เรื่องเล่าด่านรันตู ประจำวันที่ 25 มกราคม 2564

เรื่องเล่าด่านรันตู ประจำวันที่ 25 มกราคม 2564

วันที่นำเข้าข้อมูล 27 ม.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 514 view

เช้านี้ มีผู้ลงทะเบียนกลับไทยวันที่ ๒๕ ม.ค. ๖๔ จำนวน ๗ คน
วันที่ ๒๔ ม.ค. มียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ ๓,๓๔๖ คน โดยอยู่ในรัฐกลันตัน ๗๗ คน รัฐตรังกานู ๑๗๙ คน มีผู้ติดเชื้อสะสม ๑๘๓,๘๐๑ คน และผู้เสียชีวิตสะสม ๖๗๘ คน (เพิ่มขึ้น ๑๑ คน) (สถิติข้อมูลการระบาดโควิด รูป ๑)
ขณะนี้ในหลาย ปท. แม้แต่ ปทท. พบว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่วนหนึ่งมาจากการตรวจในเชิงรุก
เรื่องเล่าด่านรันตู วันนี้จึงขอเสนอเรื่อง “การทดสอบโควิด-๑๙ ประเภทต่างๆ” ตามรายงานข่าวของ นสพ. The Star ฉบับวันที่ ๒๓ ม.ค. ๒๐๒๑ และจาก สนง. อย. ของไทย (วิธีตรวจโควิด-๑๙ รูป ๒)
สธ. ทั่วโลกมีการทดสอบโควิด-๑๙ หลักๆ อยู่ ๒ ประเภท เพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ ได้แก่
๑. การทดสอบแบบ RT-PCR (Reverse Transcription Polymerase Chain Reaction) ที่เป็นการทดสอบปฏิกิริยาลูกโซ่โพลีเมอเรส ด้วยการถอดรหัสแบบย้อนกลับ เป็นวิธีที่ WTO แนะนำ และปทท. ใช้อยู่ในปัจจุบัน ถือเป็นมาตรฐานสากล (Types of Covid-19 tests รูป ๓)
ข้อดีคือ มีความไว มีความจำเพาะสูง สามารถทราบผลภายใน ๓-๕ ชม. และสามารถตรวจจับเชื้อไวรัสในปริมาณน้อยๆ ได้ ในรูปแบบของสารพันธุกรรมไม่ว่าจะเชื้อเป็นหรือเชื้อตาย ตรวจจับได้หมดจากสารคัดหลั่งทางเดินหายใจส่วนบน/ส่วนล่างของผู้สงสัยติดโควิด-๑๙ ข้อเสียคือ ต้องระวังการปนเปื้อน (contamination) ในสิ่งแวดล้อม จึงต้องทำในห้องแล็บที่ได้รับมาตรฐาน
ดังนั้น จึงเป็นวิธีที่เหมาะสมสำหรับการตรวจวินิจฉัยโรคเพื่อการรักษาที่รวดเร็ว ตั้งแต่ระยะแรกของการเกิดโรค และใช้ติดตามผลการรักษาได้ โดยเก็บตัวอย่างส่งตรวจจากการทำ Swab test ป้ายเยื่อบุในคอ หรือป้ายเนื้อเยื่อหลังโพรงจมูก เพราะเชื้อไวรัสอยู่ในเซลล์จึงต้องขูดออกมา และหากเชื้อลงไปในปอด ก็จะต้องนำเสมหะที่อยู่ในปอดออกมาตรวจ
RT-PCR เป็นการทดสอบระดับโมเลกุลที่สามารถตรวจจับกรดไรโบนิวคลีอิก (RNA) ของเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ โดยสารเคมีบนชุด swab test จะขจัดสารอื่นๆ และแยกเฉพาะ RNA ในตัวอย่าง
RNA จะถูกแปลงเป็น DNA โดยใช้กระบวนการ "การถอดรหัสแบบย้อนกลับ" และนักวิทยาศาสตร์จะเพิ่มชิ้นส่วนของ DNA ขนาดสั้นพิเศษ เพื่อสร้างสายดีเอ็นเอและเพิ่มฉลากเครื่องหมายเพื่อตรวจหาเชื้อไวรัส
ส่วนผสมจะถูกนำมาวางไว้ในเครื่องมือที่สร้างสำเนา DNA ของไวรัส ในระหว่างที่ฉลากเครื่องหมายปล่อยสีย้อมเรืองแสง ที่ตรวจวัดโดยคอมพิวเตอร์ จึงขึ้นอยู่กับห้องแล็บและระบบโลจิสติกส์ ซึ่งผลการทดสอบสามารถทราบได้ภายใน ๒ ชม. หรือหลายวันหากจำเป็นต้องจัดส่งตัวอย่างไปในระยะทางไกล
๒. การตรวจภูมิคุ้มกันด้วยชุดทดสอบแอนติเจนแบบรวดเร็ว (RTK-Ag : Rapid Test Kit Antigen)
โดยเก็บตัวอย่างจากการเจาะเลือด ซึ่งสามารถทราบผลใน ๑๕ นาที วิธีนี้จะทำได้หลังมีอาการป่วย ๕ -๗ วัน หรือได้รับเชื้อมาแล้ว ๑๐-๑๔ วัน ดังนั้น การใช้ Rapid Test ตรวจภูมิคุ้มกัน (IgM/IgG) ในช่วงแรกของการรับเชื้อ หรือช่วงแรกที่มีอาการ ผลการตรวจจะเป็นลบ ซึ่งไม่ได้แสดงว่าผู้ป่วยไม่ได้ติดเชื้อโควิด-๑๙ เนื่องจากภูมิคุ้มกันยังไม่เกิดขึ้น
ทั้งนี้ โดยปกติธรรมชาติของร่างกายเมื่อได้รับเชื้อ ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาต่อสู้กับเชื้อโรค ซึ่งภูมิคุ้มกันจะเกิดหลังจากมีอาการประมาณ ๕-๗ วัน โดยการตรวจดังกล่าวอนุญาตใช้ได้เฉพาะสถานพยาบาล ที่ต้องทำโดยบุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุขเท่านั้น
ข้อดีคือ ทราบผลเร็ว อุปกรณ์ตรวจสำเร็จรูป ใช้ง่าย ไม่ต้องมีความชำนาญมากเป็นพิเศษก็ใช้ได้ เหมาะกับการใช้ตรวจในกรณีเร่งด่วน เช่น ก่อนเข้ารับการผ่าตัด และเหมาะกับการคัดกรองวงกว้าง เพื่อควบคุมการกระจายเชื้อ
ข้อเสียคือ อาจพบผลลบลวง (false-negative results) ได้ กล่าวคือเป็นโรค แพร่เชื้อได้ แต่ผลทดสอบเป็นลบอยู่ หากมาตรวจในช่วงแรกของการรับเชื้อ หรือช่วงแรกที่มีอาการ
ด้วยเหตุนี้ RTK-Ag จึงมีข้อได้เปรียบในการตรวจจับการระบาดของโควิด-๑๙ ได้อย่างรวดเร็วในปริมาณมาก แต่แม่นยำน้อยกว่า RT-PCR โดยอาจให้ผลตรวจผิดพลาด ที่นำไปสู่การควบคุมการระบาดโควิดที่ไม่รัดกุมได้
สธ. ใช้ RTK-Ag เป็นทางเลือกแทน RT-PCR ในบางสถานการณ์ เพื่อให้ได้ผลการทดสอบภายในเวลาที่สั้นลง ในสถานการณ์ที่ไม่เอื้ออำนวยกับการทดสอบระดับโมเลกุลแบบ RT-PCR (นรม. มซ. เยี่ยมศูนย์ MAEPS ๑๙ ม.ค. รูป ๔-๕)
การทดสอบ RTK-Ag ทำงานโดยการตรวจหาโปรตีนที่เฉพาะเจาะจง (specific proteins) บนพื้นผิวของไวรัส ซึ่งต่างจากการทดสอบ RT-PCR ที่ตรวจพบสารพันธุกรรมของไวรัส นอกจากนี้ ยังมีการทดสอบอีกแบบคือ
๓. การทดสอบภูมิต้านทานด้วย Rapid test Antibody ซึ่งแตกต่างจากการทดสอบ RT-PCR และ RTK-Ag โดยเป็นการตรวจพบผ่านตัวอย่างเลือด ที่ได้จากชุดตรวจด้วยการเจาะเลือดที่ปลายนิ้ว สามารถรับผลลัพธ์ได้ภายใน ๒-๓ วัน (ตรวจโควิดใน ๒๐ นาที รูป ๖)
อย่างไรก็ตาม การทดสอบแอนติบอดีแบบนี้ไม่เหมาะที่จะใช้ตรวจหาการติดเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ เนื่องจากจะสามารถแสดงให้เห็นเพียงว่า บุคคลนั้นเคยติดเชื้อไวรัส (หรือไม่เคย) มาก่อนเท่านั้น จึงเสี่ยงต่อการแปลผลตรวจที่ผิดพลาด เนื่องจากเป็นการตรวจหาภูมิต้านทาน ไม่ได้เป็นการตรวจหาเชื้อ ดังนั้น จึงต้องได้รับเชื้อในระยะเวลาหนึ่งถึงจะตรวจพบภูมิต้านทาน หากเพิ่งได้รับเชื้อจะตรวจไม่พบในทันที จึงเป็นข้อจำกัดของชุดตรวจชนิดนี้ และต้องดำเนินการตรวจและแปลผลโดยผู้เชี่ยวชาญหรือนักเทคนิคการแพทย์เท่านั้น จึงไม่แนะนำให้ใช้โดยทั่วไป
(Drive Thru Test รูป ๗)
การทดสอบจะตรวจหาแอนติบอดีซึ่งเป็นโปรตีนที่สร้างขึ้นโดยระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย หลังจากได้รับเชื้อหรือฉีดวัคซีนแล้ว ซึ่งศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐ (Centers for Disease Control & Prevention) ระบุว่า หลังจากการติดเชื้อ จะใช้เวลา ๑-๓ สัปดาห์ ร่างกายของคนเราจะสร้างแอนติบอดีได้
นี่คือ รายงานการทดสอบโควิด-๑๙ ประเภทต่างๆ ที่ สธ. ทั่วโลกใช้อยู่ในปัจจุบัน

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ