เรื่องเล่าด่านรันตู ประจำวันที่ 30 มกราคม 2564

เรื่องเล่าด่านรันตู ประจำวันที่ 30 มกราคม 2564

วันที่นำเข้าข้อมูล 1 ก.พ. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 243 view

เช้านี้ ไม่มีผู้ลงทะเบียนกลับไทยวันที่ ๓๐ ม.ค. ๖๔
วันที่ ๒๙ ม.ค. มียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ ๕,๗๒๕ คน ทำสถิตินิวไฮครั้งใหม่ โดยอยู่ในรัฐกลันตัน ๙๓ คน รัฐตรังกานู ๑๓๗ คน มีผู้ติดเชื้อสะสม ๒๐๓,๙๓๓ คน และผู้เสียชีวิตสะสม ๗๓๓ คน (เพิ่มขึ้น ๑๖ คน) (สถิติข้อมูลการระบาดโควิด รูป ๑)
มีรายงานข่าวว่า ไวรัสกลายพันธุ์สาย B117 ที่พบในสหราชอาณาจักร ถูกพบแล้วใน ๗๐ ปท. ทั่วโลก ขณะที่มีผู้ติดเชื้อโควิดใน มซ. เพิ่มเป็น ๔ หลักติดต่อกันหลายวัน จึงมีข้อสงสัยว่า อะไรทำให้โควิดระบาดรวดเร็วได้เช่นนี้
หากยังพักผ่อนสบายๆ ในวันหยุดสุดสัปดาห์เช่นนี้ คอลัมน์เล็กๆ วันนี้ นอกจากจะไขข้อกังขาข้างต้นแล้ว ยังอาจทำให้ท่านผู้อ่าน “สะดุ้งผวา” ก็ได้
เรื่องเล่าด่านรันตูวันนี้ ขอเสนอเรื่อง “เจาะสถานการณ์โควิดที่รุนแรงใน มซ.” ตามรายงานข่าวของ นสพ. The Star ฉบับวันที่ ๓๐ ม.ค. ๖๔ และ นสพ. Berita Harian ฉบับวันที่ ๒๙ ม.ค. ๖๔
Prof. Dr. Lam Sai Kit, Academy of Sciences Malaysia และที่ปรึกษาด้านการวิจัยของ University of Malaya (UM) ซึ่งเป็น หน. คณะแพทย์ที่ค้นพบเชื้อไวรัส Nipah ได้ตั้งข้อสังเกตว่า การที่จำนวนผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วยโรคโควิด-๑๙ ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นตัวเลข ๔ หลักภายในระยะเวลา ๒ สัปดาห์ อาจจะมีสาเหตุมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดกลายพันธุ์จากสหราชอาณาจักร (United Kingdom) หรือเชื้อโควิดที่ระบาดใน มซ. ขณะนี้ อาจเป็นไวรัสกลายพันธุ์ก็ได้ จึงแสดงความวิตกว่า สธ.มซ. ยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับกับการจัดการข้อมูลจีโนม (Genome sequencing) เท่าที่ควร (Prof. Dr. Lam Sai Kit รูป ๒)
ความจริงมีการตรวจพบเชื้อโควิดกลายพันธุ์ใน มซ. จากผู้เดินทางกลับจากต่างประเทศรายหนึ่งที่มีประวัติการเดินทางไปยังสหราชอาณาจักรเมื่อวันที่ ๑๑ ม.ค.๖๔ ด้วย อย่างไรก็ตาม อธ. สธ. Dr. Noor Hisham ได้ชี้แจงว่า ไม่มีการระบาดที่เชื่อมโยงกับเชื้อโควิดกลายพันธุ์ดังกล่าว เนื่องจากผู้ป่วยถูกแยกกักตัวแล้ว (isolated)
Prof. Dr. Lam Sai Kit ได้แสดงความวิตกว่า เชื้อสายพันธุ์ใหม่ที่ชื่อว่า B1117 สามารถแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วถึง ๗๐% เมื่อเทียบกับสายพันธุ์ธรรมดา ขณะนี้ มซ. กำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง เมื่อมีงานศึกษาวิจัยเบื้องต้นที่เปิดเผยโดยนักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษในสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า เชื้อสายพันธุ์ใหม่ UK ดังกล่าวมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูงมากกว่า ๓๐% เมื่อเทียบกับเชื้อสายพันธุ์ธรรมดา (Prof. Dr. Lam Sai Kit รูป ๒)
"ผมกังวลว่า การเก็บตัวอย่างของเชื้อโควิด-๑๙ ใน มซ. ยังน้อย ในที่สุดอาจจะส่งผลต่อจำนวนผู้ติดเชื้อบวกที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งที่จริงแล้วอาจมีสาเหตุมาจากการกลายพันธุ์ แต่ถูกมองข้ามไป แน่นอนว่า จะมีจำนวนผู้ติดเชื้อในชุมชนมากขึ้น สืบเนื่องมาจากอัตราผู้ติดเชื้อบวกรายวันที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้อาจเกิดจากเชื้อสายพันธุ์ UK หรือสายพันธุ์อื่นที่มีอัตราการแพร่ระบาดที่รวดเร็วกว่า
นอกจากเชื้อสายพันธุ์ UK แล้ว ขณะนี้โลกยังวิตกกังวลกับสายพันธุ์อื่นอีก ๒ สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ B1351 จากแอฟริกาใต้ และสายพันธุ์ P.1 จากบราซิล ซึ่งทั้ง ๒ สายพันธุ์ถูกตรวจพบเมื่อช่วงเดือน ต.ค. และ ก.ค. ปีที่แล้ว
ตอนนี้ ความวิตกกังวลจะเน้นไปที่สายพันธุ์ P.1 เนื่องจากมีการกลายพันธุ์ (mutation) ได้มากกว่า ๑๒ สายพันธุ์ ซึ่งหลายตัวพบอยู่ในโปรตีนส่วนที่เป็นเดือยแหลม (spike protein) ของไวรัส
“ด้วยเหตุนี้ จึงสงสัยว่า สายพันธุ์ P.1 จะแพร่เชื้อได้เร็วกว่า โดยการแทรกซึมเข้าไปในระบบภูมิป้องกันของมนุษย์ นอกจากนี้ ยังมีหลักฐานเบื้องต้นว่า การปรับสภาพของแอนติบอดีให้เป็นกลางจากการติดเชื้อครั้งแรกนั้นอาจไม่รู้จักเชื้อกลายพันธุ์ P.1 (บราซิล) ซึ่งอาจนำไปสู่การติดเชื้อซ้ำ และทำให้การฉีดวัคซีนไร้ผลก็ได้ แม้จนถึงขณะนี้ ยังไม่พบว่ามีเชื้อสายพันธุ์จากบราซิลและแอฟริกาใต้แพร่ระบาดเข้ามายัง มซ. ก็ตาม” (การตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด รูป ๓)
Prof. Dr. Lam Sai Kit กล่าวว่า ควรเริ่มดำเนินการเชิงกลยุทธ์ เพื่อเป็นมาตรการเตรียมความพร้อมในการป้องกันความเสี่ยงจากการเพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อ และ สธ. ควรต้องเฝ้าระวังและติดตามการเข้ามาของสายพันธุ์ใหม่ทั้งจากสหราชอาณาจักร แอฟริกาใต้ และบราซิล ที่สามารถแพร่เชื้อได้เร็วขึ้น
นอกจากนี้ สายพันธุ์ใหม่อาจส่งผลกระทบต่อการวินิจฉัย การรักษาและประสิทธิผลของวัคซีน รวมถึงวิธีการแพร่ระบาดของเชื้อด้วย ดังนั้น จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ มซ. จะต้องดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ด้วยการเฝ้าระวัง/การตรวจสอบการเข้ามาของสายพันธุ์ไวรัส และสนับสนุนการให้ข้อมูลไวรัสไปยังฐานข้อมูลลำดับจีโนมทั่วโลก
จีโนม (genome) คือข้อมูลทางพันธุกรรมทั้งหมดที่จำเป็นใช้ในการสร้างและจำเป็นต่อการดำรงชีวิตอย่างปกติของสิ่งมีชีวิตชนิดใดชนิดหนึ่ง อยู่บนดีเอ็นเอ (DNA) ซึ่งในสิ่งมีชีวิตชั้นสูง จีโนม คือ ชุดของ DNA ทั้งหมดที่บรรจุอยู่ในนิวเคลียสของทุกๆ เซลล์นั่นเอง
"จากสถิติปัจจุบัน มซ. ยังคงล้าหลังอยู่ ถ้าเทียบกับ ปท. เพื่อนบ้าน เช่น ไทย ที่มีส่วนสนับสนุนข้อมูล Genome Sequencing ในการจัดทำฐานข้อมูลระหว่างประเทศของโครงการริเริ่มเพื่อส่งเสริมการแบ่งปันข้อมูลไวรัสไข้หวัดใหญ่ทั้งหมด (Global initiative on sharing all influenza data : GISAID) เกือบ ๔,๐๐๐ รายการ เพื่อเป็นข้อมูลอ้างอิงระหว่างประเทศ
ขณะที่ มซ. มีส่วนสนับสนุนข้อมูลจีโนมเพียง ๓๐๐ รายการ หาก สธ. มซ. ไม่สามารถแบกรับภาระหน้าที่นี้ได้ นักวิชาการและห้องปฏิบัติการเอกชนสามารถยื่นมือเข้ามาให้ความช่วยเหลือได้”
ระหว่างที่รอข้อมูลเพิ่มเติมและความพยายามที่เกี่ยวข้อง Prof. Dr. Lam Sai Kit ได้เสนอแนะให้ มซ. ยังคงใช้มาตรการควบคุมการสัญจร ในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-๑๙ อย่างรุนแรง นอกเหนือจากจะเพิ่มความเข้มงวดในการดูแลความมั่นคงตามพื้นที่ชายแดน
ในตอนท้าย Prof. Dr. Lam Sai Kit กล่าวว่า การให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตาม SOP ในชุมชน ถือเป็น 'อาวุธ' ที่ทรงพลังในการยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ ใน มซ. (ห้องวิจัยค้นคว้า รูป ๔)
“การปฏิบัติตาม SOP เช่น การสวมหน้ากากอนามัย การรักษาระยะห่าง และการล้างมือบ่อยครั้ง ยังคงเป็นวิธีการที่ได้ผลดี ถึงแม้ว่าเราจะเผชิญหน้ากับสายพันธุ์ใหม่ที่แพร่ระบาดได้ง่ายก็ตาม (รายงานข่าว รูป ๕)
การฉีดวัคซีนที่จะเริ่มภายในเดือน มี.ค. ที่จะถึงนี้ ยังให้ความหวังใหม่ต่อมาตรการป้องกัน อย่างไรกีดี มซ. ก็ควรจะเตรียมพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ต่างๆ”
นี่คือ รายงานวิเคราะห์เจาะลึกสถานการณ์โควิดใน มซ. ที่ควานหามูลเหตุการระบาดที่นับวันยิ่งรุนแรง โดยผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า อาจเป็นไวรัสกลายพันธุ์ที่ “ทรงอิทธิฤทธิ์” จึงจำต้องเร่งหาวิธีควบคุมที่เข้มงวดยิ่งขึ้น

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ