วันที่นำเข้าข้อมูล 23 ก.พ. 2564
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
เช้านี้ มีผู้ลงทะเบียนกลับไทยวันที่ ๒๒ ก.พ. ๖๔ จำนวน ๒๒ คน
วันที่ ๒๑ ก.พ. มียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ ๓,๒๙๗ คน โดยอยู่ในรัฐกลันตัน ๓๐ คน รัฐตรังกานู ๑๒ คน มีผู้ติดเชื้อสะสม ๒๘๓,๕๖๙ คนและผู้เสียชีวิตสะสม ๑,๐๕๖ คน (เพิ่มขึ้น ๕ คน) (สถิติข้อมูลการระบาดโควิด รูป ๑)
เช้าฟ้าแจ่มวานนี้ (๒๑ ก.พ.) วัคซีนโควิด-๑๙ ล็อตแรกของ บ. Pfizer ได้จัดส่งถึง มซ. แล้ว รบ. มซ. ได้ประกาศว่า โครงการฉีดวัคซีนจะเริ่มเร็วขึ้น ๒ วันก่อนกำหนดเดิม (จากเดิม ๒๖ ก.พ. เป็น ๒๔ ก.พ.) โดยการฉีดวัคซีนเข็มที่ ๒ จะห่างจากเข็มแรก ๒๑ วัน (วัคซีนถึงมาเลเซีย รูป ๒)
รมว. วท. มซ. ได้แถลงว่าโครงการฉีดวัคซีนยังคงเป็นไปตามความสมัครใจของ ปชช. อย่างไรก็ดี รบ. มซ. จะพิจารณาจากข้อมูลอีกครั้ง เพื่อตัดสินใจว่า ควรจะมีมาตรการบังคับให้ ปชช. ฉีดวัคซีนหรือไม่ (รมต. ที่ร่วมต้อนรับ รูป ๓)
ในยุคดิจิทัล เทคโนโลยี IT จะมีความสำคัญยิ่งยวดในการพลิกฟื้น ศก. ให้เข้มแข็ง ในยุค New Normal ที่เน้น “ไร้การสัมผ้ส” โดยเทคโนโลยี 5G จะเป็นตัว “เปลี่ยนเกม” ที่สำคัญให้กับการพัฒนา ศก. ในยุคหลังโควิด ดังนั้นใครปรับตัวได้ก่อน ก็ย่อมมีความได้เปรียบ ในการนำพา ปท. ให้รอดพ้น “ภัยโควิด” (นรม. มซ. รูป ๔)
เรื่องเล่าด่านรันตูวันนี้ ขอเสนอเรื่อง “มซ. จะมี 5G ภายในสิ้นปี ๒๐๒๑” ตามรายงานข่าวของ นสพ. The Star ฉบับวันที่ ๒๐ ก.พ. ๒๐๒๑ เรื่อง “มซ. จะเปิดตัว 5G ภายในสิ้นปีนี้ โดยเทคโนโลยี 5G นี้จะทำหน้าที่เป็น ‘ตัวเปลี่ยนเกม’ สำหรับอุปกรณ์อัจฉริยะ”
นรม. มูห์ยิดดิน แถลงว่า มซ. จะเปิดตัวคลื่นความถี่โทรคมนาคม 5G ตามขั้นตอน ภายในสิ้นในปีนี้ ซึ่งจะเป็น ปท. แรกในภูมิภาคนี้ที่จะสร้างระบบนิเวศ 5G (ecosystem) ที่ใช้อินเทอร์เน็ตและบริการคลาวด์ (cloud services) แบบเรียลไทม์ เพื่อให้สามารถแชร์ข้อมูลได้ทันที เทคโนโลยี 5G จะทำหน้าที่เป็นตัวเปลี่ยนเกม (game changer) เนื่องจากจะมีบริการอัจฉริยะ (smart services) ที่พร้อมใช้งานเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน (หุ่น ยนต์อัจฉริยะ รูป ๕)
ในสุนทรพจน์งานเปิด MyDigital & the Malaysia Digital Economy Blueprint เมื่อ ๑๙ ก.พ. นรม. กล่าวว่า
“เทคโนโลยี 5G นี้ไม่เพียงแต่ทำให้สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ดีขึ้นและเร็วขึ้นเท่านั้น แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นยังช่วยให้ผู้ใช้ปลายทางสามารถใช้แอปพลิเคชันสำคัญต่างๆ รวมถึงแอปพลิเคชันตรวจดูแลสุขภาพสำหรับผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ความช่วยเหลือฉุกเฉินอัจฉริยะ และแอปพลิเคชันพิเศษสำหรับผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่คนเดียว”
นรม. กล่าวว่า รบ. จะลงทุนทั้งหมด ๑๕ พันล้านริงกิตในช่วงระยะเวลา ๑๐ ปี เพื่อนำ 5G ไปใช้ทั่วประเทศ ซึ่งจะสร้างโอกาสการจ้างงานประมาณ ๑๐๕,๐๐๐ ตำแหน่ง โดย รบ.มซ. จะดำเนินเป็นโครงการพิเศษ อีกทั้งหน่วยงานนี้จะได้รับคลื่นความถี่ที่เหมาะสม ทั้งในการดำเนินการและบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐาน 5G ด้วย
นรม. มซ. ยังกล่าวอีกว่า บ. โทรคมนาคมที่ได้รับใบอนุญาตทั้งหมดจะสามารถเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ได้อย่างเท่าเทียมกัน เพื่อที่จะทำการตลาด ‘บริการ 5G’ ให้กับลูกค้าของตน (เกมแข่งรถเสมือนจริง รูป ๖)
“โครงสร้างพื้นฐานที่มีการแชร์ต้นทุนค่าใช้จ่ายนี้ จะช่วยให้ บ. โทรคมนาคมมีรายได้มากขึ้น และสามารถให้บริการ 5G ที่ดีกว่าและถูกกว่าแก่ผู้บริโภคได้”
เทคโนโลยี 5G จะช่วยยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถทาง ศก. ของ มซ. ในการกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์และบริการมากขึ้น โดย บ. ผู้ให้บริการระบบคลาวด์ (Cloud Service Provider : CSP) จะลงทุนระหว่าง ๑๒-๑๕ พันล้านริงกิต ในระยะเวลา ๕ ปีข้างหน้า (ยานไร้คนขับ รูป ๗)
จนถึงขณะนี้ รบ. มซ. ได้ให้การอนุมัติแบบมีเงื่อนไข แก่ บ. ผู้ให้บริการระบบคลาวด์ (CSP) ๔ แห่ง ได้แก่ Microsoft, Google, Amazon และ Telekom Malaysia เพื่อจะสร้างและจัดการศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ (hyper-scale data) และบริการระบบคลาวด์
“ศูนย์ hyper-scale data นี้ รวมถึงบริการคลาวด์แบบไฮบริด จะถูกสร้างขึ้นเพื่อเพิ่มพื้นที่จัดเก็บข้อมูล ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในการดำเนินงานและปรับปรุงประสิทธิภาพในการวิเคราะห์”
นอกจากนี้ รบ. มซ. ยังเสนอให้ตั้ง บ. ICT (Information and Communication Technology หรือ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร) ระดับท้องถิ่นอีก ๓ แห่ง เป็นผู้บริหารจัดการผู้ให้บริการ (Manage Service Providers : MSP) เพื่อทำงานร่วมกับ CSP ในการบริหารการให้บริการกับหน่วยงานภาครัฐด้วย
“สิ่งนี้สอดคล้องกับความตั้งใจของเราในการเสริมสร้างขีดความสามารถของ บ. ICT ในท้องถิ่น ๓ ราย ได้แก่ Enfrasys Solution Sdn Bhd, Prestariang Systems Sdn. Bhd และ Cloud Connect Sdn. Bhd.”
นรม. มซ. กล่าวว่า รบ. ได้กำหนดเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ Cloud First ในการย้ายข้อมูลสาธารณะ ๘๐% ไปยังระบบคลาวด์แบบไฮบริดภายในสิ้นปี ๒๐๒๒ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนของ รบ. ในการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศในระยะยาว
รบ. จะลงทุนทั้งหมด ๒๑ พันล้านริงกิต ในระยะเวลา ๕ ปี ในโครงการสร้างเครือข่ายดิจิทัลแห่งชาติ (National Digital Network : Jendela) เพื่อเสริมสร้างการเชื่อมต่อที่มีอยู่แล้ว เข้ากับเครือข่ายใยแก้วนำแสงที่ได้ติดตั้งแล้วให้ครอบคลุมพื้นที่ที่มีประชากรเกือบ ๑๐๐% ในระยะต่างๆ จาก ๗.๕ ล้านครัวเรือนภายในสิ้นปี ๒๐๒๒ เป็น ๙ ล้านครัวเรือนภายในสิ้นปี ๒๐๒๕
เขากล่าวว่า บ. โทรคมนาคมหลายแห่งจะลงทุนทั้งหมด ๑.๖๕ พันล้านริงกิต เพื่อเสริมสร้างการเชื่อมต่อกับเครือข่ายเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศจนถึงปี ๒๐๒๓
“สิ่งนี้จะเปิดพื้นที่มากขึ้นสำหรับการถ่ายโอนข้อมูลระหว่างประเทศที่รวดเร็วและเสถียรมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนค่าอินเทอร์เน็ตให้กับผู้บริโภคใน มซ.”
วันนี้เป็นเรื่องราวของโครงการที่จะเริ่มเทคโนโลยี 5G ในปลายปีนี้ของ มซ. พร้อมแผนการพัฒนาเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม การลงทุนของ บ. ให้บริการระบบคลาวด์ (CSP) เพื่อสร้างและจัดการ Big Data และบริการระบบคลาวด์ ซึ่งจะเป็นตัว “ชี้เป็นชี้ตาย” ให้กับการพัฒนา ศก. ในยุคดิจิทัลหลังโควิด
รูปภาพประกอบ