนื่องจากปัญหาด้านโลจิสติกส์ ที่ต้นทุนการขนส่งมีส่วนทำให้ไม้ของเรามีราคาสูง นอกจากนี้ในเวลาเดียวกัน เรายังต้องแข่งขันกับไม้เนื้ออ่อนจากแคนาดา ฟินแลนด์ รัสเซีย และ ปท. อื่นๆ ในยุโรป” (เฟอร์นิเจอร์ รูป ๓)
“เราหวังที่เจาะตลาดสหราชอาณาจักรเป็นตลาดแยกต่างหาก หลังออกจากสหภาพยุโรป โดยจะพัฒนาเป็นแบบทวิภาคีเพื่อการเข้าถึงตลาด ขณะที่ออสเตรเลียก็อาจเป็นตลาดที่มีศักยภาพสำหรับไม้ขึ้นรูป”
“เราหวังว่าเราจะสามารถเข้าร่วมในงานแสดงสินค้าและคณะผู้แทนนานาชาติ รวมถึงออกแคมเปญส่งเสริมการขายได้ในไม่ช้า โดยหวังว่าภายในครึ่งปีหลัง เราจะสามารถจัดคณะผู้แทนทางการค้าไปต่างประเทศ มีการจับคู่ธุรกิจ และการอภิปรายโต๊ะกลมได้” เขากล่าวเสริม

การขับเคลื่อน อก. ไม้ให้ก้าวไปข้างหน้า (ไม้แปรรูป รูป ๔-๕)
Kheiruddin เชื่อว่า ควรใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรี (FTAs) ของ มซ. เช่น ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่ลงนามเมื่อเร็ว ๆ นี้ เขตการค้าเสรีอาเซียน และเขตการค้าเสรีระดับภูมิภาค ๗ แห่งกับ FTA ทวิภาคีอีก ๙ ฉบับ เพื่อเพิ่มการส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้และที่เกี่ยวกับไม้ โดยลดกำแพงภาษีและอุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษี (non-tariff barriers: NTB) สำหรับสินค้าบางประเภทไปยังตลาดที่เลือกเฟ้นแล้ว ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของไม้จาก มซ.
ขณะที่พบว่า มีอุปสรรค NTB เพิ่มมากขึ้นใน ปท.ผู้นำเข้าที่ออกนโยบายการจัดซื้อระดับ ปท. ที่กีดกันการเข้าถึงตลาด โดยผ่านข้อกำหนดที่ต้องปฏิบัติตาม กม. เกี่ยวกับการนำเข้าไม้ เช่น การตรวจสอบความถูกต้องตาม กม. ในการนำเข้า การติดฉลากเชิงนิเวศ (eco-labelling) รวมถึงการลดรอยเท้าคาร์บอน (carbon footprint) การประเมินวัฏจักรชีวิต และข้อกำหนดที่เกิดขึ้นใหม่ซึ่งต้องปฏิบัติตาม (ไม้แผ่นอัด รูป ๖)
เขากล่าวว่า “เรากำลังดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ คกก. อก. ไม้ มซ. (Malaysian Timber Industry Board : MTIB) ได้อนุมัติให้สถาบันวิจัยป่าไม้ มซ. และสมาคมไม้ ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการประเมินวัฏจักรชีวิต เพื่อให้เรามีข้อเท็จจริงและตัวเลข ที่จะจัดการกับข้อกล่าวหาจากผู้ซื้อของเรา”
อัตราค่าขนส่งพุ่งสูงขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา โดยค่าขนส่งไปยังบางพื้นที่เพิ่มขึ้น ๑๐๐ – ๔๐๐% จึงยังคงเป็นความท้าทายสำหรับผู้ส่งออก
การแข่งขันทางการตลาดจาก ปท. เพื่อนบ้านก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน เช่น วน. มีการส่งออกเฟอร์นิเจอร์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากต้นทุนการผลิตต่ำ
อก. ไม้ของ มซ. จะต้องจัดการกับปัญหาเหล่านี้ วิธีการหนึ่งก็คือ การเพิ่มผลผลิตและความสามารถผ่านระบบอัตโนมัติและการใช้เครื่องจักรตามนโยบายปฏิวัติ อก. คลื่นที่ ๔ (IR4.0) อก. จำเป็นต้องก้าวไปสู่ระบบอัตโนมัติและการใช้เครื่องจักร เพื่อปรับการก้าวไปสู่ IR4.0 ขณะที่เยอรมนีและอิตาลีมีผลผลิตที่สูงมาก”
วิธีการที่ ๒ คือเปลี่ยนจากการผลิตที่ใช้อุปกรณ์ดั้งเดิม (original equipment manufacturing) เพื่อเน้นปริมาณ ไปสู่การผลิตที่ใช้การออกแบบดั้งเดิม (original design manufacturing : ODM) และการผลิตแบรนด์ดั้งเดิม (original design manufacturing : OBM) เพื่อเน้นมูลค่าสูงขึ้น ซึ่งการออกแบบผลิตภัณฑ์และช่องทางการตลาดจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน

การปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ
ขณะที่การพัฒนา อก. ไม้ยังคงเป็นหัวใจหลักของ ศก. มซ. แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การรักษาและอนุรักษ์ป่าฝนเขตร้อนของ มซ. รวมถึงระบบนิเวศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ
จากผลการส่งออกในปี ๒๐๒๐ อก. ไม้ได้รับการสนับสนุนเพื่อที่จะเผชิญกับความท้าทายในปีนี้ และยังรวมถึงมีความก้าวหน้าในเรื่องนโยบาย อก. ไม้แห่งชาติตามนโยบายของ รบ. ด้วย (ชิ้นส่วนไม้เพื่อประกอบ รูป ๗)
ทั้งนี้เพื่อลดการส่งออกผลิตภัณฑ์ต้นน้ำ เช่น ไม้ท่อน ซึ่งจำกัดปริมาณการผลิตไม้ท่อนจากป่าด้านตะวันตกของ มซ. ให้เหลือ ๔ ล้าน ลบ.ม./ปี ขณะเดียวกันก็เพิ่มการส่งออกผลิตภัณฑ์ปลายน้ำที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น
เขากล่าวว่า “เราไม่สามารถพึ่งพาวัสดุจากป่าธรรมชาติของเราได้ เนื่องจาก มซ. มุ่งมั่นที่จะปฏิบัติตามปฏิญญาริโอ (Rio Declaration) ซึ่งต้องมีพื้นที่ป่ามากกว่า ๕๐% ของพื้นที่ทั้งหมด”
ภายใต้นโยบายสินค้าเกษตรแห่งชาติ (National AgriCommodity Policy) ในเรื่อง อก. ไม้ มีวิสัยทัศน์คือ การทำให้ผลิตภัณฑ์ปลายน้ำมีสัดส่วน ๖๕% และผลิตภัณฑ์ต้นน้ำ ๓๕% บรรลุผลภายในปี ๒๐๒๕ เมื่อเปรียบเทียบกับอก. ไม้ของ มซ. ในปัจจุบันที่ผลิตภัณฑ์ปลายน้ำมีสัดส่วน ๕๖% และผลิตภัณฑ์ต้นน้ำ ๔๔%
Kheiruddin กล่าวเสริมว่า อก. ไม้ของคาบสมุทรมลายูมีความแข็งแกร่งในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ ส่วนรัฐซาบาห์และซาราวักก็กำหนดเป้าหมายเช่นเดียวกันภายใต้แผนพัฒนา มซ. ฉบับที่ ๑๒ (12MP) โดยรัฐซาราวักมีเป้าหมายที่จะส่งออกผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ เช่น เฟอร์นิเจอร์ มูลค่า ๑๐ พันล้านริงกิต ภายในปี ๒๐๓๐
จากจุดยืนดังกล่าวทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบใน อก. ไม้ แต่ก็มีการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาโดยการนำเข้าวัตถุดิบเพิ่มขึ้นในระยะสั้น รวมถึงการวิจัยและพัฒนา (R&D) วัสดุใหม่ และการสร้างสวนป่าเพื่อแก้ปัญหาในระยะยาว ทั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ๒ ประการคือ เพื่ออนุรักษ์ป่าไม้ธรรมชาติ และเป็นการป้อนวัตถุดิบอย่างสม่ำเสมอสำหรับใช้ใน อก. ไม้อย่างยั่งยืน
“มีการนำเข้าวัตถุดิบ (สำหรับ อก. ไม้) เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง ๕ ปีที่ผ่านมา เพื่อเสริมการขาดแคลนวัตถุดิบที่ผลิตไม่พอใน ปท. จากสถิติการนำเข้าพบว่า นำเข้าเพิ่มขึ้นจาก ๕.๙๕ พันล้านริงกิตในปี ๒๐๑๙ เป็น ๖.๘๑ พันล้านริงกิตในปี ๒๐๒๐ โดยสมาคมไม้ มซ. (Malaysian Timber Council : MTC) ได้มีแผนช่วยเหลือการนำเข้าโดยชดเชยค่าขนส่งส่วนหนึ่ง เพื่อกระตุ้นให้นำเข้าวัตถุดิบมากขึ้น”
ด้านการวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับวัตถุดิบ มีเป้าหมายที่จะทำให้ “เศษไม้เป็นศูนย์” (zero waste) อาทิ สนับสนุนการใช้ลำต้นปาล์มน้ำมัน (oil palm trunks: OPT) ที่เป็นผลพลอยได้จากปาล์มน้ำมัน ต้นไผ่ และต้นยูคาลิปตัส
อนึ่ง การพัฒนา OPT เป็นเรื่องน่าสนับสนุน เพื่อผลิตเป็นไม้อัด ไม้ลามิเนตวีเนียร์ (laminated veneer) ที่มีการออกแบบทางวิศวกรรม เนื่องจากมีตลาดในต่างประเทศสูง แต่ปัจจุบันเรายังผลิตไม่ได้ในปริมาณมาก จึงต้องการผู้ประกอบการที่สนใจร่วมลงทุนในการผลิต OPT ซึ่งสามารถใช้เป็นโครงสร้างภายนอกอาคาร สิ่งเหล่านี้จะช่วยยกระดับการผลิตของ อก. ไม้ รวมทั้งทำให้ผลิตภัณฑ์มีความหลากหลายมากขึ้น
ส่วนโครงการพัฒนาสวนป่า (FPDP) ได้ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี ๒๐๐๖ โดยมีการจัดสรรเงินกู้ (soft loan) เริ่มแรก ๑.๐๔ พันล้านริงกิต เพื่อสร้างพื้นที่ป่ารวม ๑.๓ แสนเฮกเตอร์ จนถึงปัจจุบัน มีการพัฒนาป่าไปแล้ว ๑.๒๖ แสนเฮกเตอร์ (ต่ำกว่าเป้า) ซึ่งจะตัดได้ในอีก ๒ ปี โดยคาดว่า จะได้ไม้ท่อน ๑๙ ล้าน ลบ.ม. ทำให้สามารถเพิ่มการจัดหาวัตถุดิบในประเทศได้มากขึ้น
ภายใต้แผนพัฒนา มซ. ฉบับที่ ๑๒ มีการจัดสรรงบ ๕๐๐ ล้านริงกิต เพื่อพัฒนาสวนป่า (FPDP) ถึงปี ๒๐๒๕ และจะจัด งปม. อีก ๕๐๐ ล้านริงกิตภายใต้แผนพัฒนา มซ. ฉบับที่ ๑๓ เพื่อรองรับโครงการในทศวรรษหน้าด้วย
Kheiruddin กล่าวเพิ่มเติมว่า มีการริเริ่มจากภาคเอกชนในการสร้างสวนป่าของตนเอง ในพื้นที่ประมาณ ๘ แสนเฮกเตอร์ รวมถึงพื้นที่ที่จัดตั้งโดยภาคเอกชนที่ส่วนใหญ่อยู่ในรัฐซาบาห์และซาราวักด้วย
วันนี้เป็นรายงานวิสัยทัศน์ของ อก. ไม้ของ มซ. ในการรักษาระบบนิเวศ โดยติดฉลากเชิงนิเวศ ลดรอยเท้าคาร์ บอน สร้างสวนป่า สนับสนุนนวัตกรรม IR4.0 เพื่อรักษาพื้นที่ป่ากว่า ๕๐ % และพัฒนา อก. ไม้อย่างยั่งยืน

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ