เรื่องเล่าด่านรันตู ประจำวันที่ 28 มีนาคม 2564

เรื่องเล่าด่านรันตู ประจำวันที่ 28 มีนาคม 2564

วันที่นำเข้าข้อมูล 29 มี.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 27 พ.ย. 2565

| 533 view

เช้านี้ ไม่มีผู้ลงทะเบียนกลับไทยวันที่ ๒๘ มี.ค. ๖๔
วันที่ ๒๗ มี.ค. มียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ ๑,๑๙๙ คน โดยอยู่ในรัฐกลันตัน ๑๓๘ คน รัฐตรังกานู ๓ คน มีผู้ติดเชื้อสะสม ๓๔๐,๖๔๒ คน และผู้เสียชีวิตสะสม ๑,๒๕๑ คน (เพิ่มขึ้น ๒ คน) (สถิติข้อมูลการระบาดโควิด รูป ๑)
นสพ. Metro ฉบับวันนี้ Dr. Zaini สธ. กลันตัน ได้ให้ความเห็นว่า การที่มีผู้ติดเชื้อโรครายใหม่ในรัฐกลันตันเพิ่มถึง ๑๓๘ คน รองจากรัฐสลังงอร์ ซาราวัก และปีนัง นั้น มีสาเหตุมาจากการที่ได้รับอนุญาตให้มีการจัดงานชุมนุม ผู้ป่วยโควิดจึงเพิ่มขึ้นทุกวัน แม้ว่าจะได้รับอนุญาตให้จัดงานชุมนุม แต่ ปชช. ก็ต้องปฏิบัติตาม SOP อย่างเคร่งครัด
ช่วงนี้ข่าวเรือ Container ขนาดใหญ่ชื่อ “Ever Given” มีความยาว ๔๐๐ ม. มีระวางขับน้ำถึง ๒๐๐,๐๐๐ ตัน ประสบเหตุเกยตื้นในคลองสุเอซและขวางเส้นทางการเดินเรือหลักสายหนึ่งของโลก จึงตกอยู่ในความสนใจของทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อโลจิสติกส์การขนส่งสินค้าในระดับโลก
เรื่องเล่าด่านรันตูวันนี้ เสนอเรื่อง “ทำความรู้จัก ‘คลองซุเอซ’ หลังเรือยักษ์เอเวอร์ กีฟเวน ประสบเหตุเกยตื้น” ตามรายงานของ นสพ. ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ ๒๘ มี.ค. ๖๔ (รายงานข่าว รูป ๒-๓)
วันนี้ เชิญท่านผู้อ่านมาทำความรู้จัก "คลองซุเอซ" (Suez Canal) เป็นคลองที่มนุษย์สร้างขึ้นในประเทศอียิปต์โดยถูกขุดขึ้นด้วยมือ เชื่อมระหว่างท่าเรือซาอิด ฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และเมืองสุเอซ (Suez) บนฝั่งทะเลแดง เป็นการเชื่อมทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเข้ากับทะเลแดง ผ่านช่องแคบสุเอซในอียิปต์ตะวันออกเฉียงเหนือ คลองสุเอซเริ่มสร้างในเดือน เม.ย. ๑๘๕๙ แล้วเสร็จในเดือน พ.ย. ๑๘๖๙ ก่อนการสร้างคลองนั้น ใช้การขนถ่ายสินค้าทางบกระหว่างทะเลเมดิเตอร์เรเนียนกับทะเลแดง
คลองสุเอซแบ่งเป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนเหนือและส่วนใต้ โดยมีทะเลสาบเกรตบิตเตอร์ (Great Bitter) เป็นจุดกลาง มีความยาว ๑๙๓ กม. ความกว้าง ๓๐๐-๓๕๐ เมตร และมีความลึกประมาณ ๑๙.๕ - ๒๐.๑ เมตร สามารถรองรับเรือยาว ๕๐๐ ม. กว้าง ๗๐ ม. ไม่จำเป็นต้องมีการกั้นคลอง (canal lock) เพราะทะเลทั้ง ๒ แห่งมีระดับเดียวกัน การขนส่งตั้งแต่ต้นคลองจนถึงจุดสิ้นสุดคลอง ใช้เวลาประมาณ ๑๑-๑๖ ชม.
คลองสุเอซถือเป็นตัวเชื่อมสำคัญในการค้าระดับโลก ช่วยให้การเดินทางระหว่างทวีปยุโรปกับทวีปเอเชียสั้นลงเป็นอย่างมาก เนื่องจากเรือไม่ต้องเดินทางอ้อมแหลมกู๊ดโฮป ทวีปแอฟริกา ในแต่ละปีจะมีเรือผ่านคลองนี้ประมาณ ๒๕,๐๐๐ ลำ โดยเป็นเรือขนส่งสินค้าราว ๕๘% คิดเป็นปริมาณการขนส่งสินค้าสูงถึง ๖๖๕ ล้านตัน แต่ละวันมีตู้คอนเทนเนอร์สัญจรผ่านราว ๓๐% ของทั้งโลก คิดเป็นราว ๑๒% ของปริมาณการค้าโลกที่ผ่านเส้นทางนี้
นอกจากนี้ คลองสุเอซยังเป็นเส้นทางขนส่งน้ำมันที่สำคัญของโลก เนื่องจากเป็นเส้นทางหลักที่ประเทศผู้ผลิตน้ำมันในแถบตะวันออกกลางใช้ขนส่งน้ำมันไปยังภูมิภาคอื่นๆ โดยเฉพาะทวีปยุโรป และสหรัฐฯ ทั้งนี้เรือบรรทุกน้ำมันที่เดินทางผ่านคลองสุเอซ มีสัดส่วนราว ๒๒% ของจำนวนเรือทั้งหมดเลยทีเดียว
จากกรณีที่เรือยักษ์เอเวอร์ กีฟเวน (Ever Given) ซึ่งมีความยาวถึง ๔๐๐ ม. มีระวางขับน้ำถึง ๒๐๐,๐๐๐ ตัน ประสบเหตุเกยตื้นในคลองสุเอซ เนื่องจากเผชิญกระแสลมแรง จนเป็นเหตุให้การขนส่งสินค้าทางทะเลทั่วโลกปั่นป่วนอยู่ในตอนนี้ (เรือเอเวอร์ กีฟเวน รูป ๔)
ผลที่เรือยักษ์เอเวอร์ กีฟเวน ประสบเหตุเกยตื้นขวางทางสัญจรที่ "คลองซุเอซ" ว่ากันว่า เกิดความเสียหายไปทั่วโลกเฉลี่ยวันละ ๒.๙๘ แสนล้านบาท จนบัดนี้ผู้เชี่ยวชาญยังก่ายหน้าผากว่า จะเคลื่อนย้ายเจ้าเรือยักษ์เอเวอร์ กีฟเวนออกจากจุดเกิดเหตุได้อย่างไร (ที่ตั้งคลองซุเอส รูป ๕)
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รอง นรม. / รมว. พณ. เปิดเผยว่า ได้ติดตามข่าวการกู้เรือสินค้าเอเวอร์ กีฟเวน ที่เป็นเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ เสียหลักเกยตื้นติดขวางคลองสุเอซ ระหว่างนี้กำลังพยายามเร่งกู้เรือเพื่อให้การเดินเรือสามารถเดินหน้าไปได้ ซึ่งคาดว่าต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งนั้น ทาง พณ. ได้ประสานงานกับผู้ส่งออก สายการเดินเรือ และ สนง. ส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) แล้วว่า หากการกู้เรือยืดเยื้อ จะแก้ปัญหาโดยการเปลี่ยนเส้นทางเดินเรือใหม่ในการขนส่งสินค้า จากเดิมที่ผ่านคลองสุเอซไปยุโรปและภูมิภาคอื่น เปลี่ยนไปใช้เส้นทางผ่านแหลมกู๊ดโฮปที่อยู่ทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา ก่อนอ้อมไปยุโรป ซึ่งจะต้องใช้เวลามากขึ้นประมาณ ๑๐ วันและมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น (ขนส่งโลกปั่นป่วน รูป ๖)
ขณะเดียวกัน จะประสานงานกับผู้นำเข้าและส่งออก ขอขยายเวลาการส่งสินค้า เพราะติดปัญหาเรือขวางคลองสุเอซ โดยให้ สคต. ประจำประเทศอียิปต์เป็นตัวกลางในการประสานงาน เนื่องจากเป็นห่วงเรื่องค่าขนส่งที่จะเพิ่มขึ้น ซึ่งขณะนี้ สนง. พาณิชย์ต่างประเทศ มีการติดตามและประสานงานอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ พณ. จะหารือแนวทางช่วยเหลือภาคเอกชนต่อไป (การกู้เรือยักษ์ รูป ๗)
รายงานจาก พณ. ระบุด้วยว่า การที่เรือยักษ์เอเวอร์ กีฟเวน ติดขวางคลองสุเอซนั้น ปัญหาที่เห็นได้ชัดขณะนี้คือ ราคาน้ำมันเริ่มปรับตัวขึ้น เนื่องจากคลองสุเอซเป็นช่องทางสำคัญในการขนส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ คิดเป็นสัดส่วนราว ๕-๑๐% การขนส่งทั้งโลก รวมทั้งปริมาณการค้าราว ๑๒% ของโลกที่ผ่านคลองสุเอช
วันนี้เป็นรายงานเหตุการณ์เรือบรรทุกสินค้าเกยตื้นขวางคลองสุเอซซึ่งเปรียบดังเส้นเลือดสำคัญของการขนส่งทางเรือ ที่ส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศอย่างหนัก โดยได้เผยให้เห็นจุดอ่อนและความเปราะบางของระบบโลจิส ติกส์ขนส่งสินค้าในห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ในโลกปัจจุบัน

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ