เรื่องเล่าด่านรันตู ประจำวันที่ 28 มกราคม 2564

เรื่องเล่าด่านรันตู ประจำวันที่ 28 มกราคม 2564

วันที่นำเข้าข้อมูล 1 ก.พ. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 292 view

เช้านี้ ไม่มีผู้ลงทะเบียนกลับไทยวันที่ ๒๘ ม.ค. ๖๔
วันที่ ๒๗ ม.ค. มียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ ๓,๖๘๐ คน โดยอยู่ในรัฐกลันตัน ๖๐ คน รัฐตรังกานู ๖๘ คน มีผู้ติดเชื้อสะสม ๑๙๔,๑๑๔ คน และผู้เสียชีวิตสะสม ๗๐๗ คน (เพิ่มขึ้น ๗ คน) (สถิติข้อมูลการระบาดโควิด รูป ๑)
ปัญหาการป้องกันการระบาดโควิดในในเรือนจำต่างๆ กลายเป็นประเด็นเร่งด่วนที่ รบ. มซ. ต้องเร่งหาทางแก้ไข โดยมีกลุ่ม สส. ได้เสนอให้ปล่อยตัวนักโทษก่อนครบกำหนดวาระโทษ ซึ่งสามารถทำได้ตาม กม. (มูห์ยิดดินสมัยเป็น มท. เยี่ยมกรมเรือนจำ เมื่อ ๒๒ เม.ย.๒๐๑๙ รูป ๒)
เรื่องเล่าด่านรันตูวันนี้ ขอเสนอเรื่อง “มซ. พิจารณาปล่อยตัวนักโทษก่อนครบโทษ” ตามที่ นสพ. The Star ฉบับวันที่ ๒๖ ม.ค. ๒๐๒๑ ได้พาดหัวข่าวเรื่อง “นักโทษ ๑๑,๐๐๐ คนอาจได้รับการปล่อยตัวก่อนกำหนด”
เพื่อเป็นการปฏิรูปสถานกักกัน กลุ่ม สส. จากทุกพรรค (All-Party Parliamentary Group Malaysia: APPGM) ได้ร่วมกันเรียกร้องว่า ผู้กระทำความผิดเล็กน้อยที่ไม่ใช้ความรุนแรง ที่ถูกตัดสินจำคุกน้อยกว่า ๑ ปี ประมาณ ๑๑,๐๐๐ คน ควรได้รับการปล่อยตัว เพื่อลดความแออัดในเรือนจำและเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด–๑๙
กลุ่ม APPGM กล่าวว่า กรมเรือนจำ (Prison Department) ได้ระบุตัวนักโทษสำหรับโครงการ Release on License (ROL) แล้ว และให้ความเห็นว่า “การจัดการปล่อยตัวจากเรือนจำและสถานกักกันก่อนกำหนดหรือแบบมีเงื่อนไข” นั้น มีอยู่แล้วในตัวบท กม. มซ. และไม่จำเป็นต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อนำไปใช้ในทันที
“ได้มีการยืนยันตัวนักโทษจำนวน ๑๑,๐๑๘ คนที่จะได้รับการปล่อยก่อน โดยพิจารณาควบคู่ไปกับมาตรการการกลับสู่ชุมชน เพื่อให้มั่นใจว่ามีการเชื่อมโยงและการสนับสนุนที่เพียงพอในการดูแลอย่างต่อเนื่อง” APPGM กล่าวในแถลงการณ์
คำแถลงดังกล่าวได้รับการรับรองโดย Azalina Othman Said รองโฆษกสภา, สส. Rohani Abdul Karim พรรค PBB เขต Batang Lupar, สส. Nurul Izzah Anwar พรรค PH เขต Permatang Pauh, สส. Mohd Azis Jamman พรรค Warisan เขต Sepanggar, สว. Vell Paari, สว. Liew Chin Tong, ศ. Dr Adeeba Kamarulzaman จาก Universiti Malaya และที่ปรึกษากม./ทนาย Sangeet Kaur Deo (เรือนจำภายใต้ MCO รูป ๓)
หน. เลขาธิการของ รบ. Mohd Zuki Ali เคยกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า การแออัดในเรือนจำซึ่งสามารถเพิ่มการติดเชื้อ Covid-19 อาจสามารถยับยั้งได้ด้วย กม. พิเศษ ภายใต้การประกาศภาะฉุกเฉิน
เขาตั้งข้อสังเกตว่า การพิจารณาความปลอดภัยกลุ่มคลัสเตอร์ภายใต้ คกก. เทคนิคด้านการจัดการภาวะฉุกเฉิน ยังสามารถแนะนำการใช้อาคารใดก็ได้เป็นศูนย์กักกันชั่วคราว (temporary depot) โดย รบ. สามารถย้ายผู้ต้องขังไปยังศูนย์กักกันชั่วคราว เพื่อลดจำนวนผู้ถูกคุมขังและเป็นการปฏิบัติตาม SOP
อย่างไรก็ตาม ในการสะท้อนความกังวลของ Mohd Zuki เกี่ยวกับความแออัดในเรือนจำ APPGM ได้ตั้งข้อสังเกตว่า การตั้งศูนย์กักกันชั่วคราวมากขึ้นอาจทำให้ปัญหากลับแย่ลง โดยมาตรการดังกล่าวอาจกลายเป็น "ฝันร้ายในการจัดการด้านทรัพยากรและโลจิสติกส์" เนื่องจากผู้ที่ถูกย้ายไปยังสถานที่แห่งใหม่จะต้องได้รับการคัดกรองและกักตัว ก่อนที่จะได้รับอนุญาตให้มีปฏิสัมพันธ์กับนักโทษจากเรือนจำอื่นๆ ได้
ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น การเพิ่มสถานที่กักขังเพิ่มเติม ทำให้ต้องแจกจ่ายสิ่งของที่มีอยู่อย่างจำกัด เช่น อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลขั้นพื้นฐาน (PPE) เจลล้างมือ สบู่ และยาสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการมาก่อนให้เบาบางลง พร้อมกับบุคลากรที่จำกัด (เช่น จนท. สธ. ที่ผ่านการฝึกอบรม) จึงเป็นการเพิ่มภาระให้กับระบบ สธ. ที่อยู่ในสถานการณ์ย่ำแย่อยู่แล้ว (การตรวจโควิดที่เรือนจำ Pengkalan Chepa รูป ๔)
ดังนั้น การสร้างเรือนจำและสถานกักขังชั่วคราวให้มากขึ้น อาจก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด -๑๙ มากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องควบคุมด้วยเช่นกัน ” APPGM กล่าว
APPGM กล่าวว่า ทางกลุ่มเองก็เข้าใจถึงความจำเป็นที่ต้องปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้ปฏิบัติตามมาตรการ MCO แต่ก็เรียกร้องให้ รบ. พิจารณาข้อเสนอแนะที่จะให้เพิ่มโทษผู้ที่ฝ่าฝืน SOP รับโทษถูกกักตัวนานขึ้นด้วย
การดำเนินการตามแนวทางนี้ มีแต่ซ้ำเติมปัญหาความแออัดในเรือนจำและยังส่งผลให้เกิดปัญหาข้อจำกัดในการปล่อยตัวนักโทษที่มีคุณสมบัติเหมาะสมสำหรับ ROL นอกจากนี้ ได้เรียกร้องให้ รบ. เพิ่มบทลงโทษกับผู้ละเมิด MCO โดยเพิ่มค่าปรับและบังคับให้ทำงานบริการสาธารณะของชุมชนด้วย
APPGM กล่าวเสริมว่า “มซ. กำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดโควิด ดังนั้นจึงควรดำเนินการตามหลักฐานที่เห็นชัดเจน หรือจะเสี่ยงต่อการสูญเสียเงินหลายพันล้านริงกิตที่ลงทุนไปกับการกักตัวและบรรเทาผลกระทบภายในชุมชน มซ. โดยรวม”
สถิติของ ตม. และกรมเรือนจำ มซ. ณ วันที่ ๒๗ ม.ค. ๖๔ มีคนไทยติดในเรือนจำ ๕๕๐ คน และในสถานกักกัน ๓๑๕ คน (รวมทั้งส่วนที่พ้นโทษแล้วรอส่งกลับ กับกลุ่มที่เพิ่งโดนจับและรอขึ้นศาล) (เรือนจำ Pengkalan Chepa รูป ๕)
คราใดที่ สกญ. ณ เมืองโกตาบารู ได้ไปเยี่ยมนักโทษไทยที่เรือนจำ “เปิงกาลัน เจปา” ในรัฐกลันตัน (ซึ่งมีทั้งนักโทษ มซ. และต่างชาติรวมกว่า ๓ พันคน) ก็รู้สึกหดหู่ใจไม่น้อย เนื่องจากนักโทษไทย ๘๐% เป็นคน จชต. โดยอยู่ใน จ. นราธิวาสมากสุด ส่วนใหญ่ติดคุกต้องโทษด้วยคดีลักลอบเข้าเมืองอย่างผิด กม. และเสพยาเสพติด (ถูกจับตรวจปัสสาวะว่ามีสีม่วง) ซึ่งความผิดทั้ง ๒ คดีคิดเป็นสัดส่วนถึง ๘๐% และนักโทษส่วนใหญ่เป็นวัยหนุ่มสาวที่ยังอยู่ในวัยแรงงาน ทั้งที่ควรเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาบ้านเมือง
นี่เป็นรายงานความเคลื่อนไหวด้านยุติธรรม มซ. ที่จะให้มีการปล่อยตัวนักโทษก่อนกำหนด เพื่อป้องกันการระบาดโควิดในเรือนจำ แม้จะมีปัญหาในการตั้งสถานกักกันชั่วคราว หาก มซ. ดำเนินโครงการดังกล่าวไปด้วยดี จะส่งผลต่อนักโทษไทยที่อยู่ในระหว่างรับโทษใน มซ.ด้วยหรือไม่ คงต้องติดตามกันต่อไป

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ