เรื่องเล่าด่านรันตู ประจำวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564

เรื่องเล่าด่านรันตู ประจำวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564

วันที่นำเข้าข้อมูล 23 ก.พ. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 21 พ.ย. 2565

| 212 view

เช้านี้ มีผู้ลงทะเบียนกลับไทยวันที่ ๑๙ ก.พ. ๖๔ จำนวน ๑๗ คน
วันที่ ๑๘ ก.พ. มียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ ๒,๗๑๒ คน โดยอยู่ในรัฐกลันตัน ๔๓ คน รัฐตรังกานู ๑๙ คน มีผู้ติดเชื้อสะสม ๒๗๔,๘๗๕ คน และผู้เสียชีวิตสะสม ๑,๐๓๐ คน (เพิ่มขึ้น ๒๕ คน) (สถิติข้อมูลการระบาดโควิด รูป ๑)
เรื่องเล่าด่านรันตูวันนี้ ขอเสนอเรื่อง โลกเหลื่อมล้ำในการเข้าถึง 'วัคซีนโควิด' ตามรายงานข่าวของ นสพ. กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ ๑๘ ก.พ. ๖๔ (รายงานข่าว รูป ๒)
การเข้าถึง "วัคซีนโควิด" ที่เป็นความหวังครั้งสำคัญของทั่วโลกในการต่อสู้กับวิกฤติโควิด-๑๙ กลับสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำขึ้น เพราะไม่ใช่ทุกประเทศและทุกคนทั่วโลกที่จะสามารถเข้าถึงได้ในห้วงเวลาเร็วๆ นี้ (Covid-19 Vaccines รูป ๓)
ในยามนี้วัคซีนโควิด-๑๙ เป็นความหวังของคนทั่วโลก แต่ไม่ใช่ทุกประเทศและทุกคนทั่วโลกจะสามารถเข้าถึงวัคซีนได้ในเร็ววัน บางประเทศเริ่มเข้าถึงวัคซีนได้แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่ร่ำรวยสามารถสั่งซื้อวัคซีนได้มากถึงหลายล้านโดส นำไปแจกหรือจำหน่ายให้แก่ประชากรประเทศตนเอง ขณะที่ประเทศที่มีสถานะยากจนกว่ากลับมีวัคซีนแจกจ่ายเพียงเล็กน้อยมากเท่านั้น (การวิจัยวัคซีนโควิด รูป ๔)
ประเทศที่ร่ำรวยได้สั่งจองวัคซีนและคาดว่าจะสามารถฉีดวัคซีนให้กับประชากรได้อย่างทั่วถึงภายในปีนี้ คาดว่าน่าจะไล่เรียงกันไปตามลำดับความรวยความจนของแต่ละประเทศ โดย The Economist Intelligence Unit คาดการณ์ระยะเวลาที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกจะสามารถดำเนินการฉีดวัคซีนโควิด-๑๙ ให้กับประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ จนสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ โดยแบ่งเป็น ๔ กลุ่มคือ
กลุ่มที่ ๑ ประเทศที่จะฉีดวัคซีนทั่วถึงภายในปลายปี ๖๔ เช่น สหรัฐ ประเทศในยุโรป
กลุ่มที่ ๒ ประเทศที่จะฉีดวัคซีนทั่วถึงภายในกลางปี ๖๕ เช่น รัสเซีย ออสเตรเลีย
กลุ่มที่ ๓ ประเทศที่จะฉีดวัคซีนทั่วถึงภายในปลายปี ๖๕ เช่น จีน อินเดีย ไทย
กลุ่มที่ ๔ ประเทศที่จะฉีดวัคซีนทั่วถึงหลังจากปี ๖๖ เช่น อินโดนีเซีย เมียนมา ประเทศต่างๆ ในแอฟริกา
ส่วนประเทศยากจน มีเพียงทางเลือกเดียวคือการรอรับวัคซีนจากโครงการโคแวกซ์ (COVAX) นั่นหมายความว่าประเทศน่าจะได้ฉีดวัคซีนได้อย่างทั่วถึงช้าสุดคือหลังจากปี ๖๖ ไปแล้ว แต่อาจประสบปัญหาได้รับวัคซีนล่าช้า
นอกจากนี้ยังอาจเกิดการผลิตและจัดส่งวัคซีนโควิด-๑๙ ให้กับประเทศร่ำรวยช้ากว่ากำหนดได้อีกด้วย ความเหลื่อมล้ำในการแจกจ่ายวัคซีนโควิด-๑๙ จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อวิถีชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศยากจน (การฉีดวัคซีนโควิด รูป ๕)
โควิด-๑๙ เปรียบเสมือนอุบัติภัยของโลก การเข้าถึงวัคซีนที่ช่วยชีวิตไม่ควรขึ้นอยู่กับว่าเกิดมาในประเทศรวยเท่านั้น การพัฒนาและอนุมัติวัคซีนที่ปลอดภัยได้ผลเป็นเรื่องสำคัญ แต่ที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือการสร้างหลักประกันว่า วัคซีนนั้นพร้อมให้ทุกคนเข้าถึงได้ เรื่องนี้จึงเป็นประเด็นร้อนที่ทำให้ช่วงที่ผ่านมาหลายองค์กรออกมาเรียกร้องให้มี “วัคซีนของประชาชน” แจกฟรีอย่างเป็นธรรม พิจารณาตามความจำเป็น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อบริษัทยายินยอมให้เข้าถึงองค์ความรู้โดยไม่คิดค่าลิขสิทธิ์ เพื่อผลิตวัคซีนให้ได้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ แทนที่จะปกป้องการผูกขาดแล้วขายให้คนที่มีเงินจ่ายให้ในราคาสูงสุดเท่านั้น
แม้ว่าวัคซีนจะเป็นความหวังของคนทั้งโลกในการเผชิญหน้ากับโควิด แต่ใครบ้างจะได้วัคซีนบ้าง ใครคือผู้ที่จะสามารถเข้าถึงวัคซีนได้ก่อน นี่เองทำให้เราเห็นช่องว่างระหว่างประเทศที่รวยกับประเทศที่จน ใครว่าเราก็คนเหมือนๆ กัน แต่นี่ชีวิตของคนที่เกิดในประเทศรวยและประเทศจนก็ยังต่างกันได้ขนาดนี้
สำหรับประเทศไทยเราเอง เราอาจไม่ได้จัดอยู่ในประเทศยากจน เรายังพอจัดหาวัคซีนมาได้ แต่ถ้าหากพูดถึงเรื่องปัญหาความเหลื่อมล้ำ เรื่องนี้ก็นับเป็นปัญหาสำคัญและเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ท้าทาย เป็นโจทย์ใหญ่ของประเทศ มีทั้งความเหลื่อมล้ำทั้งในเชิงตัวเงินและความเหลื่อมล้ำในเชิงโอกาส
ช่วงที่ผ่านมาเราเห็นว่าโควิด-๑๙ ก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ชัดเจน และก่อให้เกิดผลกระทบต่อเนื่องในทางสังคมอีกไม่น้อย เราเห็นจุดเปราะบางและความเหลื่อมล้ำที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่นมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม การล็อกดาวน์ทำให้โรงเรียนต้องปรับการเรียนการสอนไปเป็นการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ทำให้เห็นเด็กนักเรียนจำนวนไม่น้อยที่มีฐานะยากจน ครอบครัวไม่พร้อม ไม่มีอุปกรณ์ สถานที่เพียงพอกับการเข้าถึงการเรียนรู้แบบออนไลน์
แม้กระทั่งการหยุดไม่ได้ไปโรงเรียนนั้นทำให้เด็กบางคนไม่มีอาหารกลางวันที่มีคุณภาพ แล้วถ้าเรากำลังพูดถึงวัคซีนซึ่งเป็นของที่ยังไม่สามารถหาได้เพียงพอกับทุกคนในประเทศ ความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงวัคซีนก็คงไม่ยากเกินไปกว่าที่เราจะจินตนาการได้
ในวันนี้โลกเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงวัคซีน วัคซีนความหวังของการสู้กับโรคร้าย กลับชี้ให้เห็นถึงโรคความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงและดื้อยามาอย่างยาวนาน คำถามต่อไปก็คือแล้วโรคเหลื่อมล้ำจะรักษาได้ไหม
แม้ว่าในโลกนี้คงไม่มีอะไรเท่าเทียมกันแบบหารเท่า เพราะย่อมมีความแตกต่างกันบ้างในเชิงระบบต่างๆ ตามธรรมชาติ แต่นอกเหนือจากความแตกต่างโดยธรรมชาติแล้ว ก็ขออย่าให้เกิดการสร้างความเหลื่อมล้ำโดยจงใจ หรือการสร้างความเหลื่อมล้ำให้มากขึ้นจากนโยบายหรือมาตรการต่างๆ ที่จะไปขยายช่องว่างให้กว้างใหญ่ออกไปอีกเลย ในทางตรงกันข้าม นโยบายของประเทศไทยในอนาคตควรจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำลง
สำหรับประเทศไทยของเรา ก็ขออย่าให้โควิด-๑๙ เป็นโรคที่มาตอกย้ำภาพของความเหลื่อมล้ำ ฉายภาพโอกาสที่ไม่เท่ากันของผู้คนเพียงเพราะเลือกเกิดไม่ได้เลย อยากให้ โควิด-๑๙ เป็นโรคที่เกิดขึ้นฉับพลัน แต่มากระตุกต่อมการเปลี่ยนแปลงของคนไทย ช่วยกันค้นหาต้นตอรากของปัญหาความเหลื่อมล้ำ และลุกขึ้นมารักษาให้ถูกจุด อย่าให้โควิด-๑๙ ลาจากไป แต่ทิ้งโรคความเหลื่อมล้ำที่ฝังรากลึกกว่าเดิมไว้อีกเลย
วันนี้ เป็นรายงานเรื่อง ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึง 'วัคซีนโควิด' ของทั่วโลก ซึ่งสะท้อนให้เห็นความเปราะบางของสังคมโลกปัจจุบัน ซึ่งสังคมไทยต้องเร่งแก้ไขปัญหาที่ “รากเหง้า” เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยให้ได้รับสวัสดิการสังคมในฐานะที่เป็นพลเมืองไทยอย่างเท่าเทียมกัน

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ