เรื่องเล่าด่านรันตู ประจำวันที่ 8 มกราคม 2564

เรื่องเล่าด่านรันตู ประจำวันที่ 8 มกราคม 2564

วันที่นำเข้าข้อมูล 10 ม.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 280 view

เช้านี้ มีผู้ลงทะเบียนกลับไทยวันที่ ๘ ม.ค. ๖๔ จำนวน ๘ คน
วันที่ ๗ ม.ค. มีสถิติสูงกว่าเมื่อวาน โดยมียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ ๓,๐๒๗ คน (สูงที่สุดนับตั้งแต่มีการรายงาน) โดยอยู่ในรัฐกลันตัน ๖๖ คน รัฐตรังกานู ๑๐ คน และมีผู้ติดเชื้อสะสม ๑๒๘,๔๖๕ คน ผู้เสียชีวิตสะสม ๕๒๑ คน (เพิ่มขึ้น ๘ คน) (สถิติข้อมูลการระบาดโควิด รูป ๑)
บทความเมื่อวาน ยังดำเนินไม่ถึงบทสรุปเรื่อง การจัดการป่าชายเลน จึงต้องมีตอน ๒ ที่จะชี้ให้เห็นถึง การจัดการป่าชายเลนอย่างยั่งยืนของ มซ. โดยจับเฉพาะประเด็นเรื่องการทำ “ถ่าน” จากไม้โกงกาง
เรื่องเล่าด่านรันตู วันนี้ขอเสนอเรื่อง “คนเอาถ่าน” กับการจัดการป่าชายเลน (คนเอาถ่าน รูป ๒)
จากป่าชายเลนทั่ว ปท. ของ มซ. พบว่า ป่าชายเลนลารุท–มาตัง (Larut Matang) ทางชายฝั่งตะวันตกของคาบสมุทรมลายู ซึ่งได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางว่า เป็นป่าชายเลนที่มีการจัดการที่ดีที่สุดในโลก ได้รับการใช้ประโยชน์จากไม้อย่างยั่งยืนมาตั้งแต่ปี ๑๙๒๐ รายได้รวมต่อปีจากไม้อยู่ที่ประมาณ ๖ ล้านเหรียญสหรัฐ และประมาณ ๔.๕ แสนเหรียญสหรัฐจะเข้ารัฐเป็นค่าภาคหลวงและภาษีอื่นๆ
พื้นที่นี้ได้รับการจัดสรรให้ประชาชนเข้าจับจองตั้งแต่ปี ๑๙๐๒ และไม่ถึงปี ๑๙๐๖ ป่าชายเลน Matang ทั้งหมดก็ได้รับการสำรวจครอบคลุมพื้นที่ ๔ หมื่นเฮกเตอร์ ป่าไม้แห่งนี้เป็นพื้นที่สงวนของรัฐ สร้างขึ้นโดยประกาศราชกิจจานุเบกษาภายใต้ พรบ. ป่าไม้แห่งชาติ ๑๙๘๔ ป่าชายเลน Matang ได้รับการจัดการโดยกรมป่าไม้แห่งรัฐเปรัก ขณะที่ สนง. ป่าไม้เขตลารุท-มาตังเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงในการดำเนินการ และการติดตามแผนงาน (ถ่านไม้โกงกางให้ไฟแรง รูป ๓)
กรมป่าไม้ของคาบสมุทรมลายูกํากับดูแลทั่วไป กำหนดแนวทางนโยบายในการจัดการรอนุรักษ์ และการเก็บรักษาเงินสํารอง ขณะที่ป่าชายเลน Matang มีประวัติการจัดการเกือบศตวรรษ ที่ได้รับการบันทึกไว้อย่างดีผ่านแผนการทํางานจํานวนมากและการเตรียมพร้อมอย่างแข็งขัน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อชุมชน
แผนการทำงานป่าชายเลน Matang มักถูกใช้อ้างอิงในการจัดการ ทั้งการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง และการอนุรักษ์ป่าชายเลน แผนดังกล่าวกำหนดรอบวัฎจักร ๓๐ ปีของวงจรการการปลูกไม้โกงกาง (สายพันธุ์ที่เลือก) การฟื้นฟูตามธรรมชาติ รวมทั้งการพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางในการทำถ่าน เสาและฟืน
อุทยานแห่งชาติรับผิดชอบในการอนุรักษ์ป่าชายเลน ด้วยแผนการจัดการป่าชายเลนที่ยั่งยืน เพื่อสร้างความมั่นใจได้ถึงการรักษาความสมบูรณ์ของป่าชายเลน ตามสถิติของปี ๑๙๙๓ มีพื้นที่ ๕,๖๗๐ แห่งที่ได้รับการประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์ป่าชายเลนใน มซ. ได้แก่
๑) Kuala Selangor Nature Park (ประมาณ ๓๒๐ เฮกเตอร์) เป็นพื้นที่ป่าชายเลนที่ได้รับการคุ้มครองที่ใหญ่ที่สุดในคาบสมุทรมลายู องค์กรที่ไม่ใช่ภาครัฐได้พยายามอย่างน่ายกย่องและประสบความสำเร็จอย่างมากในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับสถานศึกษา (เตาเผาถ่าน รูป ๔)
๒. ป่าชายเลนกัวลากูลาในรัฐเปรัก เป็นแหล่งทำรังของนกที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งในป่าโกงกางของ มซ. ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของป่าสงวนมาตังด้วย
ใน มซ. มีแนวทางการใช้ระบบนิเวศป่าชายเลนสำหรับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในน้ำกร่อย ซึ่งได้รับการกำหนดโดยคทง. เพื่อป่าชายเลนแห่งชาติ มซ. (NATMANCOM) ที่เป็น คกก. ที่จัดตั้งขึ้นภายใต้การอุปถัมภ์ของสภาวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์แห่งชาติ และ ก.วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม (ปลาตีน รูป ๕)
พื้นที่ป่าโกงกางมีเนื้อที่ ๔ หมื่นเฮกเตอร์ ทางการ มซ. จะอนุญาตให้ตัดเฉพาะไม้โกงกางแดงที่มีอายุ ๓๐ ปี โดยตัดได้ปีละ ๑ พันเฮกเตอร์ แล้วต้องมีการปลูกทดแทนหมุนเวียนกัน ซึ่งจะเป็นหลักประกันว่า การตัดไม้จะไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ป่าโกงกางแต่อย่างใด (การปลูกป่าโกงกาง รูป ๖)
ไม้โกงกางที่ตัดได้จะนำมาเผาไล่ความชื้นในเนื้อไม้เพื่อทำให้เป็นถ่าน ในการเผาแต่ละครั้งจะใช้ไม้โกงกางประมาณ ๕๐ ตันต่อ ๑ เตาเผา โดยเผารอบแรกใช้ไฟแรงที่อุณหภูมิ ๘๕°C เป็นเวลา ๑๐-๑๒ วัน แล้วเผารอบสองด้วยการลดขนาดพื้นที่ และเพิ่มความร้อนถึง ๒๓๐-๒๕๐°C เป็นเวลา ๒ สัปดาห์ จากนั้นทิ้งไว้ให้เย็นอีก ๘ วัน รวมระยะเวลาที่ใช้ ๓๒ วันในหนึ่งเตาเผา ก็จะได้ถ่าน ๑๐ ตัน (นกกระยางหาเหยื่อ รูป ๗)
โรงทำถ่านส่วนใหญ่มักตั้งใกล้แหล่งป่าโกงกาง ซึ่งห่างไกลจากตัวเมือง ขณะเผาถ่าน จะมีควันก็แต่ภายในตัวโรงเผา การเผาถ่านใช้ไม้ยางเป็นฟืน โดยเติมฟืนเผา ๒๔ ชม. ซึ่งเมื่อตรวจค่าฝุ่น PM 2.5 ก็ไม่สูงถึงขั้นเป็นอันตราย ถ่านที่มีคุณภาพดีแทบจะไม่มีควัน เนื่องจากมีความชื้นในเนื้อถ่านน้อยมาก จึงให้ความร้อนสูง และติดไฟได้นาน ๓-๕ ชม. ซึ่งส่งออกตลาดญี่ปุ่น
ผลิตภัณฑ์เสริมจากการเผาถ่าน ได้แก่ น้ำส้มควันไม้ (vinegar) สบู่ แชมพู ยากันยุง ยาสมานแผล ยาดับกลิ่น (มีคุณสมบัติฆ่าเชื้อจุลิทรีย์) ยาลบรอยฝ้า ซึ่งเป็นสินค้ามูลค่าเพิ่มที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการเผาถ่านได้อย่างดี
หากมองผ่านธุรกิจของ “คนเอาถ่าน” จะเห็นว่า ด้วยการจัดการป่าอย่างยั่งยืน จะช่วยรักษาป่าชายเลน ซึ่งทำรายได้ “เป็นกอบเป็นกำ” พัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนแล้ว ยังเป็นขุมทรัพย์ที่ไม่มีวัน “บุบสลาย” ได้ตลอดไป

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ