เรื่องเล่าด่านรันตู ประจำวันที่ 26 มีนาคม 2564

เรื่องเล่าด่านรันตู ประจำวันที่ 26 มีนาคม 2564

วันที่นำเข้าข้อมูล 29 มี.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 299 view

เช้านี้ มีผู้ลงทะเบียนกลับไทยวันที่ ๒๖ มี.ค. ๖๔ จำนวน ๒๗ คน
วันที่ ๒๕ มี.ค. มียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ ๑,๓๖๐ คน โดยอยู่ในรัฐกลันตัน ๖๓ คน รัฐตรังกานู ๖ คน มีผู้ติดเชื้อสะสม ๓๓๘,๑๖๘ คน และผู้เสียชีวิตสะสม ๑,๒๔๘ คน (เพิ่มขึ้น ๒ คน) (สถิติข้อมูลการระบาดโควิด รูป ๑)
เรื่องเล่าด่านรันตูวันนี้ เสนอเรื่อง “ไทยเล็งมาตรการกระตุ้นรถยนต์ไฟฟ้า ตั้งเป้าผลักดันกว่า ๑ ล้านคันในอีก ๕ ปีข้างหน้า” ตามรายงานของ นสพ. ผู้จัดการออนไลน์ ฉบับวันที่ ๒๕ มี.ค. ๖๔
เมื่อวันที่ ๒๔ มี.ค. นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รอง นรม./รมว. พลังงาน เป็น ปธ. ในการประชุม คกก.นโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) โดยมี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว. อก. พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม สนง. ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล เพื่อกำหนดทิศทางการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า โดยลดการใช้รถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า (EV) เพื่อก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) และการเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก (การประชุมบอร์ดอีวี รูป ๒)
รอง นรม. เปิดเผยว่า ในปัจจุบันทั่วโลกต่างตระหนักถึงปัญหาผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่เกิดจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดก๊าซเรือนกระจก จึงทำให้หลาย ปท. ไม่ว่าจะเป็น ญป. จีน สหรัฐฯ ประกาศเป้าหมายชัดเจนว่าจะลดการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ และงดการใช้รถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน ดังนั้น เพื่อให้ทิศทางการดำเนินนโยบายด้านพลังงานของไทยสอดคล้องกับกระแสของโลก จึงมีนโยบายลดการใช้รถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปไปสู่การใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (รบ. เร่งเป้าผลิต EV เร็วขึ้น รูป ๓)
ที่ประชุมได้ร่วมกำหนดแผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าใน ปท. เนื่องจาก อก. ยานยนต์ที่ผ่านมาผลิตเครื่องยนต์สันดาป ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จึงได้วางเป้าหมายส่งเสริมการผลิตและการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) โดยคาดการณ์ว่าในปี ๒๕๖๘ รถยนต์ไฟฟ้าจะมีราคาเทียบเท่ากับรถยนต์สันดาป เพื่อก้าวสู่เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
ในการดำเนินงานขับเคลื่อนส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก ได้มอบหมายให้ ก. อุตสาหกรรม ก. พลังงาน และ ก. คมนาคม ร่วมกันพิจารณาส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าประกอบด้วยรถยนต์ จักรยานยนต์และรถบัสสาธารณะ โดย ก. อุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมทั้งในส่วนของอุปทาน (ผู้ผลิต) โดยเฉพาะการเชื่อมโยงผู้ผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ที่เกี่ยวเนื่องในยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงผลักดันผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ เพื่อเร่งให้เกิดการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยโดยเร็ว
ทั้งนี้ เป้าหมายการใช้ยานยนต์ไฟฟ้ารวมทุกประเภทในปี ๒๕๖๘ เป็นจำนวนทั้งสิ้น ๑,๐๕๕,๐๐๐ คัน แบ่งเป็นรถยนต์/รถปิกอัพ ๔๐๒,๐๐๐ คัน รถจักรยานยนต์ ๖๒๒,๐๐๐ คัน และรถบัส/รถบรรทุก ๓๑,๐๐๐ คัน และในปี ๒๕๗๘ ให้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนรวม ๑๕,๕๘๐,๐๐๐ คัน แบ่งเป็นรถยนต์/รถปิกอัพ ๖,๔๐๐,๐๐๐ คัน รถจักรยานยนต์ ๘,๗๕๐,๐๐๐ คัน และรถบัส/รถบรรทุก ๔๓๐,๐๐๐ คัน
และได้วางเป้าหมายการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศในปี ๒๕๖๘ จะมีจำนวนรวมทั้งสิ้น ๑,๐๕๑,๐๐๐ คัน แบ่งเป็นรถยนต์/รถปิกอัพ ๔๐๐,๐๐๐ คัน รถจักรยานยนต์ ๖๒๐,๐๐๐ คัน และรถบัส/รถบรรทุก ๓๑,๐๐๐ คัน และในปี ๒๕๗๘ ให้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนรวม ๑๘,๔๑๓,๐๐๐ คัน แบ่งเป็นรถยนต์/รถปิกอัพ ๘,๖๒๕,๐๐๐ คัน รถจักรยานยนต์ ๙,๓๓๐,๐๐๐ คัน และรถบัส/รถบรรทุก ๔๕๘,๐๐๐ คัน (เป้าหมายการผลิต EV รูป ๔)
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้วางนโยบายการขับเคลื่อน อก. ยานยนต์ไฟฟ้า ด้วยมาตรการระยะเร่งด่วนและมาตรการระยะ ๑-๕ ปี ดังนี้
มาตรการกระตุ้นการใช้รถ EV ระยะเร่งด่วน จะมุ่งส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าทั้งประเภทสองล้อ สามล้อ และสี่ล้อไฟฟ้า โดยวางแผนจัดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์และรถจักรยานยนต์ รวมทั้งส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานแบตเตอรี่ และการบริหารจัดการซากแบตเตอรี่ที่เกิดจากการใช้งานภายในประเทศอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
มาตรการกระตุ้นระยะ ๑-๕ ปี ดำเนินการส่งเสริมการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต การเตรียมการด้านบริหารจัดการซากรถยนต์ แบตเตอรี่ที่ใช้แล้ว โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก ตามมาตรฐานสากล (EcoSystem) เพื่อส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานสะอาด
พร้อมกันนี้ ที่ประชุมยังได้พิจารณาแต่งตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้ คกก. นโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติขึ้น ได้แก่ ๑. คณะอนุกรรมการส่งเสริม อก. การผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน ๒. คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและแบตเตอรี่เพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้า ๓. คณะอนุกรรมการประเมินผลกระทบด้านน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซเรือนกระจกจากการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า ๔. คณะอนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อส่งเสริมการผลิตและการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าให้ดำเนินนโยบายไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล รวมทั้งเกิดการบูรณาการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านยานยนต์ไฟฟ้าของไทย ให้เป็นรูปธรรมและทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ซึ่งจะเป็นความร่วมมือกันในการเดินหน้านโยบายส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง และนำพา ปท. ก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก (ไลน์ผลิตรถ EV รูป ๕)
รอง นรม. ยังได้กล่าวอีกว่า คกก. ชุดนี้มีความสำคัญต่อ ปท. และ อก. ของ ปท. เป็นอย่างมาก ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงานกันอย่างเต็มที่เพื่อให้เกิดนโยบายชัดเจนที่จะทำให้บ้านเมืองเราสวยงามและทันสมัย
วันนี้เป็นรายงานการประชุม คกก. นโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ในการออกมาตรการกระตุ้นรถยนต์ไฟฟ้าของไทย เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งสอดคล้องกับกระแสโลก โดยตั้งเป้ากว่า ๑ ล้านคัน ในอีก ๕ ปีข้างหน้า

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ