เรื่องเล่าด่านรันตู ประจำวันที่ 7 มกราคม 2564

เรื่องเล่าด่านรันตู ประจำวันที่ 7 มกราคม 2564

วันที่นำเข้าข้อมูล 10 ม.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 27 พ.ย. 2565

| 172 view

เช้านี้ ไม่มีผู้ลงทะเบียนกลับไทยวันที่ ๗ ม.ค. ๖๔
วันที่ ๖ ม.ค. มีสถิติสูงกว่าเมื่อวาน โดยมียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ ๒,๕๙๓ คน อยู่ในรัฐกลันตัน ๔๓ คน รัฐตรังกานู ๑๙ คน และมีผู้ติดเชื้อสะสม ๑๒๕,๔๓๘ คน ผู้เสียชีวิตสะสม ๕๑๓ คน (เพิ่มขึ้น ๔ คน) (สถิติข้อมูลการระบาดโควิด รูป ๑)
หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไม มซ. จึงมีสัตว์น้ำสมบูรณ์ในทะเล ซึ่งเคล็ดลับก็คือ การมีป่าชายเลนที่สมบูรณ์
เรื่องเล่าด่านรันตู วันนี้ขอเสนอเรื่อง “ป่าชายเลน : ขุมทรัพย์ในทะเล” โดยจะพาท่านผู้อ่านไปเยือนป่าชายเลน มซ. แบบเสมือนจริง (virtual tour) (ล่องป่าโกงกาง รูป ๒)
พื้นที่ป่าชายเลนของ มซ.
ชายฝั่งของ มซ. ยาวประมาณ ๔,๘๑๐ กม. จะกระจายไปตามชายฝั่งของคาบสมุทรมลายู ทางชายฝั่งตะวันตก (๑,๑๑๐ กม.) และชายฝั่งตะวันออก (๘๖๐ กม.) ในรัฐซาบาห์ (๑,๘๐๐ กม.) และรัฐซาราวัก (๑,๐๔๐ กม.) มซ. มีผืนดินประมาณ ๓๒๙,๗๕๘ ตร.กม. มีน่านน้ำประมาณ ๑๕๐,๐๐๐ ตร.กม. และมีเขต ศก. พิเศษ ๔๕๐,๐๐๐ ตร.กม. ป่าชายเลนใน มซ. ส่วนใหญ่เกิดขึ้นตามชายฝั่งตะวันตกของคาบสมุทรมลายู และในรัฐซาราวักตรงบริเวณปากแม่น้ำซาราวัก Rejang และ Trusan-Lawas และตามชายฝั่งตะวันออกของรัฐซาบาห์
ป่าชายเลนมีเนื้อที่น้อยกว่า ๒% ของพื้นที่ผืนดินใน มซ. คิดเป็น ๖๔๑,๘๘๖ เฮกเตอร์ อยู่ในซาบาห์ ๕๗% ในซาราวัก ๒๖% และที่เหลืออีก ๑๗% ในคาบสมุทรมลายู โดยพื้นที่ ๔๔๑,๐๙๒ เฮกเตอร์หรือ ๖๙% ของป่าชายเลนถูกจัดสรรให้เป็นพื้นที่ป่าสงวน ปัจจุบันมีพื้นที่สงวนป่าชายเลนทั่ว ปท. รวม ๑๑๒ แห่ง พื้นที่สงวนเหล่านี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของเขตป่าสงวนถาวร (Permanent Forest Reserve : PFE) ของ มซ.
ในคาบสมุทรมลายู ป่าชายเลนมีพื้นที่ ๑๐๖,๕๔๔ เฮกเตอร์ โดย ๘๘,๖๖๗ เฮกเตอร์ (๘๓.๒%) ถูกประกาศเป็นป่า PFE ขณะที่อีก ๑๗,๘๖๗ เฮกเตอร์ (๑๖.๘๕ %) เป็น Stateland Forests คิดเป็นพื้นที่สงวนป่าชายเลน ๗๔ แห่ง โดย ๕๔ แห่งบนชายฝั่งตะวันตก ๑๓ แห่งบนชายฝั่งตะวันออก และอีก ๗ แห่งบนช่องแคบยะโฮร์ (แผนที่ของป่าชายเลน รูป ๓)
ส่วนในซาบาห์ มีป่าชายเลนคิดเป็น ๗๓% ของแนวชายฝั่ง ๑,๘๐๐ กม. ส่วนใหญ่พบทั้งตามชายฝั่งตะวันออกและตะวันตก รวมทั้งปากแม่น้ำ Klias และ Padas ป่าชายเลนในซาบาห์ครอบคลุมพื้นที่มากกว่าในรัฐอื่นๆ ของ มซ. โดยมีเนื้อที่ ๓๖๘,๐๐๐ เฮกเตอร์หรือ ๕๗% ของพื้นที่ทั้งหมดของ ปท. แบ่งเป็นป่า PFE ๘๖% และ Stateland Forests ๑๔%
บทบาทและศักยภาพของป่าชายเลนในระบบ ศก. ของ มซ.
คุณค่าของป่าชายเลนมีมากมายและมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อ ศก. ทางสังคมของ ปท. อย่างไรก็ตามค่านิยมเหล่านี้บางส่วนไม่มีตัวตนและไม่ค่อยได้รับการชื่นชมจากคนส่วนใหญ่โดยเฉพาะคนเมือง ความสำคัญของทรัพยากรเหล่านี้ได้จากผลผลิตโดยตรงที่นำมาจากป่าชายเลน ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกที่ถูกจัดหามาจากทรัพยากรทั้งจากภายในและนอกเขตป่าชายเลน
ผลิตภัณฑ์ที่นำมาจากป่าชายเลนส่วนใหญ่เป็นไม้สำหรับทำถ่าน เสา และฟืน ไม้ป่าชายเลนจึงมีคุณค่าทาง ศก. สูง ใบของต้นปาล์มนิปาห์ (Nypa fruticans) ใช้สำหรับมุงหลังคาและห่อมวนบุหรี่ น้ำตาลปาล์มนิปาห์ใช้สกัดเป็นแอลกอฮอล์ ในซาบาห์และซาราวัก ไม้โกงกางเป็นแหล่งที่สำคัญของเศษไม้ที่ใช้ในการผลิตเส้นใยเรยอน
บทบาทของป่าชายเลนในฐานะแหล่งประมง
ระบบนิเวศป่าชายเลนมีความสำคัญต่อ อก. ประมงชายฝั่งของ มซ. ซึ่งสัตว์น้ำต่างๆ ได้แก่ กุ้งหลายชนิด ปูโคลนที่กินได้ (Scylla serrata) และหอยกาบเดี่ยว (Cerithidea spp.) พบได้ทั่วไปในป่าโกงกาง ขณะที่หอยแครง (Anadara granosa) มีมากในดินโคลน ถือเป็นแหล่งอาหารเชิงพาณิชย์ที่สำคัญ มีการประมาณว่า อก. ประมงจากป่าชายเลนในคาบสมุทรมลายูสร้างรายได้ ๖๕๐ ล้านริงกิต/ปี เมื่อรวมพื้นที่ชุ่มน้ำ (ป่าชายเลนและป่าพรุ) ของ มซ. จะสร้างรายได้ทาง ศก. ทั้งทางตรงและทางอ้อมมากกว่า ๕,๐๐๐ ล้านริงกิต/ปี
ป่าชายเลนทำหน้าที่เป็นกำแพงกันน้ำทะเลจากการกัดเซาะชายฝั่งและช่วยรักษาแนวชายฝั่ง ผลิตออกซิเจน จึงช่วยรักษาอุณหภูมิโลก เป็นแหล่งวางไข่และอนุบาลกุ้งและปลาทะเลหลายชนิด แร่ธาตุและสารอาหารที่เกิดจากกระแสน้ำขึ้นน้ำลง (tiding) เป็นแหล่งอาหารสำหรับสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กในทะเล ซึ่งจะช่วยให้บริเวณปากแม่น้ำและพื้นที่ชายฝั่งทะเลมีความอุดมสมบูรณ์สำหรับการทำประมงชายฝั่ง (ฝูงปลาในป่าโกงกาง รูป ๔)
จะพบว่า ทางชายฝั่งตะวันตกของคาบสมุทรเป็นป่าชายเลนส่วนใหญ่ สามารถจับกุ้งได้ตลอดทั้งปี แต่ทางชายฝั่งตะวันออกของคาบสมุทรมีป่าชายเลนน้อย จึงจับกุ้งได้เฉพาะเดือน พ.ย. ถึง มี.ค. (เต่าทะเล รูป ๕)
การเพาะเลี้ยงหอยแครงตามดินโคลนป่าชายเลนในคาบสมุทรมลายูเป็นการเพาะเลี้ยงในน้ำกร่อยที่สำคัญ ในพื้นที่ ๔,๗๐๐ เฮกเตอร์ ซึ่งใช้เพาะเลี้ยงหอยแครงตามป่าชายเลนชายฝั่งตะวันตก นอกรัฐปีนัง เปรักและสลังงอร์
ใน มซ. มีพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกร่อยน้อยกว่า ๑% ของพื้นที่ป่าชายเลนทั้งหมด สัตว์น้ำที่เพาะเลี้ยง ได้แก่ หอยนางรม กุ้งกุลาดำ หอยแมลงภู่ สาหร่ายทะเล การเลี้ยงปลากระชัง ซึ่งสร้างมูลค่ามหาศาลในแต่ละปี (ฝูงนกกระยาง รูป ๖)
การป้องกันและการพัฒนาพื้นที่ป่าชายเลน
ป่าชายเลนในรัฐซาบาห์และซาราวักคิดเป็น ๘๓.๕% ของพื้นที่ป่าชายเลนทั้งหมด รัฐซาบาห์แห่งเดียวมีป่าชายเลน ๕๗% ของทั้งหมดใน มซ. ในปี ๑๙๙๐ คาดว่า มีป่าชายเลนประมาณ ๖.๕ แสนเฮกตาร์ แต่ระหว่างปี ๑๙๗๐-๑๙๙๐ ประมาณ ๒๐% ของป่าชายเลน (๑.๓ แสนเฮกเตอร์) ได้ถูกแปรสภาพไป ในปี ๑๙๙๔ พื้นที่ป่าสงวนภายใต้สภาพป่าชายเลนเหลือเพียง ๔.๔๑ แสนเฮกเตอร์ จะเห็นว่า ป่าชายเลนประมาณ ๑ ใน ๓ ถูกยกเลิกไปในช่วง ๒๕ ปีหรือประมาณ ๘ พันเฮกเตอร์/ปี พื้นที่ป่าชายเลนส่วนใหญ่ถูกเปลี่ยนไปใช้ในภาค กษ. และอื่นๆ แทน
ป่าชายเลนมีไม้โกงกาง ๒ ชนิด ได้แก่ ไม้โกงกางแดง (Red Mangrove) มีลักษณะเป็นต้นสูง เนื้อไม้สีแดง (สูงได้ถึง ๓๕ ม.) ใช้ทำถ่าน อีกชนิดเป็นไม้โกงกางใบเล็ก มีลักษณะเป็นพุ่ม ใบเล็ก เป็นที่อยู่ของสัตว์น้ำขนาดเล็ก เป็น "คลังอาหาร” ชั้นดีที่ทำให้ทะเลของ มซ. มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยสัตว์น้ำ (นกอพยพตามฤดูกาล รูป ๗)
ป่าชายเลนมีประโยชน์ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ช่วยลดโลกร้อน ถือเป็นขุมทรัพย์ “ฟ้าประทาน” ในทะเล ดังนั้น หากจะให้ท้องทะเลมีสัตว์น้ำ ก็จำเป็นต้องปลูกป่าชายเลน ซึ่งถือเป็น “วัฎจักร” ของระบบนิเวศทางทะเล

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ