เรื่องเล่าด่านรันตู ประจำวันที่ 05 มีนาคม 2564

เรื่องเล่าด่านรันตู ประจำวันที่ 05 มีนาคม 2564

วันที่นำเข้าข้อมูล 10 มี.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 237 view

เช้านี้ มีผู้ลงทะเบียนกลับไทยวันที่ ๕ มี.ค. ๖๔ จำนวน ๒๑ คน
วันที่ ๔ มี.ค. มียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ ๒,๐๖๓ คน โดยอยู่ในรัฐกลันตัน ๔๔ คน รัฐตรังกานู ๑๐ คน มีผู้ติดเชื้อสะสม ๓๐๗,๙๔๓ คน และผู้เสียชีวิตสะสม ๑,๑๕๓ คน (เพิ่มขึ้น ๕ คน) (สถิติข้อมูลการระบาดโควิด รูป ๑)
การพัฒนา ศก. ดิจิทัล นับวันยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นในยุคหลังโควิด ธุรกิจจะต้องพร้อมรับเทคโนโลยีดิจิทัล หรือเสี่ยงที่จะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
เรื่องเล่าด่านรันตูวันนี้ ขอเสนอเรื่อง “การผลักดันดิจิทัล” ตามรายงานของ นสพ. The Star ฉบับวันที่ ๕ มี.ค. ๒๐๒๑ พาดหัวข่าว “Digital Push”
ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของเทคโนโลยีดิจิทัลในการพัฒนา ศก. หลังโควิด รบ. มซ. จึงได้เผยแพร่แบบพิมพ์เขียวของ ศก. ดิจิทัล มซ. (Malaysia Digital Economy Blueprint หรือ MyDigital) เมื่อเร็วๆ นี้ (นรม. มซ. แถลง MyDigital รูป ๒)
มซ. ได้เริ่มนโยบายการพัฒนาดิจิทัลระดับชาติตั้งแต่ปี ๑๙๙๖ เมื่อมีการจัดตั้งโครงการ Multimedia Super Corridor (MSC) และแก้ไขจุดอ่อนต่างๆ แต่การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ทำให้จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบดิจิทัล ไม่เพียงเพื่อให้ ศก. ฟื้นตัวหลังการแพร่ระบาดเท่านั้น แต่ยังต้องปกป้องประเทศชาติจากวิกฤตอื่นๆ อีกด้วย (MyDigital initiatives and targets รูป ๓)
รมต. สนร. (ศก.) มซ. นายมุสตาปา โมฮัมเหม็ด (Mustapa Mohd) กล่าวว่า การระบาดใหญ่ของโควิด ทำให้รบ. เห็นความจำเป็นที่จะต้องเร่งแก้จุดอ่อนและช่องว่างในโครงสร้าง ศก.
“Covid-19 ส่งผลกระทบต่อกลุ่มผู้มีรายได้น้อย (B40) มากกว่ากลุ่มผู้มีรายได้สูง (T20) และกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลาง (M40) โดยเฉพาะผลกระทบจากมาตรการ MCO ที่มีต่อธุรกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก และขนาดย่อม (MSMEs) ความจริงก็คือเจ้าของธุรกิจแบบดั้งเดิม ที่ส่วนใหญ่ต้องปิดตัวลงเพราะไม่สามารถสร้างรายได้มาหลายเดือน แต่ยังต้องจ่ายค่าจ้างคนงานและค่าเช่า พวกเขาส่วนใหญ่มีความรู้ด้านดิจิทัลต่ำและไม่ใช่เรื่องง่ายที่พวกเขาจะก้าวเข้าสู่ ศก. ดิจิทัลได้อย่างรวดเร็ว” เขากล่าวในแอพ MyDigital เรื่องประเด็นถามตอบ ๑๐ ข้อ
Mustapa กล่าวเพิ่มเติมว่า ไม่มีทางเลือกอื่นใด นอกจากการยอมรับและนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ โดยมีแผนปฏิบัติการ (agenda) ในการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชาชน เพื่อเพิ่มผลผลิตทางธุรกิจและกระตุ้นการเติบโตทาง ศก. ของปท. และเสริมว่า มซ. เป็นหนึ่งใน ปท. ที่มีการใช้อินเทอร์เน็ตสูงสุด ซึ่งสูงกว่าไทยและ สป. มาก (รมต. Mustapa รูป ๔)
“ในช่วงที่มีการแพร่ระบาด พบว่าการใช้ข้อมูลอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นประมาณ ๓๐% รบ. จึงเห็นความสำคัญเรื่องนี้ในการเสริมสร้างศักยภาพให้กับธุรกิจชุมชน คาดว่าภาคธุรกิจจะเติบโตอย่างรวดเร็วตามการแข่งขันระดับโลกและจะเปิดโอกาสให้ธุรกิจของ มซ. เจาะตลาดโลก เพื่อให้สามารถแข่งขันได้มากขึ้นผ่านระบบดิจิทัล”
จากมุมมองมหภาค คาดว่า ศก. ดิจิทัล จะสร้างรายได้คิดเป็น ๒๒.๖% ให้กับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ภายในปี ๒๐๒๕ นอกจากนี้ MyDigital ยังมีเป้าหมายในการสร้างงาน ๕๐๐,๐๐๐ ตำแหน่งในระบบ ศก. ดิจิทัล และทำให้มั่นใจได้ว่า ธุรกิจ MSMEs จำนวน ๘๗๕,๐๐๐ รายจะยอมรับและใช้งานอีคอมเมิร์ซ
สำหรับประชาชน เป้าหมายคือการทำให้ทุกครัวเรือนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ในอัตรา ๑๐๐% และเพื่อให้ นร. ทุกคนสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ออนไลน์ได้
Mustapa ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของแบบพิมพ์เขียวในการเชื่อมช่องว่างทางดิจิทัล (digital divide) ระหว่างชาว มซ. ในเมืองกับในชนบท และระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ (การเรียนออนไลน์ รูป ๕)
“การระบาดใหญ่ของ Covid-19 ทำให้เราตระหนักว่า ต้องเร่งนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อปกป้องประชาชนจากความเสี่ยงของ ศก. ดิจิทัล เราคาดว่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในภูมิทัศน์ทาง ศก. ดิจิทัลไปสู่การเรียนรู้ดิจิทัล (digital literacy) ที่ดีขึ้น การสร้างงานที่มีรายได้สูง การจัดการด้านการเงินและการธนาคารที่ง่ายและมีระเบียบมากขึ้น การเข้าถึงการศึกษาที่ดี และการอำนวยความสะดวกด้าน สธ. ไปยังพื้นที่ชนบท”
ตัวอย่างเช่น ไม่มีความจำเป็นต้องเช่าร้านค้าเพื่อดำเนินธุรกิจอีกต่อไป และสามารถทำธุรกิจได้ทางออนไลน์ โดยผ่าน Facebook, Instagram หรือ WhatsApp
แม้ว่าการพัฒนาดิจิทัล (digitalization) จะไม่ใช่สิ่งใหม่สำหรับ มซ. แต่ Mustapa ตั้งข้อสังเกตว่า จำเป็นต้องเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ในลักษณะเชิงรุกและบูรณาการมากขึ้น
ตามแบบพิมพ์เขียว ศก. ดิจิทัลของ มซ. มี ๓ ช่วง คือ ระยะแรก ปี ๒๐๒๑–๒๐๒๒ เร่งการนำดิจิทัลไปใช้เพื่อเสริมสร้างรากฐานดิจิทัล ระยะที่ ๒ ปี ๒๐๒๓-๒๐๒๕ เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงและการรวมระบบดิจิทัล ระยะสุดท้าย ปี ๒๐๒๖-๒๐๓๐ เป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ดิจิทัลและผู้ให้บริการดิจิทัลสำหรับตลาดในภูมิภาค
“ระยะแรกให้ความสำคัญแบบองค์รวม (holistic) เกี่ยวกับข้อมูลและความรู้ด้านดิจิทัล ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญในการเสริมสร้าง (lifeblood of empowering) ศก. ดิจิทัลให้เข้มแข็ง
ระยะที่ ๒ รบ. จะดำเนินยุทธศาสตร์การสร้างดิจิทัลที่ครอบคลุม (inclusive digitalization) โดยที่รัฐบาลจะพยายามมุ่งเน้นไปที่การมีส่วนร่วม เพื่อจะสร้างระบบดิจิทัลในระดับที่ใหญ่ขึ้น
นอกจากนี้ ยังจะได้เห็นภาคเอกชนที่เพิ่มขีดความสามารถพนักงานด้วยการพัฒนาบุคลากร เพื่อสนับสนุนการสร้างสรรค์นวัตกรรมในธุรกิจ เช่น ภาค ศก. ที่ไม่มีการจ้างงานถาวร (gig economy)
ขณะที่ระยะที่ ๓ จะแสดงเส้นทางสู่การเติบโตที่แข็งแกร่งและยั่งยืนในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า” Mustapa กล่าว
รบ. ยังหวังว่า การริเริ่มภายใต้ MyDigital จะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิด start-up ๕,๐๐๐ รายใน ๕ ปีข้างหน้าและดึงดูด บ. ยูนิคอร์น (unicorn) ให้เข้ามาดำเนินการใน มซ. เนื่องจากผลกระทบที่เกิดจากการไหลบ่า (spillover effect) ของการลงทุนทาง ศก. อย่างมาก ยูนิคอร์นเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพที่เป็นของเอกชน ซึ่งมีมูลค่ามากกว่า ๑ พันล้านเหรียญสหรัฐ (๔.๐๖ พันล้านริงกิต) (กลุ่มสตาร์ทอัพ รูป ๖)
Mustapa กล่าวว่า เมื่อยูนิคอร์นดำเนินงานได้ดี จะมีส่วนช่วยกระแสเงินสดของ ปท. และจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นในการดึงดูดการลงทุนใหม่ทั้งจากภายในและต่างประเทศจำนวน ๗๐ พันล้านริงกิต เข้าสู่ธุรกิจดิจิทัล
“ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุหรือเด็ก เป็นคนในเมืองหรือชนบท หรือระดับการศึกษา หรืออาชีพของคุณจะเป็นอย่างไร แบบพิมพ์เขียว ศก. ดิจิทัลนี้มีไว้สำหรับประชาชน มซ. ทุกคน จึงขอให้ชาว มซ. คว้าโอกาสที่มีอยู่และใช้ประโยชน์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งจะสามารถปรับปรุงมาตรฐานการครองชีพของชาว มซ. ทุกคนได้ (Multimedia Super Corridor รูป ๗)
นี่คือ แบบพิมพ์เขียวของ ศก. ดิจิทัล มซ. (Malaysia Digital Economy Blueprint หรือ MyDigital) ที่ รบ. มซ. คาดว่า จะพลิกโฉม ศก. มซ. โดยมีเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นหัวใจและพลังขับเคลื่อน ศก. ยุคหลังโควิด

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ