วันที่นำเข้าข้อมูล 28 ม.ค. 2564
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 23 พ.ย. 2565
เช้านี้ มีผู้ลงทะเบียนกลับไทยวันที่ ๒๗ ม.ค. ๖๔ จำนวน ๙ คน
วันที่ ๒๖ ม.ค. มียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ ๓,๕๘๕ คน โดยอยู่ในรัฐกลันตัน ๗๖ คน รัฐตรังกานู ๗๖ คน มีผู้ติดเชื้อสะสม ๑๙๐,๔๓๔ คน และผู้เสียชีวิตสะสม ๗๐๐ คน (เพิ่มขึ้น ๑๑ คน) (สถิติข้อมูลการระบาดโควิด รูป ๑)
ในห้วงที่ฝนทิ้งช่วงนี้ ดูเหมือนเสียงลมมรสุมค่อยเลือนหายไป แต่ “มรสุมโควิด” ยังคงถาโถมไม่เพลามือ โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่มีการล็อกดาวน์ด้วยมาตรการควบคุมการสัญจร MCO ซึ่งถูกนำกลับมาใช้ทั่ว ปท. อีกครั้ง จึงเกิดโครงการอุดหนุนค่าจ้าง (Wage Subsidy Programme) เป็นรอบที่ ๓ ในภาษามาเลย์จึงมีฉายานามว่า “Program Subsidi Upah (PSU 3.0)” ซึ่งดูจะมีส่วนช่วยต่อลมหายใจหรือประคองธุรกิจฝ่าวิกฤตโควิด
ขอท้าวความเดิมเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว โดย PSU 1.0 ถือกำเนิดเมื่อ รบ. มซ. ประกาศเป็นมาตรการช่วย เหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก MCO ภายใต้แพ็คเกจกระตุ้น ศก. ที่เรียกว่า Prihatin (แปลว่า ห่วงใย) มูลค่า ๒.๕ แสนล้านริงกิต เมื่อ ๒๗ มี.ค. ๖๓
ตามด้วย PSU 2.0 ภายใต้แพ็คเกจฟื้นฟู ศก. Penjana (แปลว่า สร้าง) มูลค่า ๓.๕ หมื่นล้านริงกิต เมื่อ ๕ มิ.ย. ๖๓ และ PSU 3.0 ภายใต้แพ็คเกจฟื้นฟู ศก. Permai (แปลว่า สวยงาม) มูลค่า ๑.๕ หมื่นล้านริงกิต เมื่อ ๑๘ ม.ค. ที่ผ่านมา
เรื่องเล่าด่านรันตูวันนี้ ขอเสนอเรื่อง “โครงการอุดหนุนค่าจ้าง ๓.๐ (ภาค ๓) ของ มซ.” ตามที่ นสพ. The New Straits Times ฉบับวันที่ ๑๘ ม.ค. ๒๐๒๑ ได้รายงานข่าวเรื่อง “การปรับปรุงโครงการเงินอุดหนุน ๓.๐ ภายใต้แพ็กเกจกระตุ้น ศก. Permai” (นรม.มซ. แถลง รูป ๒)
เมื่อค่ำวันที่ ๑๘ ม.ค. ในการปราศรัยพิเศษออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ นรม. มูห์ยิดดิน ได้แถลงว่า โครงการเงินอุดหนุนค่าจ้าง ๓.๐ ภายใต้องค์การประกันสังคม (Social Security Organisation : Socso) จะมีการยกระดับให้สูงขึ้น โดยเป็นส่วนหนึ่งของแพ็คเกจฟื้นฟู ศก. (Permai Assistance Package : Permai) ซึ่งจะเปิดให้กับนายจ้างทุกรายที่ดำเนินธุรกิจอยู่ในรัฐที่ตกอยู่ภายใต้มาตรการบังคับใช้ MCO โดยไม่จำกัดภาคส่วน เป็นระยะเวลา ๑ เดือน (เงินอุดหนุนค่าจ้าง รูป ๓)
โดยนายจ้างที่มีสิทธิ์ จะได้รับเงินช่วยเหลือค่าจ้าง ๖๐๐ ริงกิตให้กับพนักงานแต่ละคนที่มีรายได้น้อยกว่า ๔,๐๐๐ ริงกิต นอกจากนี้ วงเงินอุดหนุนค่าจ้างให้กับ พนง. ที่เคยจำกัดไว้ที่จำนวน ๒๐๐ คนสำหรับนายจ้างแต่ละราย ก็จะได้เพิ่มขึ้นเป็น ๕๐๐ คนต่อนายจ้างหนึ่งราย ทั้งนี้ นรม. มซ. กล่าวว่า ได้จัดสรรงบสำหรับโครงการ PSU 3.0 จำนวน ๑ พันล้านริงกิต ซึ่งคาดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อ บ. จำนวน ๒.๕ แสนรายที่จ้างคนงานมากกว่า ๒.๖ ล้านคน (ลูกค้าถอนเงินธนาคาร รูป ๔)
รบ. ได้ตกลงที่จะผ่อนคลายเงื่อนไขการจ่ายเงินสมทบในระบบประกันการจ้างงาน (Employment Insurance System : EIS) ภายใต้โครงการ Prihatin ซึ่งจะช่วยผู้ตกงานจากการถูกเลิกจ้างในช่วงมาตรการ MCO สำหรับพนักงานที่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขการจ่ายเงินสมทบขั้นต่ำหรือไม่มีการขยายสัญญาหลังจากได้รับการต่ออายุอย่างน้อย ๓ ครั้งก่อนหน้านี้ ก็มีสิทธิ์ยื่นขอความช่วยเหลือ ๓๐% ของเงินเดือนเป็นระยะเวลา ๓ เดือน (PSU 3.0 ๑ พันล้านริงกิต รูป ๕)
นอกจากนี้ รบ. ยังได้จัดสรรเงินจำนวน ๒๔ ล้านริงกิต เป็นเงินสนับสนุนเต็มจำนวนให้แก่กองทุน ภายใต้โครงการประกันสังคมการจ้างงานตนเองของ Socso เพื่อให้กับผู้มีอาชีพส่งของ ซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของการบริการจัดส่งสินค้าและอาหารในช่วง MCO ปัจจุบัน มี พนง. ขับรถส่งของเกือบ ๓.๒ หมื่นคน ได้ยื่นขอรับความช่วยเหลือภายใต้โครงการนี้แล้ว (ผ่อนผันจ่ายเงินสมทบประกัน รูป ๖)
ขณะเดียวกัน นรม. มซ. กล่าวว่า รบ. จะขยายความช่วยเหลือพิเศษ Prihatin Special Grant Plus ให้ครอบคลุมผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs ที่อยู่ภายใต้มาตรการ MCO โดยจ่ายเงินให้รายละ ๑,๐๐๐ ริงกิต โดยการขยายเงินช่วยเหลือพิเศษเพิ่มเติมนี้ จะมาจากงบจัดสรรเพิ่มเติมจำนวน ๖๕๐ ล้านริงกิต
"เพื่อช่วยการหมุนเวียนเงินสด (cash flow) ให้กับธุรกิจขนาดเล็ก (micro) และธุรกิจ SMEs รบ. มซ. จะเร่งดำเนินการตามแผนการสินเชื่อขนาดเล็ก (micro-credit schemes) โดยใช้วงเงินสินเชื่อขนาดเล็ก (micro-credit) ๑,๐๐๐ ล้านริงกิต รวมถึงสินเชื่อแบบ soft loan ของ Bank Simpanan Nasional จำนวน ๓๙๐ ล้านริงกิต ของ Agrobank จำนวน ๓๕๐ ล้านริงกิต และของ National Entrepreneurial Group Economic Fund (Tekun) อีก ๒๙๕ ล้านริงกิต" (ช่วยเหลือ พนง.ส่งของ รูป ๗)
นี่คือ รายงานเกี่ยวกับโครงการเงินอุดหนุนค่าจ้าง ๓.๐ ที่นายจ้างสามารถยื่นขอรับความช่วยเหลือ เพื่อต่อลมหายใจหรือประคองธุรกิจให้รอดพ้นช่วง “มรสุมโควิด” ซึ่งในครานี้กลับถาโถมกำลัง และดูยังไม่อ่อนแรงแต่อย่างใด
รูปภาพประกอบ