เรื่องเล่าด่านรันตู ประจำวันที่ 24 มกราคม 2564

เรื่องเล่าด่านรันตู ประจำวันที่ 24 มกราคม 2564

วันที่นำเข้าข้อมูล 25 ม.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 27 พ.ย. 2565

| 311 view

เช้านี้ ไม่มีผู้ลงทะเบียนกลับไทยวันที่ ๒๔ ม.ค. ๖๔
วันที่ ๒๓ ม.ค. มียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ ๔,๒๗๕ คน ถือเป็นสถิติสูงสุดใหม่อีกครั้ง โดยอยู่ในรัฐกลันตัน ๗๘ คน รัฐตรังกานู ๑๓๑ คน มีผู้ติดเชื้อสะสม ๑๘๐,๔๕๕ คน และผู้เสียชีวิตสะสม ๖๖๗ คน (เพิ่มขึ้น ๑๘ คน) (สถิติข้อมูลการระบาดโควิด รูป ๑)
เดิมที รัฐกลันตันและตรังกานูเป็นรัฐที่มีการติดเชื้อโควิดค่อนข้างต่ำ จัดเป็นพื้นที่สีเขียว ต่อมามีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นจนกลายเป็นพื้นที่สีแดง ปัจจุบัน ณ วันที่ ๒๓ ม.ค. รัฐกลันตันและรัฐตรังกานู มีผู้ติดเชื้อสะสม ๒,๗๖๑ คน และ ๑,๓๕๕ คน ตามลำดับ ตกอยู่ภายใต้การบังคับใช้มาตรการควบคุมการสัญจร (MCO) เช่นเดียวกับรัฐอื่นๆ ใน มซ.
สถานการณ์การระบาดโควิดในรัฐกลันตัน มีความเกี่ยวข้องกับการควบคุมโควิดในไทยอย่างมาก เนื่องจากมีพรมแดนอยู่ติดกับ จ. นราธิวาส ทั้งนี้ รพ. Tumpat ที่ใช้รักษาผู้ป่วยโควิด อยู่ห่างจากชายแดนไทยเพียง ๙.๕ กม. ในรัศมีการเดินทางด้วยรถเพียง ๑๓ นาทีจะถึงฝั่ง อ.ตากใบ
เรื่องเล่าด่านรันตู วันนี้ขอเสนอเรื่อง “สถานการณ์โควิดในรัฐกลันตัน” ตามที่ นสพ. Berita Harian ฉบับวันที่ ๒๓ ม.ค. ๖๔ ได้รายงานเรื่อง “ผู้ติดเชื้อโควิดมีจำนวนเพิ่มขึ้นจนเป็นที่น่ากังวล”
สธ. รัฐกลันตัน Dr. Zaini Husin กล่าวว่า ผู้ป่วยโควิดในรัฐกลันตันมีมากกว่า ๑๐๐ ราย/วัน และเป็นเรื่องที่น่ากังวลมาก ตามที่ สธ. มซ. (MOH) ระบุว่า อัตราการติดเชื้อ (Rt) หรือ R-naught (R0) COVID-19 ในรัฐกลันตันอยู่ที่ ๑.๒๖ ซึ่งเกินกว่าค่า Rt ของ ปท. ที่อยู่ระดับ ๑.๑๔ (สธ.กลันตันให้สัมภาษณ์ รูป ๒)
ผู้ป่วยโควิดในรัฐกลันตันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จึงเป็นที่วิตกว่าการติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นเช่นกัน ดังนั้นสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีอยู่จะไม่สามารถรองรับผู้ป่วยโควิดได้ โดย Dr. Zaini คาดว่า สิ่งอำนวยความสะดวกที่มีอยู่สำหรับผู้ป่วยโควิดในรัฐจะสามารถรองรับได้เพียง ๒ เดือน หากจำนวนผู้ติดเชื้อยังคงเพิ่มขึ้น
ปัจจุบันในรัฐกลันตันมี รพ. ๘ แห่ง และศูนย์กักกันและบำบัดโควิด-๑๙ (Quarantine and Low Risk Treatment Centres (QLRTC) ๔ แห่ง โดย ๓ แห่งอยู่ในเมืองโกตาบารู ได้แก่ Perak Jubilee Hall วิทยาลัยพยาบาลโกตาบารู และศูนย์ฝึกอบรมอิสลามแห่งกลันตัน (PUTIK) และอีก ๑ แห่งอยู่ใน อ. กัวมูซัง ที่ใช้รองรับผู้ป่วยโควิด (ผู้ติดเชื้อรัฐกลันตัน รูป ๓)
Dr. Zaini กล่าวว่า แม้ขณะนี้ จนท. สธ. ที่ปฏิบัติหน้าที่ในศูนย์รับผู้ป่วยโควิด-๑๙ ยังมีเพียงพอ แต่หากสถานการณ์จำเป็น จนท.สธ. ที่ถูกส่งไปทำงานนอกรัฐกลันตันจะถูกเรียกกลับมาด้วย (ศูนย์กักกันและบำบัดโควิด รูป ๔)
ข้อมูลผู้ติดเชื้อแยกตามอำเภอในรัฐกลันตัน (ณ วันที่ ๒๓ ม.ค.) มีดังนี้ เมือง Kota Bharu ๔๕๐ คน อ. Bachok ๑๘๗ คน อ. Gua Musang ๑๖๓ คน อ. Tanah Merah ๑๓๕ คน อ. Kuala Krai ๑๐๘ คน อ. Pasir Mas ๙๗ คน อ. Machang ๙๖ คน อ. Tumpat ๙๔ คน อ. Pasir Puteh ๕๓ คน และ อ. Jeli ๑๘ คน
โดยกลุ่มผู้ติดเชื้อ Clusters ในรัฐกลันตัน แยกได้ดังนี้ (ผู้ติดเชื้อรัฐตรังกานู รูป ๕)
Halban Cluster (ในโกตาบารู)
Seragam Chepa Cluster (ในโกตาบารู อ. Bachoke และ อ. Tumpat)
Huma Cluster (อ. Pasir Puteh และโกตาบารู)
Kube Cluster (อ. Tanah Merah และโกตาบารู)
Hilir Cluster (Kubang Kerian โกตาบารู)
Paloh Cluster (อ. Tumpat)
Taman Kesedar Cluster (อ. Gua Musang)
Pintu Geng Cluster (ในโกตาบารู)
Pondok Hidayah Cluster (อ. Machang) Alor
Durian Cluster (อ. Tumpat และโกตาบารู) และ
Belukar Cluster (อ. Machang)
สาเหตุที่มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้น มาจากชาวกลันตันที่ไปทำงานและเรียนหนังสืออยู่ต่างรัฐได้เดินทางกลับรัฐกลันตันในช่วงต้นปี ก่อนหน้านี้ จากการสำรวจพฤติกรรมในการป้องกันโควิด พบว่าชาวกลันตันส่วนใหญ่ไม่ค่อยรักษาวินัยในการปฏิบัติตาม SOP จึงเชื่อว่าเป็นสาเหตุสำคัญของการแพร่ระบาดของโควิดในรัฐกลันตัน (สธ.รับของบริจาค รูป ๖)
นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า สธ. กลันตันได้มีคำสั่งปิดตลาดที่มีชื่อเสียงใน อ. Pasir Puteh และห้ามเที่ยวชายหาดของ อ. Pasir Puteh แล้วด้วย (ตลาดถูกสั่งระงับ รูป ๗)
นี่คือ รายงานการระบาดโควิดในรัฐกลันตัน ซึ่ง สธ. กลันตันแสดงความกังวลว่า หากยังเพิ่มต่อเนื่อง ระบบ สธ. กลันตันอาจไม่สามารถรองรับได้ และเนื่องจากรัฐกลันตันอยู่ติดกับชายแดนไทย จึงต้องเฝ้าติดตามด้วยใจระทึกต่อไป

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ