เรื่องเล่าด่านรันตู ประจำวันที่ 27 มีนาคม 2564

เรื่องเล่าด่านรันตู ประจำวันที่ 27 มีนาคม 2564

วันที่นำเข้าข้อมูล 29 มี.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 24 พ.ย. 2565

| 352 view

เช้านี้ ไม่มีผู้ลงทะเบียนกลับไทยวันที่ ๒๗ มี.ค. ๖๔
วันที่ ๒๖ มี.ค. มียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ ๑,๒๗๕ คน โดยอยู่ในรัฐกลันตัน ๘๖ คน รัฐตรังกานู ๓ คน มีผู้ติดเชื้อสะสม ๓๓๙,๔๔๓ คน และผู้เสียชีวิตสะสม ๑,๒๔๙ คน (เพิ่มขึ้น ๑ คน) (สถิติข้อมูลการระบาดโควิด รูป ๑)
เรื่องเล่าด่านรันตูวันนี้ เสนอเรื่อง “ธ. โลกเตือน ศก. ฟื้นตัวไม่เท่ากัน เพิ่มความเหลื่อมล้ำเอเชีย” ตามรายงานข่าวของ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ ๒๖ มี.ค. ๖๔ (รายงานข่าว รูป ๒-๓)
ธ. โลก เผยรายงานว่า ศก. เอเชียตะวันออก-แปซิฟิก เดือน เม.ย. หวั่นการฟื้นตัวที่ไม่เท่ากัน ส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น คาด ศก. ภูมิภาคโตแตะ ๗.๖% ในปีนี้ จีนโตสูงสุด ๘.๑% แต่ ปท. ส่วนใหญ่โตเฉลี่ยเพียง ๔.๖%
ธ.โลก เปิดเผยรายงานตามติด ศก. เอเชียตะวันออกและแปซิฟิก เม.ย.๒๐๒๑ ภายใต้หัวข้อเรื่อง "การฟื้นตัวที่ไม่เท่ากัน" ว่า กว่า ๑ ปีที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ปท.กำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกต่างฟื้นตัวได้ไม่เท่ากันอย่างเห็นได้ชัด ธ. โลกเผยในรายงานตามติด ศก. ของภูมิภาคฉบับล่าสุดที่เผยแพร่เมื่อวันที่ ๒๖ มี.ค.๖๔
มีเพียงจีนและเวียดนามเท่านั้นที่มีการฟื้นตัวเป็นรูปตัววี โดยขณะนี้มีผลผลิตสูงกว่าระดับก่อนโควิด-๑๙ แล้ว ศก. ของ ปท. สำคัญอื่นๆ ในภูมิภาค ผลผลิตยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับก่อนการแพร่ระบาดราว ๕% โดยเฉลี่ย ปท. ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดคือ ปท. หมู่เกาะแปซิฟิก ศักยภาพทาง ศก. ยังคงขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพในการจำกัดการแพร่ระบาดของไวรัส ความสามารถในการคว้าโอกาสจากการฟื้นตัวของการค้าระหว่างประเทศ และศักยภาพของรบ. ในการให้ความสนับสนุนทางด้านงบประมาณและการเงิน
ในปี ๖๓ ความยากจนในภูมิภาคไม่ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษ ประมาณ ๓๒ ล้านคนในภูมิภาคไม่สามารถออกจากความยากจนได้ เนื่องจากการแพร่ระบาด (เส้นความยากจน ๕.๕๐ ดอลลาร์/วัน)
“การเปลี่ยนแปลงทาง ศก. อย่างรุนแรงที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ได้ทำให้การลดความยากจนต้องหยุดชะงักไปและความเหลื่อมล้ำเพิ่มสูงขึ้น” วิคตอเรีย ควาควา รอง ปธ. ธ. โลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าว
“ขณะที่เริ่มมีการฟื้นตัวในปี ๖๔ ปท. ต่างๆ มีความจำเป็นต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อคุ้มครองกลุ่มประชากรที่อยู่ในภาวะเสี่ยงหรือเปราะบาง รวมถึงดูแลให้เกิดการฟื้นฟูที่ครอบคลุม คำนึงถึงสภาพแวดล้อม พร้อมรับมือและปรับตัวกับอุปสรรคใหม่ที่เข้ามา”
ความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นผลจากการแพร่ระบาด การล็อคดาวน์ ตลอดจนการเข้าถึงความช่วยเหลือทางสังคมและเทคโนโลยีดิจิทัลที่ไม่เท่าเทียมในบาง ปท. เด็กในครอบครัวที่อยู่ในส่วนล่างสุด ๒ ใน ๕ ของการกระจายรายได้ มีโอกาสที่จะได้เรียนรู้น้อยกว่าเด็กในครอบครัวที่อยู่ในส่วนสูงสุด ๑ใน ๕ ถึง ๒๐% ผู้หญิงต้องเผชิญความรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม โดยผู้ตอบแบบสอบถามในลาว ๒๕% และในอินโดนีเซีย ๘๓% ระบุว่า ความรุนแรงจากคนใกล้ชิดมีสภาพเลวร้ายลงเนื่องจากโควิด-๑๙
การเติบโตของภูมิภาคคาดว่า จะเติบโตอย่างก้าวกระโดดจาก ๑.๒% ในปี ๖๓ เป็น ๗.๖% ในปี ๖๔ แต่ก็มีแนวโน้มที่การฟื้นตัวจะดำเนินไปด้วยความเร็วที่แตกต่างกัน ๓ ระดับ จีนและเวียดนามคาดว่าจะเติบโตมากขึ้นไปอีกในปี ๖๔ คือ ๘.๑% และ ๖.๖% ตามลำดับ จาก ๒.๓% และ ๒.๙% ในปี ๖๓ ส่วน ศก. ของ ปท. ขนาดใหญ่อื่นๆ ในภูมิภาคที่บอบช้ำจากวิกฤตมากกว่า จะเติบโตประมาณ ๔.๖% โดยเฉลี่ย ซึ่งช้ากว่าอัตราการเติบโตก่อนวิกฤตเล็กน้อย การฟื้นตัวคาดว่าจะใช้เวลานานใน ปท. หมู่เกาะที่พึ่งพาการท่องเที่ยว
รายงานฉบับนี้คาดว่า โครงการกระตุ้น ศก. ของสหรัฐฯ จะสามารถเพิ่มการเติบโตของ ปท. ต่างๆ ในภูมิภาคได้ถึง ๑ จุดร้อยละโดยเฉลี่ยในปี ๖๔ และเร่งการฟื้นตัวให้เร็วขึ้นได้ประมาณ ๓ เดือนโดยเฉลี่ย ความเสี่ยงในกรณีนี้อยู่ที่ความล่าช้าในการกระจายวัคซีนที่อาจฉุดการเติบโตได้ถึง ๑ จุดร้อยละในบาง ปท.
รายงานยังเสนอให้มีการดำเนินการเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาด พยุง ศก. และช่วยให้เกิดการฟื้นตัว โดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อม และระบุว่าปริมาณและการจัดสรรวัคซีนในปัจจุบัน จะทำให้ ปท. ที่พัฒนาแล้วมีวัคซีนครอบคลุมประชากรมากกว่า ๘๐% ภายในสิ้นปี ๖๔ ขณะที่ ปท. กำลังพัฒนาจะครอบคลุมได้เพียง ๕๕% ของประชากรเท่านั้น หลาย ปท. ในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก มีการให้ความช่วยเหลือบรรเทาไม่พอกับรายได้ที่สูญเสียไป การกระตุ้น ศก. ไม่ได้ช่วยเยียวยาอุปสงค์หรือความต้องการที่ขาดหายไปได้อย่างเต็มที่ และการลงทุนภาครัฐไม่ได้เป็นส่วนสำคัญของความพยายามฟื้นฟู ศก.
ขณะที่หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยถึง ๗ จุดร้อยละของ GDP และมาตรการ “สีเขียว” ถูกแซงหน้าด้วยกิจกรรม “สีน้ำตาล” ในแผนกระตุ้น ศก. ต่างๆ ทั่วภูมิภาค โดยเฉลี่ยแล้วมาตรการฟื้นฟูของ ปท. ต่างๆ ในภูมิภาคมีเพียง ๑ ใน ๔ เท่านั้นที่เป็นมิตรกับสภาพภูมิอากาศ
“ความร่วมมือระหว่างประเทศเป็นสิ่งจำเป็นมากกว่าครั้งใดๆ เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาด พยุง ศก. และฟื้นตัวโดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อม” อาดิตยา แม็ททู หน. นักเศรษฐศาสตร์ ธ. โลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าว
“จีนสามารถมีบทบาทสำคัญด้วยการส่งออกผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์มากขึ้น กระตุ้นการบริโภคและดำเนิน การด้านสภาพภูมิอากาศที่หนักแน่นมากขึ้น และจีนเองก็จะได้รับประโยชน์จากโลกที่ปลอดภัยขึ้นและการเติบโตที่สมดุลมากขึ้นด้วย”
นอกจากนี้ รายงานฉบับนี้ยังเสนอแนะให้สร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในการผลิตและรับรองวัคซีนตลอดจนการจัดสรรโดยยึดตามความจำเป็นเพื่อช่วยยับยั้งการแพร่ระบาด การประสานงานด้านการคลังจะสามารถขยายผลรวมหมู่ได้ เนื่องจาก รบ. บาง ปท. มีแนวโน้มที่จะออกมาตรการกระตุ้นน้อยกว่าระดับที่เหมาะสมนอกจากการร่วมมือกันในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว ความช่วยเหลือระหว่างประเทศจะช่วยให้ ปท. กำลังพัฒนาที่ยากจนกว่า สามารถดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศได้เต็มที่มากขึ้นอีกด้วย
รายงานการฟื้นตัวที่ไม่เท่ากัน โฟกัสที่การฉีดวัคซีน นโยบายทางการคลังและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิ อากาศ สืบเนื่องต่อจากรายงานตามติด ศก. ในภูมิภาค ๒ ฉบับในปี ๖๓ ที่พิจารณานโยบายด้านอื่นๆ ๖ ด้านเกี่ยวกับการฟื้นฟูอย่างยืดหยุ่นจากการแพร่ระบาด นั่นคือ การจัดการโควิด-๑๙ อย่างฉลาด การจัดการศึกษาอย่างฉลาด การเพิ่มความคุ้มครองทางสังคม ความช่วยเหลือสำหรับกิจการต่างๆ นโยบายภาคการเงินที่สมดุล และการปฏิรูปการค้า
วันนี้เป็นรายงานเรื่อง ธ. โลกเตือน หลังโควิด ศก. ฟื้นตัวไม่เท่ากัน จะเพิ่มความเหลื่อมล้ำทาง ศก. ระหว่าง ปท. จึงเป็นเรื่องท้าทายสำหรับ รบ. ในการจัดการโควิด ช่วยเหลือและเพิ่มความคุ้มครองกลุ่มที่ได้รับผลกระทบทางสังคม เพื่อมิให้ “ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ