เรื่องเล่าด่านรันตู ประจำวันที่ 23 มกราคม 2564

เรื่องเล่าด่านรันตู ประจำวันที่ 23 มกราคม 2564

วันที่นำเข้าข้อมูล 24 ม.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 263 view

เช้านี้ ไม่มีผู้ลงทะเบียนกลับไทยวันที่ ๒๓ ม.ค. ๖๔
วันที่ ๒๒ ม.ค. มียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ ๓,๖๓๑ คน โดยอยู่ในรัฐกลันตัน ๑๖๑ คน รัฐตรังกานู ๑๗๘ คน มีผู้ติดเชื้อสะสม ๑๗๖,๑๘๐ คน และผู้เสียชีวิตสะสม ๖๖๐ คน (เพิ่มขึ้น ๑๘ คน) (สถิติข้อมูลการระบาดโควิด รูป ๑)
มซ. มีพรมแดนทางทะเลเป็นหลัก ตามเส้นลองติจูดมากกว่า ๑๙° โดยมีแนวชายฝั่งมากกว่า ๔,๖๐๐ กม. และมีพรมแดนติดกับน่านน้ำขนาดใหญ่ ๔ แห่ง (ช่องแคบมะละกา ทะเลจีนใต้ ทะเลซูลู และทะเลสุลาเวสี) (แผนที่การประมง มซ. รูป ๒)
ใน มซ. มีผู้ประกอบอาชีพประมงกว่า ๖.๔ หมื่นคน ที่เป็นชาวประมงพื้นบ้าน อก. ประมงทำรายได้คิดเป็น ๑.๓% ของ GDP มีมูลค่า ๑.๒๗ หมื่นล้านริงกิต/ปี โดย อก. ประมงในทะเลจีนใต้มีมูลค่า ๒.๔ พันล้านเหรียญสหรัฐ/ปี (มูลค่า อก. ประมงของ มซ. รูป ๓)
กม. การประมงของ มซ. ปี ๑๙๘๕ ระบุว่า เรือประมงที่จะจับสัตว์น้ำในน่านน้ำ มซ. ต้องมีใบอนุญาตการทำประมงจากกรมประมงก่อน แต่เนื่องจากการทำประมงชายฝั่งของ มซ. ระหว่าง ๐-๓๐ ไมล์ทะเล ที่ใช้เรือขนาดต่ำกว่า ๗๐ ตันกรอส มีจำนวนหนาแน่นมากแล้ว จึงทำให้ มซ. ไม่ออกใบอนุญาตเพิ่ม และหันมาส่งเสริมการทำประมงนอกชายฝั่งตั้งแต่ระดับ ๓๐ ไมล์ทะเลออกไป โดยใช้เรือประมงขนาด ๗๐ ตันกรอสขึ้นไป (เรือประมง รูป ๔)
มซ. มีผลผลิตประมงทะเลประมาณ ๑.๒ ล้านตัน/ปี โดย ๗๑% มาจากการจับตามฝั่งคาบสมุทรมลายู ๑๑% จากรัฐซาราวัค ๓% จากเกาะลาบวน และอีก ๑๕% จากรัฐซาบาร์ โดยผลผลิต ๘๘% ของ ปท. มาจากการประมงชายฝั่ง ซึ่งส่วนใหญ่มาจากเครื่องมือประมงประเภทอวนลากและอวนล้อม สำหรับการประมงน้ำลึกตั้งแต่ ๓๐ ไมล์ทะเลออกไปของเรืออวนลาก อวนล้อม และเรือเบ็ดตวัด ให้ผลผลิตประมาณ ๑.๓ แสนตัน/ปี คิดเป็น ๑๑% ของผลผลิตทั้งหมด โดยสัตว์น้ำใน มซ. มีหลากหลายพันธุ์ แต่ที่ให้คุณค่าทาง ศก. มากที่สุดคือ กุ้ง
ด้านการจัดการประมง มซ. ได้แบ่งน่านน้ำออกเป็น ๔ เขต คือ ABC และ C2 โดยเขต A อยู่ระหว่าง ๐-๕ ไมล์ทะเลสงวนไว้เฉพาะการประมงพื้นบ้าน เขต B อยู่ระหว่าง ๕-๑๒ ไมล์ทะเลสงวนไว้สำหรับเรือประมงพาณิชย์ขนาดต่ำกว่า ๔๐ ตันกรอส ที่ใช้เครื่องมืออวนลากและอวนล้อม เขต C เป็นเขตตั้งแต่ ๑๒-๓๐ ไมล์ทะเลสำหรับเรือประมงพาณิชย์ขนาดต่ำกว่า ๗๐ ตันกรอส และเขต C2 คือตั้งแต่ ๓๐ ไมล์ทะเลออกไป ถือว่าเป็นการประมงน้ำลึกสำหรับเรือขนาดมากกว่า ๗๐ ตันกรอส (พื้นที่สำหรับการประมง รูป ๕)
มซ. มีการจัดการประมงที่ดี หลายคนจึงสงสัยว่า มซ. มีการบริหารจัดการอย่างไร จึงยังมีสัตว์น้ำสมบูรณ์
เรื่องเล่าด่านรันตู วันนี้ขอเสนอเรื่อง “มาตรการรักษาทรัพยากรประมง มซ.” ตามที่ นสพ. The Malaysia Now ฉบับวันที่ ๒๓ ม.ค. ๖๔ ได้รายงานเรื่อง “การฟื้นฟูประชากรปลาที่ลดลงของ มซ.”
กรมประมง มซ. เปิดเผยว่า มซ. มีนโยบายอนุรักษ์ทรัพยากรประมงที่เข้มงวด มิให้สัตว์น้ำสูญพันธุ์ อันเป็น ๑ ในภารกิจหลัก เพื่อปกป้องทรัพยากรสัตว์น้ำจากตกเป็นเหยื่อของเรือลากอวนและการทำประมงมากเกินไป
ก่อนหน้านี้ มซ. รายงานว่า ปริมาณที่มีอยู่ของปลาหน้าดิน (stock of demersal fish) ๙๖% ซึ่งเป็นปลาที่อาศัยและหาอาหารใกล้หรือบนพื้นใต้ทะเล ได้หายไปในเวลาน้อยกว่า ๖๐ ปี อันเนื่องมาจากปัญหาดังกล่าว ในขณะนี้กรมประมงกำลังดำเนินการเพื่อฟื้นฟูประชากรปลาหน้าดินในน่านน้ำของ ปท.
กรมประมง (Department of Fishery: DoF) ภายใต้การกำกับดูแลของ ก. เกษตรและ อก. อาหาร ได้ริเริ่มโครงการต่างๆ เพื่อให้มั่นใจว่า ความพยายามในการฟื้นฟูประชากรปลาที่ลดลง จะสามารถทำให้เป็นจริงได้
ขั้นตอนแรกที่สำคัญคือ เพื่อให้สามารถควบคุมจำนวนการจับปลาได้ ทาง DoF จึงได้ดำเนินมาตรการ “ระบบการออกใบอนุญาตเรือ” เนื่องจากจำนวนเรือประมงที่มีอยู่ ได้ถึงระดับที่เหมาะสมที่สุดสำหรับน่านน้ำของ ปท. จึงไม่มีการออกใบอนุญาตใหม่ให้กับเรือลำใหม่ตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๘๒ ยกเว้นเรือที่ใช้สำหรับการประมงน้ำลึก
นอกจากนี้ มีโครงการ vessel bleaching program ซึ่งจะควบคุมเรือที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะทำการประมงภายในระยะเวลาที่ใบอนุญาตมีผลบังคับใช้
กรมประมงมีบทบาทสำคัญในการควบคุมกิจกรรมการจับปลาที่ผิด กม. ที่ไม่มีรายงาน และที่ไร้การควบคุม โดยที่ผ่านมาได้เพิกถอนใบอนุญาตเรือไปแล้ว ๒,๐๗๒ ใบ ด้วยตระหนักถึงคุณค่าและเพื่อปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพในทะเลของ ปท. DoF ได้ดำเนินโครงการสร้างอุทยานทางทะเล เขตอนุรักษ์พื้นที่ จำกัดการจับปลา เป็นต้น (เรือลากอวน รูป ๖)
อนึ่ง ในรัฐเคดาห์ เปรัคและสลังงอร์ จะมีการปรับพื้นที่ประมง เพื่อให้มีพื้นที่สำหรับการฟื้นฟูพันธุ์ปลา โดยกำหนดให้สงวนพื้นที่ห่างจากชายหาดไม่เกิน ๑ ไมล์ทะเลสำหรับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและเป็นแหล่งเพาะพันธุ์หลักสำหรับลูกปลาที่จะเติบโต ส่วนพื้นที่จับปลาที่เรียกว่า เขตอวนลาก ได้เปลี่ยนจาก ๕ ไมล์ทะเลเป็น ๘ ไมล์ทะเลขึ้นไป โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยให้ปริมาณปลาหน้าดินได้ฟื้นตัว
ทั้งนี้ DoF ทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ เช่น ตำรวจทะเล กองทัพเรือและหน่วยงานบังคับใช้ทางทะเลของ มซ. (APMM) เพื่อติดตามและป้องกันการกระทำผิดที่อาจส่งผลกระทบต่อทรัพยากรประมงของ ปท.
นอกจากนี้ DoF ได้พัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยมีกลยุทธ์ที่สำคัญ ได้แก่ การมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาและการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่และที่มีอยู่ ได้แก่ aquaculture smart farming ผ่านการใช้อินเทอร์เน็ตหรือ loT (Internet of Things) ในระบบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มผลผลิต ประหยัดกำลังคน อำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานในฟาร์มแบบกระชัง และ DoF ต้องตรวจสอบให้มั่นใจว่า บ. ที่ได้รับใบอนุญาต รวมถึงสามารถจัดการกับผู้ประกอบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ไม่มีใบอนุญาตหรือละเมิดเงื่อนไขของใบอนุญาต
ในอนาคตการติดตั้งอุปกรณ์ติดตาม เช่น Automatic Monitoring System (AIS) และ "Mobile Transceiver Unit" (MTU) จะบังคับใช้กับเรือประมงทั้งหมดตามโซนที่กำหนด
DoF ตั้งเป้าหมายในการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการประมงและให้ทรัพยากรประมงของ ปท. มีความยั่งยืนต่อไป จึงดำเนินโครงการสร้างความทันสมัยและกลไกการตรวจจับ (Vessel Modernization and Catching Mechanization Program) ซึ่งได้รับการจัดสรรงบ ๑๕๐ ล้านริงกิต โดยจะเพิ่มการควบคุมการจับปลามากเกินไปและเพิ่มเวลากลางวันในหมู่ชาวประมงท้องถิ่น (ประมงพื้นบ้าน รูป ๗)
นอกจากนี้ ยังดำเนินมาตรการต่างๆ เช่น โครงการฟื้นฟูทรัพยากรและการเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำที่มีอยู่ผ่านการปรับปรุงที่อยู่อาศัย การสร้างพื้นที่สำหรับการเพาะพันธุ์ปลา การสร้างแนวปะการังเทียม การปล่อยลูกสัตว์น้ำลงในน่านน้ำเปิด เป็นต้น
นี่คือ เรื่องราวของการบริหารจัดการประมงของ มซ. ด้วยมาตรการเชิงอนุรักษ์ โดย มซ. คาดว่า จะช่วยสร้างหลักประกันเรื่องสัตว์น้ำและทรัพยากรทางทะเลจะไม่ถูกเรือประมงจับจน “หมดสต็อก” ตามที่วิตกกังวลกัน

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ